สพฉ.เร่งสอบข้อเท็จจริง “รพ.เอกชน” ปฏิเสธการรักษา ชี้เบื้องต้นคนไข้เข้าข่ายฉุกเฉินวิกฤต

เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม นพ.สัญชัย ชาสมบัติ รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวถึงกรณีมีการนำเสนอข่าวโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ปฏิเสธการรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตและให้เหตุผลกับญาติผู้ป่วยว่าจะต้องวางเงินสด 100,000 บาท จึงจะทำการรักษาให้ ซึ่งต่อผู้ป่วยรายดังกล่าวเสียชีวิต ว่า นโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่” หรือยูเซป (Universal Coverage for Emergency Patients: UCEP) นั้น ผู้ป่วยที่เข้าข่ายใช้สิทธิ UCEP จะต้องเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตที่มีอาการเกิดขึ้นกะทันหัน เช่น เกิดอุบัติทางถนน, เส้นเลือดในสมองตีบ, มีอาการอัมพฤกษ์อัมพาต, มีอาการเจ็บแน่นหน้าอก, ตกต้นไม้แขนขาหัก, จมน้ำ, ถูกงูพิษกัด แต่ไม่ใช่โรคที่เป็นมานานอย่างโรคเบาหวาน ความดัน ไขมันเรื้อรัง

“สำหรับกรณีนี้ สพฉ.และกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ตั้งทีมสอบสวนและได้ลงไปเก็บข้อมูลในโรงพยาบาลดังกล่าวแล้ว ซึ่งพบข้อมูลว่าผู้ป่วยรายนี้เป็นผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตที่เข้าตามเกณฑ์ของ ยูเซปทุกประการ ซึ่งอผู้ป่วยสามารถไปใช้บริการยังโรงพยาบาลที่ใกล้สุดภายใน 72 ชั่วโมงได้ฟรี” นพ.สัญชัย กล่าว

นพ.สัญชัย กล่าวว่า ในส่วนที่ได้มีข่าวว่าโรงพยาบาลได้เรียกเก็บเงิน 100,000 บาท ก่อนทำการรักษา แต่ญาติไม่มีเงินนั้น ตามขั้นตอนของการรักษาของโรงพยาบาลทุกแห่ง หากมีผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตเข้าไป โรงพยาบาลจะต้องคัดแยกแล้วดูว่าอาการบาดเจ็บนั้นมีความรุนแรงที่เข้าเกณฑ์ยูเซปหรือไม่ หากเข้าเกณฑ์ต้องให้การรักษาโดยที่ไม่ต้องสำรองจ่ายภายใน 72 ชั่วโมง แต่หากไม่เข้าเกณฑ์สามารถนำใบคัดแยกอาการไปใช้เบิกในส่วนของกองทุนอื่นๆ ที่ผู้ป่วยมีสิทธิอยู่ อาทิ กองทุนประกันสังคม กองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือกองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ

“ในกรณีนี้ สิ่งที่ต้องดูคือ เมื่อเข้าไปแล้วทำไมผู้ป่วยถึงไม่ได้ใช้สิทธิยูเซป ก็มีประเด็นอยู่ที่ว่าโรงพยาบาลปฏิเสธการรักษาหรือไม่ หรือผู้ป่วยมีอาการรุนแรงหรือหนักเกินกว่าศักยภาพที่โรงพยาบาลจะรักษาได้ ขึ้นอยู่กับการสื่อสารระหว่างโรงพยาบาลและญาติผู้ป่วย แต่ผู้ป่วยรายนี้มีอาการวิกฤตมากและมีอาการโคม่า ดังนั้นเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องหาข้อมูลเพิ่มเติมขณะนี้ยังสรุปใดๆ ไม่ได้ และเรื่องนี้ได้เข้าสู่ขั้นตอนของการสอบสวนข้อเท็จจริงแล้ว ทั้งจากหน่วยรับแจ้งเหตุ 1669 รถพยาบาลที่ออกไปรับผู้ป่วย โรงพยาบาลที่เกี่ยวข้องทั้งหมด โดยต้องใช้เวลาสักระยะ หากพบว่าผิดจริง มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน  4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และเสี่ยงถูกเพิกถอนใบอนุญาตสถานพยาบาลด้วย เนื่องจากไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ.2551” นพ.สัญชัย กล่าวและว่า นับตั้งแต่เริ่มนโยบายนี้มาตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2560 จนถึงปัจุบัน มีผู้เข้าเกณฑ์แล้วมากกว่า 48,000 ราย เฉลี่ยประมาณ 2,300 ต่อเดือน

Advertisement

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image