กรมอนามัยชี้ “เห็ด” มีประโยชน์ แต่ต้องเลือกชนิดที่ไม่มีพิษ

เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีหนุ่ม จ.น่าน กินเห็ดพิษแล้วมีอาการปวดท้อง ถ่ายเหลว อาเจียน ต้องหามส่งโรงพยาบาลและเสียชีวิต ว่าแนะนำประชาชนที่กินเห็ดในช่วงนี้ ขอให้ระมัดระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากในช่วงฤดูฝนของทุกปีจะพบผู้ป่วยและเสียชีวิตจากการกินเห็ดพิษที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ โดยเห็ดที่มีพิษรุนแรงถึงชีวิตที่พบบ่อยคือ เห็ดระโงกหิน เห็ดระงากหรือเห็ดสะงาก และเห็ดไข่ตายซาก ซึ่งมีรูปร่างคล้ายกับเห็ดระโงกที่กินได้ จึงควรสังเกตให้ดีและหลีกเลี่ยงเห็ดที่มีสีน้ำตาลเห็ดที่ปลอกหุ้มโคน เห็ดที่มีวงแหวนใต้หมวก เห็ดที่มีโคนอวบใหญ่ เห็ดที่มีปุ่มปม เห็ดที่มีหมวกสีขาว เห็ดที่มีหมวกเห็ดเป็นรูๆ แทนที่จะเป็นช่องๆ คล้ายครีบปลา เห็ดตูมที่มีเนื้อในสีขาว เห็ดที่ขึ้นในมูลสัตว์หรือใกล้มูลสัตว์ ที่สำคัญไม่ควรเก็บหรือซื้อเห็ดป่าที่ไม่รู้จักมาปรุงอาหารหรือกินเห็ดดิบ

“ทั้งนี้ เห็ดมีประโยชน์ทางโภชนาการ เป็นแหล่งโปรตีนที่ดีมีใยอาหาร โปแตสเซียมสูง มีโซเดียมและน้ำตาลต่ำ และยังอุดมไปด้วยวิตามิน โดยเฉพาะวิตามินบี ซึ่งจะช่วยควบคุมการทำงานของระบบย่อยอาหาร เป็นแหล่งแร่ธาตุที่สำคัญ เช่น ซิลิเนียม ทำหน้าที่ช่วยต้านอนุมูลอิสระ ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด โปแตสเซียมทำหน้าที่ควบคุมจังหวะการเต้นของหัวใจ สมดุลของน้ำในร่างกาย การทำงานของกล้ามเนื้อและระบบประสาทต่างๆ มีทองแดง ทำหน้าที่ช่วยเสริมการทำงานของธาตุเหล็ก นอกจากนี้ เห็ดยังประกอบด้วย โพลีแซคคาไรด์ (Polysaccharide) เช่น กลูแคน ซึ่งจะช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย โดยบางชนิดทำปฏิกิริยาร่วมกับแมคโครฟาจ (macrophage) ที่คอยทำหน้าที่ทำลายเซลล์แปลกปลอมที่เข้ามาในร่างกาย รวมถึงพวกไวรัสและแบคทีเรียอื่นๆ ซึ่งเห็ดที่มีโพลีแซคคาไรด์สูง ได้แก่ เห็ดหอม เห็ดนางรม เห็ดหูช้าง และเห็ดกระดุม เป็นต้น” พญ.พรรณพิมล กล่าวและว่า ยังมีเห็ดอื่นๆ ที่นิยมนำมาบริโภค เช่น เห็ดฟาง เห็ดนางฟ้า เห็ดหูหนู เห็ดแชมปิญอง เห็ดโคน เห็ดออรินจิ เห็ดเข็มทอง ฯลฯ แต่ที่สำคัญคือ ก่อนนำเห็ดมาปรุงอาหาร ต้องล้างน้ำให้สะอาดหลายๆ ครั้ง หรือล้างตามขั้นตอนการล้างผัก หลังจากนั้นค่อยนำมาปรุงอาหาร และปรุงให้สุกทุกครั้ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image