ค้นหา ‘กลุ่มเปราะบาง’ เข้าถึงหลักประกันสุขภาพ แบบไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

หนึ่งในยุทธศาสตร์ของหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่กำลังขับเคลื่อนอยู่ในขณะนี้คือ การดูแลประชากร กลุ่มเปราะบางŽ ที่อยู่ในผืนแผ่นดินไทยให้เข้าถึงบริการด้านสุขภาพ

ทั้งนี้ นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) บอกว่า คำว่าประชากรกลุ่มเปราะบางในความหมายของ สปสช.นั้น อาทิ ผู้ต้องขัง พระสงฆ์ คนไร้บ้าน คนไทยไร้สิทธิ หรือคนไทยที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียนราษฎร

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า สาเหตุที่ยุทธศาสตร์ของหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมุ่งเน้นดูแลกลุ่มเปราะบาง ให้เข้าถึงหลักประกันสุขภาพ เพราะ 17 ปีที่ผ่านมา สปสช.ได้มีการพัฒนาระบบการเข้าถึงบริการสุขภาพของคนไทยตั้งแต่ให้ มีสิทธิŽ และ เข้าถึงŽ วันนี้ประชาชนไทยมีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือบัตรทอง และเข้าถึงค่อนข้างมาก แต่ก็พบว่ายังมีประชากรอีกจำนวนหนึ่งตกหล่นจากระบบ

Advertisement

เลขาธิการ สปสช.ระบุว่า กลุ่มตกหล่นนี้ มี 2 ประเภท คือ 1.กลุ่มมีความชัดเจนในสังคม เช่น ผู้ต้องขัง พระสงฆ์ ฯลฯ ซึ่งโดยฐานะก็มีสิทธิ เพียงแต่ต้องจัดระบบพิเศษให้มีโอกาสเข้าถึง โดยในกลุ่มผู้ต้องขังได้มีการลงนามในบันทึกความร่วมมือเพื่อการพัฒนาบริการสาธารณสุขสำหรับผู้ต้องขังในเรือนจำ ระหว่าง 3 หน่วยงาน คือ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กรมราชทัณฑ์ และ สปสช. เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2562 เพื่อร่วมกันพัฒนาระบบบริการสาธารณสุขและเพิ่มศักยภาพสถานพยาบาลในเรือนจำ 142 แห่ง ในการดูแลผู้ต้องขังให้เข้าถึงบริการพื้นฐานที่จำเป็น ทั้งการส่งเสริม การรักษา การฟื้นฟูสุขภาพ อาทิ คัดกรองวัณโรค เอชไอวี/เอดส์ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และโรคจิตเวช ปัจจุบันมีผู้ต้องขังมีสิทธิบัตรทอง 253,862 คน ส่วนกลุ่มพระสงฆ์ ร่วมกับสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติจัดทำทะเบียนฐานข้อมูลพระสงฆ์ ตรวจคัดกรองสุขภาพ จัดอบรมถวายความรู้พระสงฆ์ สนับสนุนการขับเคลื่อนธรรมนูญพระสงฆ์ ตั้งเป้า 5,000 วัด ภายในปี 2562

Advertisement

2.กลุ่มที่มีปัญหาเลข 13 หลัก ในกลุ่มนี้แบ่งย่อยเป็น

2.1 คนต่างด้าว ถ้าเข้ามาแบบถูกกฎหมาย จะมีบัตรต่างด้าว มีประกันสังคมดูแล แต่ก็ยังพบคนต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง กลุ่มนี้ต้องดูแลเพื่อความมั่นคงด้านสุขภาพ และจริยธรรมทางการแพทย์ ถือเป็นสัญญาประชาคมที่ทุกประเทศต้องดำเนินการ ดังนั้น สปสช.ทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อค้นหาให้กลุ่มนี้ซื้อบัตรประกันสุขภาพ

2.2 กลุ่มรอพิสูจน์สิทธิ กลุ่มนี้เป็นคนที่อยู่ในประเทศไทยแน่นอน มีเลข 13 หลัก แต่ยังไม่สมบูรณ์ต้องรอการพิสูจน์สิทธิ พบว่ามีประมาณ 4-5 แสนคน และรัฐบาลจัดสรรงบประมาณสำหรับให้กระทรวงสาธารณสุขดูแลแล้ว

2.3 กลุ่มไร้สถานะ กลุ่มนี้อยู่ในเมืองไทย เป็นคนไทย แต่ไม่มีเลข 13 หลัก ต้องรอพิสูจน์ความเป็นสถานะคนไทยด้วยการตรวจพิสูจน์ดีเอ็นเอ เพื่อพิสูจน์ว่าตรงกับคนไทยที่เป็นญาติกันหรือไม่ ซึ่งมีค่าใช้จ่าย

