กรมอนามัยห่วง ‘หญิงตั้งครรภ์’ ขี้เมื่อย เตือนนวดเสี่ยงสุขภาพ แนะออกกำลังกายเบาๆ ดีที่สุด

กรณีหญิงตั้งครรภ์ 6 เดือน ใช้บริการร้านนวดแล้วเกิดช็อกหมดสติ ส่งผลให้แท้งลูก กลายเป็นเจ้าหญิงนิทราและเสียชีวิตในเวลาต่อมานั้น

เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม “พญ.พรรณพิมล วิปุลากร” อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า โดยปกติหญิงตั้งครรภ์จะมีการเปลี่ยนแปลงทางสรีระวิทยาขณะตั้งครรภ์ในช่วงอายุครรภ์ 3 เดือนแรก ดังนั้น ไม่ควรนวด เพราะการนวดจะกระตุ้นให้มดลูกบีบรัดตัว อาจทำให้แท้งได้ ส่วนอายุครรภ์ 4-6 เดือน สามารถนวดได้ แต่ต้องนวดกับผู้ที่ผ่านการอบรมแล้วเท่านั้น สำหรับหญิงที่อายุครรภ์ 6 เดือนขึ้นไป มดลูกจะไปกดเส้นเลือดดำ เส้นเลือดแดงในท้อง จึงไม่ควรนวดร้านทั่วไป แต่หากจำเป็น ควรนวดกับหมอแผนไทยที่เรียนมาไม่น้อยกว่า 800 ชั่วโมง

พญ.พรรณพิมลกล่าวว่า อย่างไรก็ตาม เพื่อความปลอดภัย หญิงตั้งครรภ์ที่มีอาการปวดเมื่อย หรือต้องการผ่อนคลายภาวะเครียดจากการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยา ควรหันมาใช้วิธีการออกกำลังกายเบาๆ แทน เพื่อช่วยเพิ่มความแข็งแรงของระบบไหลเวียนเลือด ระบบหายใจและกล้ามเนื้อ ช่วยให้นอนหลับสนิท และช่วยให้คลอดบุตรง่าย โดยหญิงตั้งครรภ์ที่ไม่เคยออกกำลังกายมาก่อนควรทำเมื่ออายุครรภ์ได้ 2 เดือน ส่วนผู้ที่มีประวัติการแท้งง่ายติดต่อกัน หากต้องการออกกำลังกาย แนะนำให้เริ่มหลังจากตั้งครรภ์ได้ 3 เดือน โดยให้เริ่มออกกำลังกายจากเบาไปหนัก หรือช้าไปเร็ว เช่น ทำงานบ้าน เดิน ฯลฯ โดยเริ่มออกกำลังกายต่อเนื่องวันละ 10-15 นาที 3 วันต่อสัปดาห์ แล้วค่อยๆ เพิ่มเวลาจนครบวันละ 30 นาที 5 วันต่อสัปดาห์ ไม่ควรหักโหม หรือออกกำลังกายติดต่อกันนานเกินไป ควรแบ่งทำเป็นช่วงๆ ละ 15 นาที

“สำหรับหญิงที่อายุครรภ์ 4 เดือนไปแล้ว ไม่ควรออกกำลังกายในท่านอนหงายนานเกิน 5 นาที หรือท่าเบ่ง หรือกลั้นหายใจ เพราะทำให้เลือดไหลกลับเข้าสู่หัวใจน้อยลงและเป็นลมได้ ควรดื่มน้ำอย่างเพียงพอระหว่างออกกำลังกาย และหลังจากออกกำลังกายทุกครั้ง ควรผ่อนคลายกล้ามเนื้อ (Cool down) ด้วยการยืดเหยียดกล้ามเนื้อ 3-5 นาที เพื่อป้องกันการหดตึงของกล้ามเนื้อที่จะส่งผลทำให้เกิดการบาดเจ็บ ที่สำคัญขณะออกกำลังกาย หากมีอาการปวดท้อง ปวดหลัง หายใจไม่ทัน เจ็บหน้าอก อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ใจสั่น หน้ามืด จะเป็นลม มีเลือดออกทางช่องคลอด ต้องหยุดออกกำลังกายในขณะนั้นทันที และควรไปพบแพทย์” พญ.พรรณพิมลกล่าว และว่า ส่วนหญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน หัวใจและหลอดเลือด ระบบทางเดินหายใจ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนออกกำลังกาย

Advertisement

ทางด้าน “นพ.อุดม อัศวุตมางกุร” ผู้อำนวยการกองกิจกรรมทางกายเพื่อสุขภาพ กล่าวเสริมว่า ก่อนออกกำลังกายทุกครั้ง หญิงตั้งครรภ์ควรมีการเตรียมความพร้อม โดยให้สังเกตร่างกายตนเองก่อน

“เน้นย้ำว่า หากมีอาการปวดท้อง อ่อนเพลีย หน้ามืดจะเป็นลม มีเลือดออกทางช่องคลอด ในวันนั้นควรเลี่ยงออกกำลังกาย หากอากาศร้อนและชื้นเกินไป ควรออกกำลังกายในระดับเบา เช่น การเดิน เป็นต้น ทั้งนี้ ควรแต่งกายให้เหมาะสมกับการออกกำลังกาย เช่น สวมใส่รองเท้าผ้าใบเพื่อรองรับน้ำหนัก ลดแรงกระแทก ใส่กางเกงพยุงท้อง สวมใส่เสื้อผ้าที่ไม่รุ่มร่าม ใส่สบายเพื่อป้องกันการหกล้ม และก่อนออกกำลังกายทุกครั้ง ควรอบอุ่นร่างกายโดยการยืดเหยียดกล้ามเนื้อ (Warm up) ครั้งละ 3-5 นาที และไม่ควรกินอาหารมื้อหนักก่อนออกกำลังกาย 2 ชั่วโมง เพื่อหลีกเลี่ยงเกิดการจุกเสียดแน่นท้อง” นพ.อุดมกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image