เช็กยิบ ‘เอชไอวี’ หรือจะสู้ป้องกันตัว

เชื้อ HIV (Human Immunodeficiency Virus) ถูกค้นพบและเรียนรู้มาหลายสิบปี เทคโนโลยีการตรวจเชื้อถูกพัฒนาจนเชื่อถือได้ถึงความแม่นยำ กระทั่งปรากฏข่าวหญิงสาวรายหนึ่งไปคลอดลูกพร้อมตรวจเชื้อเอชไอวีที่โรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่งใน จ.นครศรีธรรมราช ผลตรวจพบการติดเชื้อเอชไอวี ต้องทนทุกข์ทรมานตลอด 5 ปี กับการคิดว่าตัวเองติดโรคร้าย เธอและลูกถูกสังคมละแวกบ้านรังเกียจ ลูกต้องกินยาต้านไวรัสเอชไอวีตลอดมา จนเมื่อจะคลอดลูกคนสุดท้องไปตรวจเชื้ออีกครั้งกับโรงพยาบาลรัฐอีกแห่ง และตรวจซ้ำถึง 2 ครั้ง ผลยืนยันว่าเธอและลูกปลอดเชื้อ สุขภาพแข็งแรงปกติ ไม่ได้ติดเชื้อเอชไอวีมาตั้งแต่ต้นแล้ว

มาพบความจริงว่า โรงพยาบาลแรกเกิดความผิดพลาดในกระบวนการตรวจวินิจฉัย

สังคมกำลังตั้งคำถาม เกิดอะไรขึ้นกับขั้นตอนการตรวจเชื้อดังกล่าว

นพ.พิทักษ์พล บุณยมาลิก ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เขตสุขภาพที่ 11 กล่าวถึงผลการตรวจเลือดหาเชื้อเอชไอวีผิดพลาดว่า ขณะนี้ยังสรุปไม่ได้ว่าเกิดจากความผิดพลาดที่เครื่องมือและขั้นตอนการตรวจ หรือตัวบุคคล จึงต้องรอผลจากคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง และต้องให้เวลาในการตรวจสอบ แต่เบื้องต้นยืนยันว่าห้องปฏิบัติการโรงพยาบาลในสังกัด สธ.ทุกแห่ง มีมาตรฐานการตรวจหาเชื้อเอชไอวีในเลือด โดยจะตรวจคัดกรองเบื้องต้นก่อน หากพบมีปฏิกิริยา (reactive) จะต้องส่งตรวจยืนยันด้วยเทคนิคอื่นเพิ่มเติม หากพบมีปฏิกิริยาในทุกการทดสอบ จึงจะวินิจฉัยว่าติดเชื้อเอชไอวี จากนั้นจึงจะทดสอบอีกครั้งหนึ่งเพื่อยืนยันตัวบุคคลด้วย ถ้าการตรวจยืนยันไม่พบปฏิกิริยา (non-reactive) แสดงว่าการตรวจคัดกรองเบื้องต้นเป็นผลบวกปลอม (false positive) ซึ่งไม่จำเป็นต้องตรวจเพิ่มใดๆ อีก

Advertisement

ส่วนการตรวจผิดพลาดตามที่ปรากฏเป็นข่าว นพ.พิทักษ์พลให้ความเห็นว่า หากไม่ได้ผิดพลาดที่เครื่องมือและขั้นตอน ก็ต้องรอให้คณะกรรมการฯตรวจสอบต่อไปว่า เกิดช่องว่างตรงจุดใดจึงทำให้มีปัญหาดังกล่าว อย่างไรก็ตาม เบื้องต้น สธ.ไม่ได้ปฏิเสธความรับผิดชอบ จะเร่งให้การเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของการเยียวยาทางด้านจิตใจ ขณะนี้ทราบว่าอยู่ในขั้นตอนการเจรจา เพื่อให้ผู้ได้รับผลกระทบพึงพอใจมากที่สุด

