กทม.จัดงานสัปดาห์เผยแผ่พระพุทธศาสนา เนื่องในวันอาสาฬหบูชา-เข้าพรรษา 

เมื่อเวลา 07.00 น.วันที่ 16 กรกฎาคม นายทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นประธานพิธีทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ 68 รูป ในงานสัปดาห์เผยแผ่พระพุทธศาสนา เนื่องในวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา ประจำปี 2562 ถวายเป็นพุทธบูชา และถวายเป็นพระราชกุศล แด่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยมีคณะผู้บริหาร กทม. นางวัลยา วัฒนรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักวัฒนธรรม กีฬาและการทองเที่ยว กทม. ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ร่วมพิธีที่ศาลาการเปรียญ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ เขตพระนคร

นายทวีศักดิ์ เปิดเผยว่า กทม.ร่วมกับวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ และหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนจัดงานสัปดาห์เผยแผ่พระพุทธศาสนา เนื่องในวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา ประจำปี 2562 ระหว่างวันที่ 10-17 กรกฎาคม ณ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ภายในงานมีกิจกรรมสำคัญ ได้แก่ กิจกรรมเทศน์มหาชาติเวสสันดรชาดก ระหว่างวันที่ 10-15 กรกฎาคม เวลา 14.00-15.00 น. ที่ศาลาการเปรียญ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ซึ่งกรุงเทพมหานครร่วมเป็นเจ้าภาพเทศน์มหาชาติกัณฑ์ที่ 13  “กัณฑ์นครกัณฑ์” กัณฑ์สุดท้ายของการเทศน์มหาชาติ พิธีทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ 68 รูป เนื่องในวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา ประจำปี 2562

นายทวีศักดิ์กล่าวว่า สำหรับวันอาสาฬหบูชา เป็นวันสำคัญยิ่งทางพระพุทธศาสนา ด้วยมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้น 3 ประการ ประการแรก เป็นวันที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา “ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร โปรดปัญจวัคคีย์ ทั้ง 5 โดยมีใจความสำคัญคือ อริยสัจ 4 อันหมายถึงความจริงอันประเสริฐ 4 ประการ ได้แก่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค ประการที่สอง เป็นวันที่มีพระสงฆ์เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในโลก และประการสุดท้าย เป็นวันที่มีพระรัตนตรัยครบองค์ 3 คือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์  จึงเป็นการสมควรที่พุทธศาสนิกชนชาวไทยจะได้ร่วมกันปฏิบัติศาสนกิจและน้อมนำหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา มาใช้เป็นแนวทางปฏิบัติในการดำเนินชีวิตประจำวัน

Advertisement

นายทวีศักดิ์กล่าวว่า ทั้งนี้ ขอเชิญชวนพุทธศาสนิกชนร่วมแสดงตนเป็นพุทธมามกะ ลด ละ เลิกอบายมุข ปฏิบัติตนตามพระบรมราโชวาท คุณธรรม 4 ประการ ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่พระราชทานแก่ประชาชนชาวไทย เมื่อคราวสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี  ประกอบด้วย ประการที่ 1 คือการรักษาความสัจ ความจริงใจ ต่อตนเองที่จะประพฤติปฏิบัติ แต่สิ่งที่เป็นประโยชน์และเป็นธรรม ประการที่ 2 คือ การรู้จักข่มใจตนเอง ฝึกใจตนเอง ให้ประพฤติปฏิบัติตนอยู่ในความสัจความดีนั้น ประการที่ 3 คือ การอดทน อดกลั้น และอดออม ที่จะไม่ประพฤติล่วงความสัตย์สุจริต ไม่ว่าจะด้วยเหตุประการใด และประการที่ 4 คือ การรู้จักละวางความชั่ว ความทุจริต และรู้จักเสียสละประโยชน์ส่วนน้อยของตน เพื่อประโยชน์ ส่วนใหญ่ของบ้านเมือง รวมทั้งดำเนินชีวิตตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ทั้งนี้เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา และถวายเป็นพระราชกุศล แด่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวต่อไป

Advertisement


QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image