อธิบดีกรมควบคุมโรคสั่งตรวจสอบ ‘ร้านดวลเบียร์’ เข้าข่ายส่งเสริมการขายผิด กม. เตือนนักดื่มซดเร็วตายไว

เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม ที่โรงแรมอมารี ดอนเมือง แอร์พอร์ต กรุงเทพมหานคร (กทม.) นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยถึงกรณีที่มีผู้เสียชีวิตจากการเข้าแข่งขันดื่มเบียร์เร็วในสถานบริการแห่งหนึ่ง ใน จ.เพชรบุรี ว่า เบื้องต้นได้มอบหมายให้สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 5 จ.ราชบุรี ร่วมกับ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) เพชรบุรี ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง จากนั้นให้รายงานผลการตรวจสอบมายังส่วนกลาง ทั้งนี้ ทางหลักการทางการแพทย์ มีข้อบ่งชี้ว่าไม่มีการดื่มใดที่ปลอดภัย ไม่ว่าจะดื่มในปริมาณน้อยหรือมากก็ตาม แต่เนื่องจากปัจจุบันการดื่มกลายเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิต ดังนั้น จึงต้องดื่มให้เป็นและดื่มในปริมาณที่เหมาะสม เพื่อป้องกันไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ และนำไปสู่การสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สิน อย่างไรก็ตาม สธ.ยังคงแนะนำให้หลีกเลี่ยง หรืองดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด เพราะไม่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ

“กรณีการดื่มเบียร์อย่างรวดเร็วในระยะสั้น ว่า ส่งผลให้ความเข้มข้นระดับแอลกอฮอล์ในกระแสเลือดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเบียร์มีสารประกอบหลักเป็นแอลกอฮอล์ ซึ่งโดยทั่วไปเบียร์จะมีระดับแอลกอฮอล์ประมาณร้อยละ 5 by volume กล่าวคือ 100 มิลลิลิตร (มล.) ของเบียร์จะมีแอลกอฮอล์อยู่ 5 มล. และแอลกอฮอล์มีความหนาแน่นประมาณ 0.79 เท่าของน้ำ ดังนั้น ในเบียร์ 100 มล.จะมีแอลกอฮอล์อยู่ 5×0.79 เท่ากับ 3.95 กรัม แสดงว่าในเบียร์ 1 เหยือก จะมีปริมาณเบียร์ประมาณ 1,000 มล. ฉะนั้น แอลกอฮอล์ในเบียร์ 1 เหยือก จะเท่ากับ 39.5 กรัม หรือ 3,950 มิลลิกรัม คิดเป็น 395 มิลลิกรัมเปอร์เซนต์ (mg%) ของระดับความเข้มข้นในกระแสเลือด ซึ่งปกติเพียง 50 มิลลิกรัมเปอร์เซนต์ ทำให้เกิดการสูญเสียการควบคุม มีอาการมึนและเซ และระดับ 200 มิลลิกรัมเปอร์เซนต์ ทำให้เกิดอาการเมาและตาลายแล้ว ซึ่งปกติเมื่อดื่มร่างกายจะขับมาทางปัสสาวะ ทำให้ขณะดื่มจึงรู้สึกปวดปัสสาวะบ่อย ดังนั้น การดื่มไวและเร็วทำให้ร่างกายไม่สามารถขับแอลกอฮอล์ได้ทัน ส่งผลต่อระบบภายในร่างกายเป็นเหตุให้เสียชีวิตได้ เพราะระดับความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ที่มีมาก” นพ.สุวรรณชัย กล่าว

Advertisement

นอกจากนี้ นพ.สุวรรณชัย กล่าวถึงสถานบริการที่จัดการแข่งขันดื่มเบียร์เร็วว่า ต้องตรวจสอบว่าเข้าข่ายการส่งเสริมการขายหรือไม่ ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 โดยประชาชนส่งข้อมูลไปยัง สธ.เพื่อให้ร่วมตรวจสอบต่อไป

ด้านนายคำรณ ชูเดชา ผู้ประสานงานเครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจแอลกอฮอล์ กล่าวว่า เครือข่ายฯ ขอประณามผู้ประกอบการธุรกิจที่นำกิจกรรมแข่งดื่มเบียร์มาใช้ในการส่งเสริมการขายเบียร์สุรา จนนำมาสู่การเสียชีวิต ซึ่งกิจกรรมแข่งดื่มเบียร์หรือสุรา เป็นกิจกรรมที่อันตรายมาก แต่มักมีการจัดโปรโมชั่น ส่งเสริมการขาย ตั้งใจสร้างความท้าทายให้ลูกค้า และเริ่มนิยมและแพร่หลายมากขึ้น ซึ่งเข้าข่ายเป็นกิจกรรมที่ผิดกฎหมายตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551

“ที่ผ่านมาประเด็นการแข่งขันดื่มเบียร์สุรา ยังขาดความจริงจังจาก สธ. ในการบังคับใช้กฎหมาย หรือสื่อสารต่อสาธารณะว่า เป็นพฤติกรรมทั้งที่เป็นพฤติกรรมอันตรายมาก และยังพบเห็นการโฆษณาประชาสัมพันธ์ในสถานบริการและสื่อออนไลน์อย่างแพร่หลาย ขอเรียกร้องให้ เจ้าหน้าที่เข้มงวดบังคับใช้กฎหมายขั้นเด็ดขาด ต้องเท่าทันการตลาดฉ้อฉล ซึ่งเดิมพันกับชีวิตคนแบบนี้” นายคำรณ กล่าว

Advertisement

ด้าน ผศ.วศิน สุวรรณรัตน์ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตหาดใหญ่ กล่าวว่า กรณีนี้ถือว่าผิดกฎหมายทั้งทางแพ่งและอาญา ซึ่งผู้ประกอบการร้านค้าที่จัดแข่งขันจะต้องรับผิดในประเด็นที่สามารถเล็งเห็นผลได้ว่าจะเกิดอันตรายแก่ร่างกายหรือชีวิตได้ จึงต้องรับผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ฐานประมาท เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ถ้าหากในทางแพ่ง เป็นการกระทำละเมิดของร้าน ต้องชดใช้ค่าเสียหาย และควรทำให้เป็นแบบอย่างในการบังคับใช้กฎหมายจริงจัง เพื่อป้องปรามมิให้เกิดความสูญเสียจากกิจกรรมสุ่มเสี่ยงแบบนี้อีก

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image