บอร์ดค่าจ้างจ่อนัดถก”ค่าแรงขั้นต่ำปี’62” ลูกจ้างจับตารบ. ขึ้น400บาท แนะให้แยกประเด็น

บอร์ดค่าจ้างจ่อนัดถก “ค่าแรงขั้นต่ำประจำปี’62” ลูกจ้างจับตารัฐบาล ขึ้น400 บาท แนะให้แยกประเด็น

เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม นายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย (สพท.) กล่าวถึงกรณีรัฐบาลประกาศว่าจะขึ้นค่าจ้างเป็น 400 บาท ว่า หากพูดถึงเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำจะมีผู้ใช้แรงงาน 3 กลุ่มที่ได้รับผลกระทบ คือ 1.กลุ่มอาชีพอิสระประมาณ 30 ล้านคน 2.กลุ่มลูกจ้างส่วนราชการประมาณ 1 ล้านคน และ 3.กลุ่มลูกจ้างสถานประกอบการรายย่อย (เอสเอ็มอี) ประมาณ 2 ล้านคน ทั้งนี้เสนอว่าในส่วนของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำประจำปี ที่คณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) แบบไตรภาคีต้องพิจารณาให้ปรับเป็นอัตราค่าจ้างแรกเข้า เพื่อใช้กับกลุ่มที่เพิ่งเข้าทำงานและยังไม่มีฝีมือ ในส่วนของลูกจ้างที่ทำงานมาก่อนนั้น ให้จัดทำอัตราค่าจ้างตามประสบการณ์ อายุงาน และผลงาน เพื่อให้กลุ่มนี้มีความก้าวหน้าในรายได้ และอีกด้านหนึ่งคือ จัดทำค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน

“กรณีค่าจ้างขั้นต่ำนั้น ควรให้เป็นเรื่องของไตรภาคี ส่วนรัฐบาลควรพิจารณาในภาพรวม อาทิ เรื่องโครงสร้างค่าจ้าง ภาพรวมเศรษฐกิจ แผนรองรับในกรณีสถานประกอบการปิดกิจการ หรือเลิกจ้าง เป็นต้น

ด้านนายสมพร ขวัญเนตร ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่า เรื่องค่าจ้างนั้นต้องแยกเป็น 2 ประเด็น คือ 1.อัตราค่าจ้างขั้นต่ำประจำปี ซึ่งเป็นการพิจารณาของไตรภาคี ประกอบด้วยตัวแทนฝ่ายนายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐบาล ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าปีนี้จะประกาศขึ้นในอัตราเท่าใด แต่ที่ผ่านมา หลายพรรคการเมืองได้หาเสียงไว้ว่าจะขึ้นให้เฉลี่ยวันละ 400 บาท ดังนั้นวันนี้ต้องจับตามองว่าพรรคการเมืองที่ได้เป็นรัฐบาลจะดำเนินการตามที่สัญญาไว้กับประชาชนหรือไม่
“อย่างไรก็ตาม เรื่องค่าจ้างขั้นต่ำนั้น เป็นเพียงค่าจ้างแรกเข้าของผู้ใช้แรงงาน แต่ยังมีผู้ใช้แรงงานที่มีประสบการณ์อีกจำนวนมากที่จะต้องเร่งพิจารณาว่าควรขึ้นให้กลุ่มนี้อย่างไร ไม่ใช่ให้เขาได้เท่ากับคนที่เข้ามาใหม่ ซึ่งเรื่องนี้ทั้งพรรคการเมืองและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจะต้องทำให้ชัดเจน” นายสมพร กล่าว

Advertisement

นอกจากนี้ นายสมพร กล่าวว่า 2.การปรับอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน เรื่องนี้ฝ่ายผู้ใช้แรงงานเห็นด้วยเช่นกัน แต่เสนอว่าควรจะจัดทำให้ครอบคลุมทุกสาขาอาชีพ ทั้งการพัฒนาฝีมือแรงงาน และการกำหนดอัตราค่าจ้างที่ชัดเจน เพื่อให้สถานประกอบการหรือนายจ้างถือปฏิบัติให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน และทั้งสองประเด็นนี้ฝ่ายผู้ใช้แรงงานจะต้องผลักดันกันต่อไป

ผู้สื่อข่าวถามว่า คิดเห็นอย่างไรกับการที่ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน จะเข้ามาขับเคลื่อนในเรื่องนี้ นายสมพร กล่าวว่า ใครๆ ก็รู้ว่าท่านเป็นคนอย่างไร ก็ต้องให้ท่านทำงาน และดูกันไปก่อน แต่ในส่วนของผู้ใช้แรงงานก็ยืนยันว่าจะทำหน้าที่ผลักดันกันต่อไป

วันเดียวกัน นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) กล่าวถึงการพิจารณาขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ว่า ในเร็วๆ นี้ จะมีการประชุมบอร์ดค่าจ้างเพื่อพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งขณะนี้คณะอนุกรรมการค่าจ้างฝ่ายวิชาอยู่ระหว่างทบทวนรายละเอียดเสนอให้บอร์ดค่าจ้างพิจารณา ทั้งนี้การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจะดำเนินการควบคู่ไปกับการจัดทำค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน ซึ่งก่อนหน้านี้มีการดำเนินการบ้างแล้ว แต่ยังไม่ครอบคลุม จากนี้ไปจะทำเพิ่มเติมเพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ของโลก

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image