ด้าน นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค สธ. กล่าวว่า ประเทศไทยมีการตรวจวินิจฉัยการติดเชื้อเอชไอวีทางห้องปฏิบัติการที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน ซึ่งถือเป็นกระบวนการที่สำคัญ ผลการตรวจการติดเชื้อเอชไอวีต้องมีความถูกต้องและแม่นยำ สำหรับ สธ.ได้มีกระบวนการในการควบคุมคุณภาพที่กำหนดเป็นนโยบาย แนวทาง และมาตรฐานการตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีในประเทศไทย ดังนี้ 1.คนไทยทุกคนที่มีบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลัก สามารถตรวจเลือดหาการติดเชื้อเอชไอวีได้ฟรี ปีละ 2 ครั้ง ทุกโรงพยาบาลที่ให้บริการภายใต้หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ควรตรวจหาเชื้อเอชไอวีหลังจากมีพฤติกรรมเสี่ยงที่จะติดเชื้อเอชไอวี เพื่อรู้สถานะการติดเชื้อของตนเอง

2.ผู้รับบริการต้องได้รับการให้บริการปรึกษาเกี่ยวกับเอชไอวีทั้งก่อนและหลังการตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวี รวมทั้งการปฏิบัติตนหลังจากทราบผล ไม่ว่าผลจะเป็นลบหรือบวก เพื่อเป็นการป้องกันหรือเข้าสู่ระบบการดูแลรักษา 3.ชุดตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีที่จำหน่ายในประเทศไทย ต้องผ่านการประเมินและขึ้นทะเบียนโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เครื่องมือแพทย์ พ.ศ.2551 และตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชุดตรวจที่เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อเอชไอวี พ.ศ.2552 ทั้งนี้ การเลือกใช้ชุดตรวจให้เป็นไปตามคำแนะนำในแนวทางการตรวจรักษาและป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีประเทศไทย ปี 2560

4.วิธีการตรวจและการแปลผลที่เป็นมาตรฐานนั้น กรณีรายงานผลเป็นบวกจะตรวจด้วยชุดตรวจ 3 ชุด และมีการเจาะเลือดตัวอย่างที่ 2 เพื่อยืนยันตัวบุคคล สำหรับกรณีที่รายงานผลเป็นลบ จะตรวจด้วยชุดตรวจ 1 ชุด หากผลเป็นสรุปไม่ได้ ต้องนัดตรวจใหม่ที่ 2 สัปดาห์ หรือ 1 เดือน กรณีที่ผลเป็นสรุปไม่ได้ อาจเนื่องจากหลายสาเหตุ เช่น ผู้มารับบริการอาจเพิ่งสัมผัสเชื้อมา และร่างกายยังสร้างแอนติบอดี้ไม่ถึงระดับที่ชุดตรวจจะตรวจได้ หรืออาจเกิดจากร่างกายของผู้มารับบริการสร้างสารที่ทำปฏิกิริยากับชุดตรวจบางชุดตรวจที่ทำให้ไม่สามารถแปลผลการตรวจได้

5.ห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ที่ให้บริการตรวจเอชไอวี มีการควบคุมคุณภาพภายใน ตรวจสอบคุณภาพของชุดตรวจเป็นประจำว่ามีคุณภาพก่อนที่จะนำไปใช้ในการตรวจกับตัวอย่างจริงของผู้มารับบริการ ส่วนการควบคุมคุณภาพภายนอก เป็นการตรวจสอบระบบการทำงานของห้องปฏิบัติการ ต้องเข้าร่วมการประเมินโดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สธ. หรือหน่วยงานอื่นๆ อย่างน้อยปีละ 3 ครั้ง

นพ.สุวรรณชัยยังฝากเตือนด้วยว่า อยากให้ประชาชนทุกคนหันมาป้องกันตนเอง รับผิดชอบตนเองและผู้อื่น โดยการใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์ และยังสามารถรับการตรวจเลือดเพื่อหาการติดเชื้อเอชไอวีได้ฟรีปีละ 2 ครั้ง ส่วนเยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี เข้ารับการปรึกษาและตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีได้โดยไม่ต้องขอคำยินยอมจากผู้ปกครอง เพื่อจะได้รู้สถานะการติดเชื้อของตนเอง หากรู้ว่าติดเชื้อจะได้เข้ารับการรักษาทันที ถ้าต้องการคำปรึกษาเรื่องสุขภาพทางเพศ

มีข้อสงสัยหรือข้อกังวลเกี่ยวกับเอชไอวี สอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนปรึกษาเอดส์และท้องไม่พร้อม 1663 สายด่วน สปสช. 1330 หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image