วิกฤต ‘ปลาทูไทย’ เร่งแก้ ก่อนสูญพันธุ์

จะว่าไป ปลาทู” ถือเป็นปลาที่ใกล้ตัวคนไทยมาก แม้มันจะเป็นปลาทะเล แต่ด้วยความที่มีจำนวนมากมายเต็มทะเลในอดีต ปลาทูจึงถูกส่งไปขายทั่วประเทศ คนไทยภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งไม่มีพื้นที่ติดทะเลก็กินปลาทูไทยได้อย่างสบายท้อง

ทุกวันนี้ถึงแม้ปลาทูจะยังไม่ขาดตลาด แต่ใครสังเกตดีๆ จะเห็นว่าปลาทูตัวใหญ่ขึ้น ไม่ได้หมายความว่าปลาทูสุขภาพแข็งแรงตัวโตมากขึ้น แต่มีใครกี่คนจะทราบว่าปลาทูที่วางขายในท้องตลาดประเทศไทยเวลานี้ ส่วนใหญ่แล้วไม่ใช่ปลาทูพันธุ์ไทย แต่เป็นปลาทูที่นำเข้าจากต่างประเทศ ทั้งมาเลเซีย โอมาน บังกลาเทศ และอินเดีย หรือที่เราเรียกกันว่า ปลาทูแขก” นั่นเอง

อาจเป็นเพราะเรายังคงมีปลาทูกินอยู่ทุกวัน แม้ความมันในเนื้อปลาทูอาจจะหายไป เนื่องจากปลาทูไทยได้รับการพิสูจน์ทางโภชนาการมาแล้วว่ามีไขมันดี เทียบเท่าไขมันในเนื้อปลาแซลมอน และปลาทูน่า ซึ่งไขมันดีนี้สามารถป้องกันโรคหัวใจได้ด้วย

โดยสรุปแล้ว ทุกวันนี้เราแทบจะไม่มีปลาทูสัญชาติไทยกินกันอีกแล้ว ถือเป็นวิกฤตปลาทูไทยก็ว่าได้ แต่เราไม่ค่อยรู้สึกอะไรกัน เพราะเรายังมี ปลาทูแขก” กินกันอยู่

Advertisement

ในเรื่องอาหารการกินเราอาจจะยังไม่รู้สึกอะไรมาก แต่ในแง่ความอุดมสมสมบูรณ์ของท้องทะเล ประเทศไทย ถือเป็นเรื่องใหญ่มากหากจะบอกว่าปลาทูไทยกำลังจะสูญพันธุ์

เพชร มโนปวิตร กรรมการมูลนิธิโลกสีเขียว ผู้เชี่ยวชาญด้านท้องทะเลไทย ให้ข้อมูลว่า มีข้อสังเกต 2 ประเด็นในเรื่องนี้ คือ 1.ประเด็นเรื่องการบริโภคอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDG 12) ง่ายที่สุดคือการหยุดกินหรือส่งเสริมการกินที่ไม่ยั่งยืน อันนี้คิดว่าเป็นความรับผิดชอบร่วมของแพลตฟอร์ม ซื้อสินค้าออนไลน์ด้วย เพราะเป็นตลาดที่ขยายตัวอย่างมาก ทำให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าใหม่ และกระตุ้นให้เกิดความต้องการที่ไม่สิ้นสุดได้ ต่างจากตลาดปกติ

ดังนั้นสินค้าที่นำมาจำหน่ายควรพิจารณาถึงความเหมาะสม กรณีลูกปลาทู หากปล่อยให้มีการทำการตลาดกันอย่างเสรี ก็จะยิ่งเกิดแรงจูงใจในการทำประมง ทำลายล้างมากขึ้น เพราะมีตลาดรองรับ

Advertisement

ประเด็นที่ 2 คือ การแก้ปัญหาที่ต้นทางเรื่องเรือปั่นไฟ กรมประมงต้องยอมรับว่าเครื่องมือประเภทนี้ถูกนำมาใช้อย่างผิดวิธี ทำให้เกิดการทำลายล้างสูง เพราะจับเอาสัตว์น้ำวัยอ่อนจำนวนมาก สร้างความเสียหายโดยรวมต่อประเทศ หลายๆ ประเทศยกเลิกไปหมดแล้ว แม้แต่กัมพูชา

หากยังปล่อยให้มีการดำเนินการได้ก็เหมือนสนับสนุนให้มีการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และการประมงที่ขาดการควบคุม (ไอยูยู) แต่ในส่วนของประเทศไทย อาจจะเป็นไอยูยู แบบกลายๆ เพราะผิดกฎหมายและเรือเหล่านี้ก็คงไม่ได้มีการรายงานข้อมูลตามความเป็นจริงให้หน่วยงานที่ควบคุมทราบ

ด้าน ชวลิต วิทยนนท์ นักวิชาการอิสระผู้เชี่ยวชาญด้านปลาประเทศไทย และกรรมการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เสริมว่า น่าตกใจว่ากรมประมงมีการปล่อยปละละเลยให้มีการจับลูกปลาทูทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจมาเป็นเวลานานกว่า 10 ปีมาแล้ว ทำให้ปริมาณปลาทูลดลงเรื่อยๆ อย่างน่าใจหาย

