แล้งหนักมาก 16 เขื่อนใหญ่ น้ำไม่เข้าเลย บางพื้นที่ของ จ.พิจิตร ฝนไม่ตกตั้งแต่ปีใหม่

บางพื้นที่ของ จ.พิจิตร ฝนไม่ตกเลยตั้งแต่ปีใหม่ เขื่อนป่าสักน้ำไหลลงแค่ 1 ล้าน ลบ.ม. เทียบกับปี 61 ครึ่งปีแรก 279 ล้าน ลบ.ม.

วันที่ 20 กรกฎาคม นายสุทัศน์ วีสกุล ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ(องค์การมหาชน)(สสน.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม(อว.) กล่าวว่า ตั้งแต่ต้นปี 2562 ถึงปัจจุบัน ภาพรวมเรื่องปริมาณน้ำฝนในประเทศไทยถือว่าน้อยกว่าค่าปกติมาก โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มีปริมาณน้ำฝนน้อยกว่าปกติถึง 144 และ 150 มิลลิเมตร ตามลำดับ รวมทั้ง น้อยกว่าปี 2561 ถึง 200-300 มิลลิเมตร สาเหตุคือ ต้นน้ำของเขื่อนสำคัญยังมีฝนไม่มากพอ ทำให้น้ำไหลลงเขื่อนน้อยมาก โดยพบว่า เวลานี้ อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศ ที่มีน้ำเก็บกักต่ำกว่า 30% ของความจุ มีถึง 17 แห่งด้วยกัน จากเขื่อนใหญ่ทั้งหมด 35 แห่ง ได้แก่ 1.เขื่อนแม่งัด มีน้ำ 29% 2.เขื่อนแม่กวงอุดมธารา มีน้ำ 17% 3.เขื่อนแควน้อย มีน้ำ 16% 4.เขื่อนลำปาว มีน้ำ 26% 5.เขื่อนลำพระเพลิง มีน้ำ 15% 6.เขื่อนอุบลรัตน์ มีน้ำ 24% 7.เขื่อนจุฬาภรณ์ มีน้ำ 28% 8.เขื่อนห้วยหลวง มีน้ำ 22% 9.เขื่อนลำนางรอง มีน้ำ 23% 10.เขื่อนมูลบน มีน้ำ 29% 11.เขื่อนน้ำพุง มีน้ำ 20% 12.เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีน้ำ 5% 13.เขื่อนทับเสลา มีน้ำ24% 14.เขื่อนกระเสียว มีน้ำ 23% 15.เขื่อนคลองสียัด มีน้ำ 13% 16.เขื่อนขุนด่านปราการชล มีน้ำ 15% และ 17.เขื่อนนฤบดินทร์ทรจินดา มีน้ำ 22%

ผู้อำนวยการสสน.กล่าวว่า ที่น่าตกใจก็คือ บางพื้นที่ใน จ.พิจิตรนั้น ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึงปัจจุบัน ฝนยังไม่ตกเลย และบางพื้นที่ ของ จ.ขอนแก่น บุรีรัมย์ ฝนไม่ตกติดต่อกันมาแล้วกว่า 100 วันด้วยกัน สำหรับเขื่อนขนาดใหญ่ เช่นเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ซึ่งปี 2561 นั้น ตั้งแต่ต้นปี ถึงกลางปี มีน้ำไหลเข้าเขื่อนประมาณ 279 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) แต่สำหรับปีนี้ ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน มีน้ำไหลลงเขื่อนแค่ 1 ล้าน ลบ.ม.เท่านั้นเอง หรือ ตลอดเวลาตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันแทบจะไม่มีน้ำไหลลงเขื่อนเลย

นายสุทัศน์ กล่าวว่า ภาพรวมของน้ำฝนในพื้นที่ภาคเหนือนั้น พบว่า บางพื้นที่มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยตั้งแต่ต้นปีคือ 200 มิลลิเมตร เท่านั้น ในขณะที่ปี 2561 ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยช่วงกลางปี จะอยู่ที่ 400-500 มิลลิเมตรด้วยกัน ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยในปีนี้ตั้งแต่ต้นปี ถึงปัจจุบันอยู่ที่ 200 มิลลิเมตร ขณะที่ปี 2561 นั้น ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยช่วงครึ่งปี จะอยู่ที่ 600 มิลลิเมตร นั่นคือ ปริมาณน้ำฝนลดลงไปกว่าครึ่งทีเดียว แม้แต่ จ.ปราจีนบุรี ซึ่งขึ้นชื่อว่าฝนตกชุกและต่อเนื่องตลอด ปรากฏว่า ในปีนี้ ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยอยู่ที่ 500 มิลลิเมตรเท่านั้น ขณะที่ปี 2561 ปริมาณน้ำฝนมีมากถึง 1,000 มิลลิเมตร ด้วยกัน ส่วนพื้นที่กรุงเทพมหานคร นั้น ปริมาณน้ำฝนสะสมต้นปี จนถึงปัจจุบัน อยู่ที่ 433 มิลลิเมตร เทียบกับปี 2561 ที่ปริมาณน้ำฝนช่วงต้นปี จะอยู่ที่ 754 มิลลิเมตร นั่นคือ ปริมาณน้ำฝนหายไปเกือบครึ่งเช่นเดียวกัน

Advertisement

สำหรับการคาดการณ์สถานการณ์ฝนในช่วงเดือนกรกฎาคม ถึงเดือนกันยายน โดยแบบจำลองสภาพอากาศ(วาฟ-รอม) ของ สสน.นั้น ระบุว่า ประเทศไทยจะมีปริมาณฝนน้อยกว่าค่าปกติ เนื่องจากดัชนีเอนโซ่ ยังคงสภาวะเอลนีโญกำลังอ่อน ทั้งนี้สถานการณ์ฝน ในช่วงเดือนกรกฎาคม ถึงเดือนกันยายน คาดว่ามีแนวโน้มคล้ายกับปี 2550 นั่นคือ เดือนกรกฎาคม ประเทศไทยตอนบรจะมีฝนตกน้อยกว่าปกติ โดยเฉพาะภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เดือนสิงหาคม ภาคเหนือและภาคกลางโดยส่วนใหญ่ จะมีฝนตกน้อยกว่าค่าปกติ ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะมีฝนตกเพิ่มมากขึ้น และเดือนกันยายนประเทศไทยตอนบนจะมีฝนตกเพิ่มมากขึ้น แต่อาจจะมีฝนตกน้อยกว่าค่าปกติในภาคกลางและภาคตะวันออก

สำหรับปริมาณน้ำที่ไหลลงเขื่อน ขนาดใหญ่นั้น พบว่า หลายเขื่อนแทบจะไม่มีน้ำไหลลงเลย เช่น เขื่อนภูมิพล เขื่อนแม่งัด เขื่อนแควน้อย เขื่อนลำพระเพลิง เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เขื่อนลำมูลบน เป็นต้น ส่วนเขื่อนอื่นๆที่น้ำไหลลงเขื่อนน้อยมากไม่ถึง 5% เช่น เขื่อนสิริกิติ์ 2.88% เขื่อนกิ่วลม 3% เขื่อนสิรินธรณ์ 0.6% เขื่อนจุฬาภรณ์ 0.27% เขื่อนแก่งกระจาน 1.29% เป็นต้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image