สธ.พร้อมจ่าย “น้ำมันกัญชา” ผู้ป่วยล็อตแรก 1.5 หมื่นขวด ช่วง ก.ค.-ส.ค.นี้

เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า สธ.ได้จัดระบบบริการกัญชาทางการแพทย์ในสถานพยาบาลครบวงจร โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการทำงาน ทั้งภายในและภายนอกกระทรวง เพื่อให้การนำกัญชาไปใช้มีประสิทธิภาพ ประชาชนได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง ในด้านการปลูก การผลิต การกระจายองค์การเภสัชกรรม (อภ.) จะผลิตน้ำมันกัญชาล็อตแรกเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2562 จำนวน 10,000 ขวด และโรงพยาบาล (รพ.) เจ้าพระยาอภัยภูเบศร จำนวน 5,000 ขวด นำไปใช้รักษาผู้ป่วยที่อยู่ในเกณฑ์ข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ ส่วน รพ.พระอาจารย์ฝั้น จะผลิตตำรับยาแผนไทย 5 ตำรับจากกัญชาของกลาง ขณะที่ผู้สั่งใช้กัญชาทางการแพทย์ ปัจจุบันมีแพทย์ เภสัช ทันตแพทย์ ผ่านการอบรม 400 คน มีแพทย์แผนไทยผ่านการอบรม 2,900 คน โดยจะปรับการอบรมแบบออนไลน์เพื่อเพิ่มความสะดวกให้แก่ผู้สั่งใช้

นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังได้จัดทำแนวทางการนำกัญชาไปใช้ทางการแพทย์  แนวทางการรักษาเมื่อผู้ป่วยเกิดปัญหาจากการใช้ยากัญชา รวมทั้งกำหนดวิธีการขอรับอนุญาตจำหน่ายในสถานพยาบาล โดยระยะแรกเดือนกรกฎาคม – กันยายน 2562 สามารถจัดบริการกัญชาทางการแพทย์ได้ในโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปอย่างน้อยจังหวัดละ 1 แห่ง และขยายระยะที่ 2 ให้ครอบคลุมโรงพยาบาลชุมชน และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ภายในเดือนเมษายน 2563

“ขณะนี้ การนำกัญชามาใช้ทางการแพทย์ถือว่าเป็นระยะเริ่มต้น ปริมาณการผลิตยังอยู่ในวงจำกัดสำหรับผู้ป่วยในโครงการ ระยะต่อไปจะมีการขยายให้เพียงพอต่อการนำไปใช้เป็นทางเลือกในการรักษาผู้ป่วยที่รักษาด้วยวิธีมาตรฐานแล้วไม่ได้ผล ภายใต้การดูแลของแพทย์ เภสัช ทันตแพทย์ และแพทย์แผนไทยที่ผ่านการอบรมเพื่อให้เกิดผลในการรักษาและไม่เป็นอันตรายต่อผู้ใช้” นพ.ปิยะสกล กล่าว

Advertisement

ด้าน นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัด สธ. กล่าวว่า การนำกัญชาไปใช้ทางการแพทย์ ต้องมีความระมัดระวังในการนำไปใช้ เนื่องจากมีทั้งคุณและโทษ โดยมีข้อบ่งใช้สำหรับการรักษาโรค (SAS: Special Access Scheme) ด้านการแพทย์แผนปัจจุบัน แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.มีหลักฐานเชิงประจักษ์ยืนยันประสิทธิผลชัดเจนได้ประโยชน์ในการรักษา ได้แก่ ภาวะคลื่นไส้อาเจียนจากยาเคมีบำบัด โรคลมชักที่รักษายากหรือดื้อต่อยารักษา ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็งในผู้ป่วยปลอกประสาทเสื่อมแข็ง ภาวะปวดประสาทที่ดื้อต่อการรักษา 2.มีข้อมูลทางวิชาการที่สนับสนุนการวิจัยเพิ่มเติม น่าจะได้ประโยชน์ในการควบคุมอาการ เช่น โรคพาร์กินสัน โรคอัลไซเมอร์ ผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายที่ดูแลแบบประคับประคอง บรรเทาอาการปวดในผู้ป่วยมะเร็ง และ3.สารสกัดกัญชาอาจได้ประโยชน์ในการรักษาแต่ยังขาดหลักฐานเชิงประจักษ์ ให้พิจารณาสั่งจ่ายเฉพาะผู้ป่วยที่ใช้การรักษาตามวิธีมาตรฐานแล้วไม่ได้ผล ส่วนด้านการแพทย์แผนไทย มีตำราทางการแพทย์แผนไทยและตำรับยาแผนไทยที่อนุญาตให้ใช้เพื่อการรักษาโรคหรือการศึกษาวิจัยได้ จำนวน 16 ตำรับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image