กรมควบคุมโรคเปลี่ยนยารักษา ‘ไข้มาลาเรีย’ ขนานแรกใน จ.ศรีสะเกษ-อุบลฯ หลังพบอัตราการรักษาหายขาดต่ำกว่าเกณฑ์อนามัยโลก

เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคมาคม นพ.อัษฏางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีและโฆษกกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีที่วารสารทางการแพทย์ได้เผยแพร่ข้อมูลว่า ในหลายพื้นที่ในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาทิ เวียดนาม กัมพูชา และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อปรสิตพลาสโมเดียม ที่ดื้อต่อยารักษามาลาเรีย 2 ชนิด ที่มีการใช้รักษาโรคไข้มาลาเรียในปัจจุบันว่า ล่าสุด กรมควบคุมโรคได้มีการเปลี่ยนยารักษาโรคไข้มาลาเรียขนานแรกในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย คือ จ.ศรีสะเกษ และ จ.อุบลราชธานี และดำเนินการเฝ้าระวังเชื้อมาลาเรียดื้อยาอย่างใกล้ชิด

“ทั้งนี้ ข้อมูลจากกองโรคติดต่อนำโดยแมลง ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 22 กรกฏาคม 2562 พบรายงานผู้ป่วยโรค ไข้มาลาเรีย 3,279 ราย ในจำนวนนี้พบเป็นคนไทย 2,345 ราย คิดเป็นร้อยละ 72 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2561 ณ ช่วงเวลาเดียวกันที่พบผู้ป่วย 4,243 ราย พบว่าจำนวนผู้ป่วยลดลงร้อยละ 23 จังหวัดที่พบผู้ป่วยสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ตาก ยะลา และกาญจนบุรี ส่วนชนิดของเชื้อที่พบส่วนใหญ่ คือ เชื้อไวแวกซ์ ร้อยละ 82 และฟัลซิปารัม ร้อยละ 14 สำหรับพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชา ที่พบรายงานเชื้อมาลาเรียดื้อยา ได้แก่ จ.ศรีสะเกษ พบผู้ป่วย 127 ราย ลดลงร้อยละ 76 ณ ช่วงเวลาเดียวกันของปี 2561 เช่นเดียวกับ จ.อุบลราชธานี ที่พบผู้ป่วย 98 ราย ลดลงร้อยละ 71” นพ.อัษฎางค์ กล่าว

นอกจากนี้ นพ.อัษฏางค์ กล่าวต่อไปว่า จากข้อมูลการเฝ้าระวังประสิทธิภาพยารักษาโรคไข้มาลาเรีย ปี 2561 พบว่าประสิทธิภาพของการรักษาผู้ป่วยมาลาเรียฟัลซิปารัมที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อนด้วยยาไดไฮโดรอาร์ติมิซินิน-ไปเปอร์ราควิน(DHA-PPQ) ในภาพรวมของประเทศมีอัตราการรักษาหายขาด คิดเป็นร้อยละ 94.7 แต่ใน จ.ศรีสะเกษ และ จ.อุบลราชธานี พบการรักษาหายขาด เพียงร้อยละ 81.8 และ ร้อยละ 90 ตามลำดับ ซึ่งน้อยกว่าเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก ที่ต้องมากกว่าร้อยละ 90

“จากการประชุมคณะกรรมการนโยบายและแนวทางการใช้ยารักษามาลาเรีย เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2562 นั้น มีมติให้เปลี่ยนยารักษาโรคไข้มาลาเรียขนานแรก สำหรับรักษามาลาเรียฟัลซิปารัมที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อน จากยาไดไฮโดรอาร์ติมิซินิน-ไปเปอร์ราควิน ร่วมกับไพรมาควิน เป็นยาอาร์ติซูเนต-ไพโรนาริดีน ร่วมกับยาไพรมาควิน เฉพาะใน จ.ศรีสะเกษ และ จ.อุบลราชธานี สำหรับในพื้นที่อื่นของประเทศไทย ยังคงใช้ยารักษาสูตรเดิม คือ ยาไดไฮโดรอาร์ติมิซินิน-ไปเปอร์ราควิน ร่วมกับไพรมาควิน และได้ดำเนินการเฝ้าระวังเชื้อมาลาเรียดื้อยา และเพิ่มศักยภาพและความครอบคลุมของการให้บริการ ตามยุทธศาสตร์การกำจัดโรคไข้มาลาเรียประเทศไทย พ.ศ.2560-2569” นพ.อัษฎางค์ กล่าว

Advertisement

นพ.อัษฎางค์ กล่าวอีกว่า สำหรับมาตรการกำจัดเชื้อมาลาเรียดื้อยาของประเทศไทย ประกอบด้วย 1.การแลกเปลี่ยนข้อมูล สถานการณ์โรคไข้มาลาเรียระหว่างประเทศ 2.เพิ่มศักยภาพประเทศเพื่อนบ้านในการกำจัดโรคไข้มาลาเรีย 3.มีระบบการเฝ้าระวังเชื้อมาลาเรียดื้อยา และเพิ่มศักยภาพและความครอบคลุมของการให้บริการ 4.การควบคุมยุงพาหะ โดยพ่นสารเคมี และสนับสนุนอุปกรณ์ป้องกันยุงพาหะสำหรับประชาชนในพื้นที่ที่มีเชื้อมาลาเรียอย่างใกล้ชิด โดยได้รับความร่วมมือจากโครงการกองทุนโลกด้านมาลาเรีย (Global fund: RAI2E) องค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐ (USAID) และกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงต่างประเทศ (TICA) และได้รับการสนับสนุนทางวิชาการจากองค์การอนามัยโลก มหาวิทยาลัย และเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศ

นพ.อัษฎางค์ กล่าวว่า เพื่อป้องกันป่วยเป็นโรคดังกล่าว ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยง หรือผู้ที่เดินทางไปในพื้นที่เสี่ยง ควรป้องกันตนเองจากยุงกัด โดยการสวมเสื้อผ้าให้มิดชิด นอนในมุ้ง หรือห้องที่มีมุ้งลวด ทายากันยุง เป็นต้น หากมีอาการไข้สูง ปวดศีรษะ หนาวสั่น ภายหลังกลับจากป่า ขอให้รีบไปพบแพทย์ทันที หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

ทั้งนี้ โรคไข้มาลาเรีย (Malaria) คือ โรคที่เกิดจากเชื้อโปรโตซัว ที่แพร่สู่ร่างกายคนจากการถูกยุงก้นปล่องเพศเมียกัด ผู้ป่วยจะมีอาการแตกต่างกันตามชนิดของเชื้อ แต่โดยรวมคือ มีไข้สูง หนาวสั่น เหงื่อออกมาก ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ท้องเสีย โลหิตจาง เป็นต้น โดยมักพบโรคนี้ในเขตที่มีภูมิอากาศร้อนชื้นและมีแหล่งน้ำขังตามธรรมชาติมาก ซึ่งเป็นที่อาศัยของยุงก้นปล่องที่เป็นพาหะนำโรค อย่างไรก็ตาม อาการของมาลาเรียจะไม่รุนแรงและบางอาการระบุโรคได้ยาก เพราะมีความคล้ายคลึงกับโรคอื่นๆ ดังนั้น ผู้ที่อาศัยหรือเดินทางไปยังที่ที่มีการระบาด โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการไข้สูงหรือมีอาการของมาลาเรียอื่นๆ ควรไปพบแพทย์โดยเร็ว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image