เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอดส์ยัน ‘กินยาต้าน’ ไม่ส่งผลต่อสุขภาพ ชี้คนไทยยังอคติ-ตื่นกลัวเอชไอวี

แฟ้มภาพ

เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม นายอภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ประเทศไทย กล่าวถึงกรณีหญิงรายหนึ่งเข้าใจว่าป่วยเป็นเอดส์มานานกว่า 5 ปี หลังไปรับการตรวจเลือดเพื่อหาเชื้อเอชไอวีที่โรงพยาบาล (รพ.) ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช และได้ผลผิดพลาด ว่า สำหรับการเยียวยาผู้เสียหายเบื้องต้น 50,000 บาท ไม่แน่ใจชัดว่าเป็นค่าชดเชยที่ได้รับจากส่วนใด แต่โดยหลักการคนที่ถือบัตรทองสามารถยื่นคำร้องเพื่อขอชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นได้ กรณีที่เด็กและแม่ ซึ่งเป็นผู้เสียหายหากถือบัตรทอง จะได้รับเยียวยาค่าชดเชยตามมาตรา 41 ในการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นให้แก่ผู้รับบริการที่ได้รับความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ซึ่งจะมีคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นผู้พิจารณาค่าเสียหายที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ กรณีการตรวจเชื้อแล้วผิดพลาดไม่เจอ ไม่อยากให้โทษเป็นความผิดพลาดของเครื่องตรวจเชื้อ แต่อยากให้ดูในรายละเอียดของระบบสุขภาพทุกขั้นตอน ตั้งแต่การให้บริการของสถานพยาบาล ตลอดจนการสื่อสารต่อผู้ป่วย

นายอภิวัฒน์ กล่าวว่า กรณีที่เกิดขึ้นมองเห็น 2 ประเด็น ได้แก่ เนื่องจากตนเองเป็นหญิงตั้งครรภ์ ซึ่งมีความเสี่ยงติดเชื้อเอชไอวี หากมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้รับการป้องกัน ในการตรวจหาเชื้อเอชไอวี จึงต้องนำคู่นอนของตนเองมาตรวจด้วยเพื่อให้เด็กในครรภ์ปลอดภัย ประเด็นต่อมา หากรู้ว่าตนเองติดเชื้อ ทำไมต้องโชคร้ายที่ต้องมาติดเชื้อ แสดงให้เห็นทัศนคติมองผู้ติดเชื้อเป็นบุคคลน่ารังเกียจ โดยคนรอบข้างและสภาพแวดล้อมชุมชนมีผลทำให้ผู้ติดเชื้อถูกเลือกปฏิบัติ สะท้อนว่าสังคมไทยยังคงมองเรื่องเอดส์ในภาวะตื่นกลัว ดังนั้น ผู้ที่ทำงานด้านสาธารณสุขต้องออกแรงอีกมากในการให้ความรู้ความเข้าใจว่าเอชไอวีไม่ได้ติดต่อกันง่ายดาย หรือติดต่อผ่านการเรียนหนังสืออย่างหลายกรณีมีเด็กสามารถไปโรงเรียนและเรียนหนังสือได้

“อคติเรื่องเอดส์ในสังคมไทยยังมีอยู่ ขณะที่ความเชื่อของคนรอบข้างมองว่าไม่ได้เป็นเรื่องของตัวเอง ทั้งที่ตนเองก็มีความเสี่ยงในการติดเชื้อ เช่น การมีเพศสัมพันธ์กับคู่นอน ทำให้การประเมินความเสี่ยงของตนเองคลาดเคลื่อนและการป้องกันตนเอง สะท้อนคนในชุมชนละเลยเรื่องความเสี่ยงของตนเองปนเรื่องอคติ แม้อคติจะมีแนวโน้มดีขึ้นจากอดีต แต่ต้องช่วยกันอีก ส่วนผู้ที่รู้ว่าตนเองติดเชื้อ หากเข้ารับการรักษาเร็วจะเป็นประโยชน์ เพราะได้รับยาและไวรัสต่ำ ก็ส่งเชื้อให้ใครไม่ได้แล้ว แต่ส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าตนเองติดเชื้อ จึงมีการแพร่ระบาดเชื้อสู่ผู้อื่น หรือสามารถโทรปรึกษาสายด่วน 1663 ได้” นายอภิวัฒน์ กล่าว

นายอภิวัฒน์ กล่าวว่า การได้รับยาต้านไวรัสเป็นระยะเวลานาน โดยหลักร่างกายจะไม่ได้รับผลกระทบใดๆ การได้รับยาต้านเป็นระยะเวลานานจึงไม่มีผลต่อสุขภาพ และหากได้ผลกระทบ การตรวจวินิจฉัยผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวีของแพทย์ที่จะต้องทำการตรวจวินิจฉัยต่อเนื่องตามมาตรฐานการรักษา เช่น การตรวจตับ ไต ไขมัน เป็นต้น จะบอกได้ แต่หลายปีที่หมอที่ตรวจวินิจฉัยคนไข้ตามข่าวก็ไม่ได้แจ้งผู้ป่วย แสดงผู้ป่วยไม่ได้รับผลกระทบใด หากมีความผิดปกติคงแจ้งผู้ป่วยแล้ว

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image