เด็กต่ำกว่า5ปี 3จว.ชายแดนใต้ เข้าไม่ถึง ‘วัคซีนโรคหัด’ สธ.เร่งทำความเข้าใจผู้นำศาสนา-ท้องถิ่น

เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานเปิดประชุมเชิงปฏิบัติการถ่ายทอดแนวทางการรณรงค์ให้วัคซีนป้องกันโรคหัดแก่เจ้าหน้าที่เครือข่ายระดับเขตและจังหวัด เพื่อให้วัคซีนป้องกันในกลุ่มเด็กอายุ 1-12 ปีทั่วประเทศ พ.ศ.2562-2563 ตามแผนการเร่งรัดการกำจัดโรคหัดของประเทศไทย เพื่อติดตามการฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัดให้ครบตามเกณฑ์ โดยมี บุคลากรจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) 76 จังหวัด สำนักอนามัย และสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร สำนักงานป้องกันควบคุมโรคเขต 1–12 สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง สำนักระบาดวิทยา สำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ และบุคลากรกองโรคป้องกันด้วยวัคซีน กรมควบคุมโรค ร่วมประชุมกว่า 200 คน

นพ.สุวรรณชัย กล่าวถึงสถานการณ์โรคหัดในประเทศไทยว่า ตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา พบว่าอัตราป่วยโรคหัดลดลงมาก เมื่อเทียบกับอดีต และมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ในปี 2559 ไทยพบผู้ป่วยโรคหัดเป็นกลุ่มก้อน และเพิ่มขึ้นต่อเนื่องถึงปัจจุบัน โดยในปี 2561 พบผู้ป่วย 2,926 ราย เสียชีวิต 23 ราย และในปี 2562 ข้อมูล ณ วันที่ 21 มิถุนายน 2562 พบผู้ป่วยแล้ว 1,908 ราย เสียชีวิต 12 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่อายุน้อยกว่า 1 ปี รองลงมา กลุ่มอายุ 1-4 ปี อายุ 20-29 ปี อายุ 5-9 ปี และอายุ 30-39 ปี จากการสอบสวนโรคพบว่า ผู้ป่วยร้อยละ 84 ไม่เคยได้รับวัคซีน หรือไม่แน่ใจ ซึ่งเป็นกลุ่มที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคเป็นอย่างมาก

“โรคหัดในประเทศไทยแตกต่างกันไปตามแต่ละพื้นที่ โดยในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ซึ่งไม่เคยได้รับวัคซีน หรือได้รับไม่ครบถ้วนตามเกณฑ์ สำหรับในพื้นที่อื่นของประเทศ พบในกลุ่มประชากรวัยแรงงาน อายุ 20-40 ปี ที่อยู่รวมกันหมู่มาก เช่น ในเรือนจำ ค่ายทหาร โรงงาน สถานประกอบการ และสถานบริการสาธารณสุข อีกทั้งยังพบเด็กต่างด้าวและบุคคลไร้สิทธิ์ ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล เป็นต้น” นพ.สุวรรณชัย กล่าวและว่า ประเทศไทยให้วัคซีนโรคหัดตามแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคตั้งแต่ปี 2527 แก่เด็กอายุ 9 เดือน ต่อมาในปี 2539 ได้เพิ่มการฉีดวัคซีนโรคหัดเข็มที่สอง รวมถึงปัจจุบันได้กำหนดให้มีการเก็บตกเด็กที่ได้รับวัคซีนไม่ครบตามเกณฑ์เมื่อเข้าเรียนชั้น ป.1

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ข้อมูลความครอบคลุมการได้รับวัคซีนของประเทศไทยพบว่า ถึงแม้ความครอบคลุมการได้รับวัคซีนป้องกันโรคหัดโดยรวมจะมีแนวโน้มสูงขึ้น แต่ยังพบเด็กบางกลุ่มที่ยังได้รับวัคซีนไม่ครบตามเกณฑ์ ดังนั้น กรมควบคุมโรค โดยกองโรคป้องกันด้วยวัคซีน ได้ดำเนินโครงการรณรงค์ให้วัคซีนป้องกันโรคหัดในกลุ่มเด็กอายุ 1-12 ปี ทั่วประเทศ พ.ศ.2562-2563 ตามแผนเร่งรัดการกำจัดโรคหัดของประเทศไทย เพื่อรณรงค์ให้วัคซีนเก็บตกในกลุ่มเด็กไทยและเด็กต่างชาติช่วงอายุดังกล่าว ที่ได้รับวัคซีนไม่ครบตามเกณฑ์ทุกราย ยกระดับภูมิคุ้มกันโรคหัดในเด็กให้สูงขึ้น เพียงพอต่อการป้องกันการป่วยและการระบาดของโรคหัด โดยเด็กต่ำกว่า 12 ปี ทุกคนต้องได้รับวัคซีนโดยเป็นการให้วัคซีนป้องกันโรคหัด-คางทูม-หัดเยอรมัน (MMR) แก่เด็กอายุ 1-7 ปี และให้วัคซีนป้องกันโรคหัด-หัดเยอรมัน (MR) แก่เด็กอายุ 7-12 ปี

Advertisement

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า กลุ่มที่น่าห่วงคือ กลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอ ของ จ.สงขลา ที่ได้วัคซีนไม่ครบ เนื่องจากความไม่สงบในพื้นที่ ความเชื่อด้านศาสนา และปัญหาอนามัยแม่และเด็กในพื้นที่ ซึ่งความกังวลนี้รวมถึงการเข้ารับวัคซีนโรคอื่นด้วย ล่าสุด ได้ประสานไปยังจุฬาราชมนตรีเพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงว่าวัคซีนดังกล่าวไม่ได้ขัดกับหลักศาสนา และได้ทำหนังสือไปยังพื้นที่เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริง พร้อมทั้งประสานไปยังผู้นำศาสนาในพื้นที่ ผู้นำหมู่บ้าน และฝ่ายปกครอง เพื่อขอความร่วมมือชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่

“ปีนี้กรมควบคุมโรคตั้งเป้าให้การฉีดวัคซีนครอบคลุมในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เด็กต่างชาติที่เข้ามาอยู่ในไทยและกลุ่มผู้ใหญ่ที่ตกค้างเกิดก่อนปี 2527 โดยต้องไม่เจอผู้ป่วยในอัตรา 1 ต่อล้านน หรือผู้ป่วยประมาณ 66-67 คน ขณะที่ปัจจุบันมีผู้ป่วยมากกว่า 1,000 ราย” นพ.สุวรรณชัย กล่าวและว่า นอกจากนี้ ยังมีโครงการต่อเนื่องในปี 2563 ที่จะให้วัคซีนชนิดนี้กับผู้ใหญ่ เนื่องจากพบว่าผู้ที่เกิดก่อนปี 2527 อาจตกหล่น เพราะเป็นปีที่เริ่มมีการให้วัคซีนโรคหัด รวมถึงผู้ใหญ่ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยด้วย เพราะความรุนแรงของโรค หากไม่ได้รับการฉีดวัคซีนจะทำให้มีโอกาสเสี่ยงเป็นปอดบวม และรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ในเด็กเล็ก โดยเฉพาะเด็กที่มีปัญหาภาวะทางโภชนาการ ซึ่งปีผ่านมาพบผู้เสียชีวิตมากในเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปีในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

 

Advertisement

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image