“ขณะนี้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) จึงมีมติแต่งตั้งคณะทำงานบูรณาการการเข้าถึงบริการระบบหลักประกันสุขภาพของกลุ่มคนไทยที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียน มีรองปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน มีคณะกรรมการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ บอร์ด สปสช. เป็นต้น มีการประชุมไปหลายครั้ง มอบหมายให้แก้ไขกฎหมาย ตั้งงบประมาณ จัดทำฐานบุคคล มีการขับเคลื่อนเรื่องนี้และพยายามจะทำให้เสร็จสิ้นภายในปี 2562 ที่เน้นเป็นพิเศษคือกลุ่มคนไทยไร้สถานะ เพราะกลุ่มนี้มีค่าใช้จ่ายในการตรวจพิสูจน์ดีเอ็นเอประมาณรายละ 5,000 บาท ซึ่งถือว่าสูงมาก ขณะนี้กำลังรวบรวมเพื่อทำทะเบียน และตั้งงบประมาณเพื่อดำเนินกา”Ž นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวและว่า เรื่องนี้ได้รับความร่วมมือที่ดีจากรัฐบาล นอกเหนือจากนั้น จะเป็นกลุ่มย่อยๆ เช่น กลุ่มใต้สะพาน กลุ่มบัตรประชาชนหาย ฯลฯ ซึ่ง สปสช.ต้องดูแลเพื่อให้สิทธิ เพราะถ้าไม่ดูแลคนกลุ่มนี้จะมีโอกาสเจ็บป่วยสูง รัฐก็ต้องดูแล ซึ่งยิ่งสูญเสียงบประมาณมากขึ้นอีก

นพ.ศักดิ์ชัย บอกว่า แนวทางนี้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่ประกาศว่า ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังŽ และ สปสช.ก็ไม่ได้มองว่าเป็นเรื่องของการสงเคราะห์ แต่มองว่าเป็นเรื่องสิทธิ เพราะทุกคนมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน เพียงแต่ว่าต้องสร้างโอกาสให้เข้าถึง โดยขณะนี้ในกลุ่มไร้สถานะที่ต้องตรวจพิสูจน์ดีเอ็นเอ อยู่ในขั้นตอนขอตั้งงบประมาณเพื่อเป็นค่าตรวจ และตั้งงบประมาณประจำปี 2563 หากเป็นไปตามเป้าหมายนี้ คาดว่าจะเริ่มตรวจได้ช่วงปลายปีนี้ เพราะมีการสำรวจจำนวนขึ้นทะเบียนในแต่ละพื้นที่ไว้บ้างแล้ว แต่ตัวเลขยังไม่ชัดเจน เพราะประเทศไทยไม่เคยสำรวจมาก่อน คาดว่ามีประมาณ 1 แสนคน เหลือรอเพียงงบประมาณสำหรับดำเนินการเท่านั้น ซึ่งพบว่าพื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก มีจำนวนมาก ประมาณการว่า ค่าเจาะเลือดตรวจพิสูจน์ดีเอ็นเอ หากทำพร้อมกันจำนวนมาก อาจได้ราคากลางประมาณ 4,000 บาทต่อคน สปสช.เสนอให้กระทรวงมหาดไทย หรือกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จัดการงบประมาณ ส่วนข้อมูล สปสช.รับผิดชอบ แบ่งงานเรียบร้อยแล้ว สำหรับพื้นที่ที่จะต้องทำคือ ตามแนวชายแดนทั่วประเทศ และยากตรงการค้นหา ซึ่งต้องอาศัยเครือข่ายในท้องถิ่น ทั้งอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ผู้นำชุมชน อย่างไรก็ตาม ถ้าเรามีตัวเลขที่ชัดเจน ค่าตรวจอาจจะถูกลง และขณะนี้หลายพื้นที่ทำไปแล้วแต่ทำแบบเป็นรายๆ ไป โดยไปขอรับการสนับสนุนเงินจากภาคส่วน

เมื่อถามว่า อะไรเป็นเหตุจูงใจให้ต้องทำเรื่องนี้ และถ้าไม่ทำจะเกิดอะไรขึ้นกับประเทศไทย นพ.ศักดิ์ชัยอธิบายว่า อย่างแรกคือ ภาพลักษณ์ของประเทศไทยในสากล ทั้งเรื่องสิทธิมนุษยชน และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ประเทศใดที่ทำเรื่องนี้จะได้รับการยอมรับ ทั่วโลกยอมรับอยู่แล้วว่าประเทศไทยไม่เคยทอดทิ้งใคร ถัดมาคือ สุขภาพ ถ้าไม่ให้คนเหล่านี้เข้าถึงบริการสุขภาพ ที่จะตามมาคือ ปัญหาสังคม


“ถ้าเจ็บป่วยไม่มีเงินเข้าโรงพยาบาล ก็ต้องไปหาเงินมา อาจจะปล้น ลักขโมย รัฐก็ต้องเข้ามาจัดการอีก อีกอย่างถ้าเจ็บป่วยไม่ดูแล ไม่ควบคุมอาจมีโรคระบาด โรคติดต่อ แม้แต่สหรัฐอเมริกายังพบปัญหาที่ขณะนี้ยังควบคุมโรคหัดที่ระบาดไม่ได้ ขณะที่ประเทศไทยจะมีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัดทั้งประเทศในปี 2563 เพราะจะต้องป้องกัน ถ้าเราไม่รู้ตัวเลขคนกลุ่มนี้ เราก็ป้องกันไม่ได้เช่นกัน การดูแลด้านสุขภาพจะช่วยให้ลดต้นทุนการรักษาพยาบาล และการป้องกันจะดีที่สุด เพียงแค่จะต้องลงทุน แต่ยั่งยืนกว่า สรุปในแง่เศรษฐศาสตร์ถือว่าคุ้มค่า และเป็นภาพลักษณ์ของประเทศ ซึ่งเป็นมูลค่าที่จับต้องไม่ได้”Ž นพ.ศักดิ์ชัย กล่าว พร้อมกับทิ้งท้ายว่า สปสช.ยังมุ่งมั่นที่จะทำให้คุณภาพการให้บริการสูงขึ้นตามความคาดหวังของสังคมต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image