คนไทยป่วยซึมเศร้า 1.5 ล้านคน “หลังคาแดง” ชวนประกวดหนังสั้น “ภาวะซึมเศร้า”

คนไทยป่วยซึมเศร้า 1.5 ล้านคน “หลังคาแดง” ชวนประกวดหนังสั้น “ภาวะซึมเศร้า”

เมื่อเวลา 13.30 น.วันที่ 5 กรกฎาคม ที่ห้องประชุมคุณปลื้มจิตต์ กนิษฐสุต สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา คุณหญิงเอื้อปรานี เจียรวนนท์ ประธานมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี นพ.ปรีชา ศตวรรษธำรง รองประธานมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยาในพระราชูปถัมภ์ฯนพ.ธรณินทร์ กองสุข รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา นายประพาฬพงษ์ มากนวล รองผู้อำนวยการกิจกรรมองค์กรเพื่อสังคม บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ร่วมแถลงข่าว โครงการ 130 ปี หลังคาแดง ชวนประกวดหนังสั้น “ภาวะซึมเศร้า” เนื่องในโอกาสครบรอบ 130 ปีของสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยาในปี 2562 โดยมีเนื้อหาเชิงส่งเสริมสุขภาพจิตและสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของการช่วยเหลือผู้ป่วยภาวะโรคซึมเศร้าและจะนำผลงานผู้ชนะเผยแพร่ทางรายการ 130 ปีหลังคาแดงทางสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5

 

Advertisement

คุณหญิงเอื้อปรานี กล่าวว่า สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา ร่วมกับมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา ในพระราชูปถัมภ์ฯ สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด และเครือข่ายพันมิตร 8 องค์กร ร่วมจัดโครงการ 130 ปีหลังคาแดง ชวนประกวดหนังสั้นภาวะซึมเศร้า ซึ่งเป็นอีกกิจกรรมของมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยาฯ เนื่องในโอกาสครบรอบ 130 ปี พร้อมจัดรายการพิเศษ 130 ปีหลังคาแดงออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 ในวันที่ 3 กันยายน 2562 นอกจากนี้ ทางมูลนิธิยังได้จัดกิจกรรมเพื่อหารายได้สมทบทุนสร้างอาคารผู้ป่วยจิตเวช เนื่องจากเป็นโรงพยาบาลเก่าแก่ อาคารผู้ป่วยจึงมีสภาพชำรุดทรุดโทรม มีขนาดเล็กและมีสภาพแออัด ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างอาคารเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อใช้บำบัดรักษาผู้ป่วยนอกระลบประสาท ผู้ป่วยในจิตเวชสูงอายุ เป็นอาคารสูง 12 ชั้น โดยใช้งบประมาณก่อสร้างรวมทั้งสิ้น 600 ล้านบาท ซึ่งเริ่มก่อสร้างตั้งแต่เดือนเมษายน 2561 ที่ผ่านมา

Advertisement

“สำหรับสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา เดิมชื่อ โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา เป็นโรงพยาบาลจิตเวชแห่งแรกของประเทศไทย ก่อตั้งเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2432 โดยพระมหากรุณาธิคุณแห่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อให้บริการแก่ประชาชนผู้ป่วยด้วยโรคจิตเวช โรคสมองระบบประสาท และผู้มีปัญหาสุขภาพจิตต่อเนื่องยาวนานมาจนถึงปัจจุบันเป็นเวลาถึง 130 ปี รวมถึงเป็นสถาบันการสอนและฝึกอบรมจิตแพทย์และพยาบาลจิตเวชแห่งแรกของประเทศไทย ทว่าผู้ที่เข้ารับบริการส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยจิตเวชที่มีอาการทางจิตรุนแรง เรื้อรัง ฐานะยากจน ญาติที่ยากจนมักทิ้งผู้ป่วยไว้ในโรงพยาบาล ดังนั้น การดูแลผู้ป่วยลำพังงบประมาณจากทางราชการอย่างเดียวไม่พอ จึงได้ก่อตั้งมูลนิธิมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้าได้ทรงพระเมตตารับมูลนิธิไว้ในพระราชูปถัมภ์” คุณหญิงเอื้อปรานี กล่าว

