สวรส.ชี้ ‘ควันบุหรี่’ ต้นเหตุหลักเด็กก่อนวัยเรียนเข้า-ออก รพ.ถี่

นักวิจัย สวรส.เผยผลศึกษา “เด็กก่อนวัยเรียน” มีภาวะหอบเฉียบพลัน 45% เพราะ “ควันบุหรี่” ในบ้าน ต้องเข้าฉุกเฉิน รพ.ซ้ำถึง 67% แอดมิด 32% เฉลี่ย 1 ราย ต้องใช้เงินรักษา 20,269 บาท รวมทั้งประเทศ 779 ล้านบาท แนะครอบครัวเลี่ยงปัจจัยกระตุ้น

เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม รศ.นพ.ภาสกร ศรีทิพย์สุโข ศูนย์แห่งความเป็นเลิศทางวิชาการด้านระบาดวิทยาประยุกต์ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ในฐานะเครือข่ายนักวิจัยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) เปิดเผยว่า ควันบุหรี่เป็นต้นเหตุการทำร้ายคนในบ้าน โดยเฉพาะเด็ก แม่บ้าน ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่างๆ ที่จะทำให้ฟื้นตัวได้ช้า หรืออาการป่วยแย่ลง จากการวิจัยเรื่องภาระทางเศรษฐศาสตร์และการพยากรณ์โรคของเด็กก่อนวัยเรียน หรือเด็กอายุ 6 เดือน ถึง 5 ขวบ จำนวน 240 คน ที่มีภาวะหอบเฉียบพลันและฟังปอดพบเสียงวีด หรือโรคหอบหืด ซึ่งเกิดจากความไวผิดปกติของหลอดลมต่อสิ่งกระตุ้น ทำให้ท่อทางเดินหายใจตีบแคบ หายใจลำบาก ไอ หายใจถี่ มีเสียงวีด แน่นหน้าอก พบว่า ในระยะ 1 ปี เด็กกลุ่มดังกล่าวต้องกลับเข้าโรงพยาบาลฉุกเฉินซ้ำจากภาวะหอบเฉียบพลันมากถึงร้อยละ 67.5 และจำเป็นต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลร้อยละ 32.3

รศ.นพ.ภาสกร กล่าวว่า ผลลัพธ์ทางคลินิกพบว่า การเข้าโรงพยาบาลของเด็กมีความสัมพันธ์กับผู้ป่วยมีประวัติหอบเหนื่อยมีเสียงวีดมาก่อน ผู้ป่วยมีภาวะแพ้โปรตีนนมวัว ภาวะพร่องวิตามินดี แต่มีข้อค้นพบที่น่าสนใจหนึ่งคือ พบว่า ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ ซึ่งนำไปสู่การเข้ารับการรักษาฉุกเฉินของเด็กคือ สภาวะแวดล้อมของผู้ป่วยและครอบครัวอันเป็นผลจากควันบุหรี่ภายในบ้าน โดยมีการสูบบุหรี่ในบ้านมากถึงร้อยละ 45 ซึ่งบุหรี่ 1 มวน มีสารพิษกว่า 4,000 ชนิด เช่น คาร์บอนมอนอกไซด์ ซึ่งเป็นตัวทำลายเม็ดเลือดแดงไม่ให้จับออกซิเจนได้เท่าเวลาปกติ ส่งผลให้ขาดออกซิเจน มึนงง เหนื่อย หอบง่าย ทาร์ทำให้ไอเรื้อรังและมีเสมหะ อะซีโตนมีผลต่อระบบหายใจ ระคายเคืองในเยื่อบุทางเดินหายใจ รู้สึกเวียนศีรษะ เป็นพิษต่อปอดและตับ พอโลเนียมเป็นสารกัมมันตรังสี ส่งผลให้เกิดโรคมะเร็งปอด และเป็นสารร้ายแรงที่จะแพร่ไปยังคนใกล้ชิดได้ด้วย เป็นต้น

“การวิจัยยังได้ประเมินต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์ของเด็กที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลด้วยภาวะหอบเฉียบพลัน พบว่า ต้นทุนเฉลี่ยของการรักษาผู้ป่วยเด็ก 1 ราย เท่ากับ 20,269 บาท เกิดจากการรักษาก่อนไปโรงพยาบาล ระหว่างนอนหรือรักษาตัวในโรงพยาบาล และหลังออกโรงพยาบาล โดยการเข้าโรงพยาบาลของผู้ป่วยเด็กทั้งประเทศคิดเป็นค่าใช้จ่ายราว 779 ล้านบาท” รศ.นพ.ภาสกร กล่าวและว่า นอกจากนี้ ภาวะหอบเฉียบพลันในเด็ก ยังมีปัจจัยกระตุ้นให้เกิดอาการหอบหืดตามมาได้อีกจากไรฝุ่น ขนสัตว์ ละอองเกสร มลพิษในอากาศ อาหารทะเล ถั่ว ไข่นม

Advertisement

รศ.นพ.ภาสกร กล่าวว่า ดังนั้นผู้ปกครองจึงต้องเฝ้าระวังสิ่งเหล่านี้ให้กับบุตรหลานด้วย ตลอดจนใช้ยาควบคุมการอักเสบของหลอดลมตามแพทย์สั่ง และจัดการสภาพแวดล้อมในบ้านให้ปราศจากควันบุหรี่ ซึ่งจะช่วยลดปัญหาภาวะหอบเฉียบพลันในลูกหลาน และลดปัจจัยเสี่ยงโรคไม่ติดต่อเรื้อรังอื่นๆ อีก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image