การปล่อยให้เรือปลากะตักจับทั้งปลากะตักและลูกปลาทู ทำให้ลูกปลาทูต้องตายก่อนวัยอันสมควรคืนละจำนวนมาก แทนที่ลูกปลาทู 1 ตัน จะกลายเป็นปลาทูตัวเต็มวัยได้ถึง 3-4 ตันในวันหน้า ถือเป็นการเสียโอกาสอย่างยิ่ง และความเสียโอกาสนี้อาจจะกลายเป็นความสูญเสียในอนาคตอันใกล้ก็ว่าได้

ดังนั้น รัฐบาลและหน่วยงานที่รับผิดชอบจะต้องดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งกับเรือพวกนี้ก่อนที่ปลาทูไทยจะสูญพันธุ์ไปจริงๆ” ชวลิตสรุป พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งเข้ามาดูแล

ขณะที่ สมยศ วงษ์บุญยกุล นายกสมาคมชาวประมงภูเก็ต มองอีกมุมถึงกรณีที่มีกลุ่มรักษ์ทะเลไทยออกมาเปิดเผยข้อมูลว่าเรือประมงพาณิชย์ทั้งอวนลาก อวนล้อมเป็นต้นตอทำให้ปลาทูในทะเลไทยเสี่ยงสูญพันธุ์ ว่า เป็นปัญหาที่มีการถกเถียงของหลายฝ่าย ถึงแม้ทางสมาคมชาวประมงพาณิชย์ในแต่ละจังหวัด จะพยายามชี้แจง ว่าสาเหตุไม่ได้เกิดจากประมงพาณิชย์ทั้งหมด แต่ก็ไม่สามารถหักล้างข้อมูลอีกฝ่ายได้

ผมมองว่าเป็นการกล่าวหาที่ไม่เป็นธรรมต่อเรือประมงพาณิชย์ อยากให้มองอีกด้านเพื่อให้เข้าใจร่วมกัน เนื่องจากเรือประมงพาณิชย์เองจับปลาอยู่นอกพื้นที่ชายฝั่งตามประกาศ 3 ไมล์  5 ไมล์ และ 7 ไมล์ทะเล ตามแต่ละพื้นที่ ซึ่งเป็นจุดที่อยู่นอกเขตพื้นที่การวางไข่ และการเจริญพันธุ์ของพ่อแม่และลูกปลาทู แต่เรือประมงบางชนิดซึ่งจะไม่พูดถึง กลับสามารถจับได้ไนเขตดังกล่าวและยังจับพ่อแม่ปลาทูที่มีไข่ขึ้นมาจำหน่ายเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ไม่สามารถวางไข่เพื่อขยายพันธุ์ได้” สมยศแจกแจงเหตุ

สมยศ” ยังตั้งคำถามว่า การจับพ่อแม่พันธุ์ปลาทูกับลูกปลาทู อันไหนจะส่งผลกระทบมากกว่ากัน แน่นอนว่าการจับพ่อแม่พันธุ์จะส่งผลมากกว่า เพราะไม่มีโอกาสขยายพันธุ์

ขณะนี้รัฐบาลมีมาตรการทางกฎหมายเข้มข้น มีการบังคับใช้ พ.ร.ก.ประมง ส่งผลให้เรือประมงพาณิชย์ต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด แต่เรือประมงอีกกลุ่มซึ่งควรจะปฏิบัติตามกฎหมาย กลับยังไม่สามารถบังคับใช้ได้ทั้งหมด เนื่องจากข้ออ้างนานาประการ และพบว่าหลายๆ อย่างส่งผลเสีย เช่น ไม่สามารถสำรวจตัวเลขที่แท้จริงได้ มีการใช้อวนที่มีความยาวขึ้น บางรายยาวนับกิโลเมตร และใช้เครื่องจักรเข้ามาทำงานแทนแรงมือ ถามว่าทำไมมีการบังคับใช้ กม.ตาม พ.ร.ก.ประมงมาหลายปี แต่สถานการณ์ปลาทูยังไม่ดีขึ้น ผมเชื่อว่าคงมีคำตอบในตัวมันเอง และหลายคนก็คงทราบดี

สมยศ” ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า สำหรับปลาทูพบมากในทะเลฝั่งอ่าวไทย ส่วนจังหวัดในแถบทะเลอันดามัน ไม่ค่อยมีปลาทูมากนัก มีที่พบแถว จ.สตูล แต่ก็เป็นปลาทูที่อพยพมาจากประเทศอื่นๆ เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย และอินเดีย ไม่ใช่จากการขยายพันธุ์ตามแนวชายฝั่งทะเลอันดามัน จึงทำให้มีปัญหาน้อยมาก

ปัจจุบันเรือประมงพาณิชย์ที่เข้าร่วมกับสมาคมชาวประมงจังหวัดภูเก็ตมีอยู่ประมาณ 200 ลำ มีทั้งเรือ อวนล้อม อวนลาก เรือเบ็ด ส่วนใหญ่เรือประมงพาณิชย์เหล่านี้จะปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด” สมยศสรุป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image