สภา กทม.ตั้งข้อสังเกตท้องถิ่นไม่เก็บ ‘ภาษีบุหรี่’ ส่อเอื้อประโยชน์ บ.ข้ามชาติ

เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม ที่สภากรุงเทพมหานคร (สภา กทม.) นายนิรันดร์ ประดิษฐกุล สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) เสนอญัตติให้สภา กทม.ตั้งคณะกรรมการวิสามัญศึกษาการจัดเก็บค่าธรรมเนียมจากผู้พักในโรงแรมและภาษีอื่นที่พึงจัดเก็บตามกฎหมาย โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบ และแต่งตั้งคณะกรรมการวิสามัญศึกษาเรื่องดังกล่าว จำนวน 15 คน ภายใน 90 วัน

นายนิรันดร์กล่าวว่า เนื่องจากกรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่นักท่องเที่ยวต้องการมาเยือนและพักแรมมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งของโลก จากสถิติของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ปี 2560 มีจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเที่ยวและพักแรมในกรุงเทพฯ ทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ ประมาณ 63 ล้านคน มีรายได้ 947,284 ล้านบาท และปี 2561 มีจำนวน 64 ล้านคน มีรายได้กว่า 1,051,118 ล้านบาท ทั้งนี้ จำนวนผู้เข้าพักโรงแรม ปี 2560 มี 33,950,292 คน และในปี 2561 มี 35,267,785 คน รายได้ที่เกิดขึ้นไม่ได้กลับเข้ามาเป็นรายได้ให้กับ กทม. เนื่องจาก กทม.ยังไม่สามารถจัดเก็บค่าธรรมเนียมที่พักโรงแรมได้ ในขณะที่องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ได้มีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมจากผู้พักโรงแรม ตามมาตรา 65 พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) องค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ.2540 ซึ่งตาม พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542 มาตรา 25 กำหนดให้ กทม.อาจมีรายได้จากภาษีอากร ค่าธรรมเนียม และเงินรายได้ต่างๆ ขณะนี้ กทม.อยู่ระหว่างการเสนอร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร (ฉบับที่…) พ.ศ…. เพื่อแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2528 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บรายได้ของ กทม. จึงเห็นควรให้สภา กทม.ตั้งคณะกรรมการวิสามัญศึกษาการจัดเก็บค่าธรรมเนียมจากผู้พักในโรงแรมและภาษีอื่นที่พึงจัดเก็บตามกฎหมาย

นายเชนทร์ วิพัฒน์บวรวงศ์ ส.ก. กล่าวว่า หาก กทม.ดำเนินการดังกล่าว จะช่วยเพิ่มรายได้ให้ กทม. โดยเฉพาะการจัดเก็บภาษีบุหรี่และยาสูบ ที่ยังไม่มีการจัดเก็บ ทั้งๆ ที่องค์การบริหารท้องถิ่นอื่นได้มีการจัดเก็บภาษีดังกล่าว จึงตั้งข้อสังเกตว่ามีการเอื้อประโยชน์ต่อผู้ใดหรือไม่ ยกตัวอย่าง บริษัท ฟิลลิป มอร์ริส เทรดดิ้ง (ไทยแลนด์) จํากัด เลี่ยงค่าภาษีบุหรี่นำเข้าไม่ครบถ้วน เป็นเงิน 6.8 หมื่นล้านบาท ทำให้รัฐบาลต้องดำเนินคดี ปัจจุบันนายกิตติ บุศยพลากร อัยการสูงสุด ในฐานะรองประธานสภา กทม.ซึ่งดูแลกฏหมายอยู่ ตั้งข้อสังเกตว่าจะเชื่อมโยงกับช่วงที่ไม่มีข้อบัญญัติจัดเก็บภาษีบุหรี่และยาสูบในปี 2528 หรือไม่

ด้าน นายกิตติกล่าวในฐานะถูกพาดพิงว่า สาเหตุที่คดีมีความคืบหน้าล่าช้า เพราะกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) สรุปสำนวนส่งอัยการ แต่อัยการไม่ฟ้อง เพราะอาจจะเกี่ยวโยงกับการเมืองและปัจจัยอื่น ต่อมาได้มีการรวบรวมหลักฐานเพิ่มเติม และอัยการคนเดิมได้สั่งฟ้อง นำไปสู่กระบวนการชี้แย้งของสำนักการอัยการสูงสุด

Advertisement

“สอบเพิ่มอีกหลายครั้ง แต่คดีก็ไม่ค่อยเดิน กว่าจะรวบรวมหลักฐานได้ จนอัยการสูงสุดสั่งฟ้อง ต่อมาก็ติดปัญหาเรื่องการประเมินจำนวนที่จะฟ้องที่แน่นอน ก็ส่งเรื่องกันไปกันมา โยนไปโยนมาจึงล่าช้า แต่ก็อยู่ในกระบวนการ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างฟ้องร้องและดำเนินคดีกันอยู่” นายกิตติกล่าว

 

 

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image