นพ.ปรีชา กล่าวว่า โครงการ 130 ปีหลังคาแดง ชวนประกวดหนังสั้นภาวะซึมเศร้า เพื่อต้องการให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาสุขภาพจิต ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นในทุกกลุ่มวัย รวมถึงเพื่อเปิดรับความคิดคนรุ่นใหม่ และเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมในงานส่งเสริมสุขภาพจิตและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตประชาชน พร้อมอยากให้สังคมปัจจุบันไม่กลัวโรคจิต อยากให้เข้าใจผู้ป่วย ซึ่งโรคดังกล่าวเป็นโรคที่รักษาไม่หาย เกิดจากเคมีในร่างกายผิดปกติ ผู้ป่วยมีความคิดเบี่ยงเบนจากคนทั่วไป หากได้รับความกดดันก็จะมีอาการทางโรคจิต เมื่อเป็นโรคดังกล่าวในระยะเวลานานจะเกิดภูมิคุ้มกันต่ำ นำมาสู่การเกิดโรคอื่น ซึ่งการมีสุขภาพจิตไม่ดีล้วนส่งผลกระทบในหลากหลายด้าน ส่งผลกระทบต่อการทำงาน เช่นเดียวกับเจ้าขององค์กร หากมีสุขภาพจิตไม่ดีจะทำให้องค์กรลำบาก ส่งผลกระทบต่อคนในองค์กร ทั้งนี้ ปัญหาสุขภาพจิตเป็นภาระและทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ โดยการรักษาผู้ป่วยให้หายจะช่วยลดความสูญเสียดังกล่าว

นพ.ธรณินทร์ กล่าวว่า ปัจจุบันคนไทยป่วยเป็นโรคซึมเศร้า โดยตนได้คลุกคลีกับโรคดังกล่าวมากว่า 15 ปี ซึ่งในอดีตคนไทยยังไม่รู้จักโรคซึมเศร้า รู้จักเพียงแต่โรคจิต โรคประสาทเท่านั้น ในปี 2551 ได้รับงบวิจัยเพื่อสำรวจโรคซึมเศร้าทั่วประเทศ จากตัวอย่าง 19,000 คน พบป่วยเป็นซึมเศร้าร้อยละ 2.7 หรือใน 100 คนจะมีผู้ป่วยซึมเศร้า 2-3 คน คาดว่าคนไทยป่วยเป็นซึมเศร้า 1.5 ล้านคน และในปีต่อมาได้สำรวจพบคนป่วยซึมเศร้าในอัตราผู้ป่วยไม่แตกต่าง อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบกับต่างประเทศพบมีอัตราป่วยมากกว่าคนไทยถึงร้อยละ 10 ส่วนการบำบัดรักษาพบคนไทยได้รับการรักษาอย่างถูกต้องเพียงร้อยละ 3 ส่วนที่เหลือพบผู้ป่วยมีการฆ่าตัวตาย โดยพบผู้ป่วยซึมเศร้ามีความเสี่ยงร้อยละ 20 ในการฆ่าตัวตาย ซึ่งยังพบว่าเป็นสาเหตุแรกที่นำไปสู่การฆ่าตัวตาย

นพ.ธรณินทร์ กล่าวว่า หญิงไทยป่วยซึมเศร้ามากกว่าผู้ชาย 1.7 เท่าและก่อให้เกิดความสูญเสียสุขภาวะเป็นอันดับ 3 รองจากโรคหลอดเลือดสมองและโรคเบาหวาน ทำให้ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ทุ่มงบประมาณในการช่วยเหลือผู้ป่วยโรคซึมเศร้า สาเหตุของโรคเกิดจากสารเคมีบางตัวถ้าน้อยลงในสมองของเราจะทำให้อารมณ์ของเราไม่สดชื่น หรือสารเคมีในสมองเสียความสมดุล และปัญหาต่างๆ จะกระตุ้นให้สารเคมีเปลี่ยน รวมถึงการติดสุราและสารเสพติดเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดซึมเศร้าด้วย

“โดยคนไทยป่วยซึมเศร้ามาก แต่รักษาอย่างถูกต้องน้อยมาก สาเหตุที่ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเข้ารับการรับการรักษาน้อย เนื่องจากขาดความรู้ ความเข้าใจและสังคม ครอบครัวยังอคติ ปีนี้ผู้ป่วยซึมเศร้าเข้าถึงการรักษาร้อยละ 61 ส่วนจำนวนผู้ป่วยที่มารักษาหลังคาแดงพบจำนวน 4,388 ราย ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และสำรวจพบว่ามีผู้ป่วยซึมเศร้าในพื้นที่กรุงเทพฯ กว่าแสนราย อย่างไรก็ตาม โรคซึมเศร้าสามารถรักษาให้หายได้ด้วยการทานยาอย่างต่อเนื่อง แต่คนไทยนิยมทานยาในช่วง 2-3 แรกเท่านั้น หลังจากที่มีอาการดีขึ้นก็หยุดทานยา จึงจำเป็นต้องให้ความรู้และความเข้าใจเพิ่มเติมเกี่ยวกับการทานยารักษาอย่างต่อเนื่อง” นพ.ธรณินทร์ กล่าว

นายประพาฬพงษ์ กล่าวว่า ปัญหาสุขภาพจิตยังเป็นปัญหาทางสังคมที่ควรได้รับการรับรู้จากสังคมเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะความเข้าใจในโรคซึมเศร้า ตลอดจนการรักษา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image