‘ประภัตร’ นำนักวิจัยต่างชาติพบ ‘เสี่ยหนู’ แลกเปลี่ยนข้อมูล ‘กัญชาทางการแพทย์’ ยันไม่ใช่เศรษฐีจ้องลงทุน

เมื่อเวลา 14.30 น. น.วันที่ 30 กรกฎาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) นำตัวแทนจากหน่วยงานในสังกัด เช่น กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร พร้อมด้วยกลุ่มนักวิจัยต่างประเทศ ประมาณ 10 ราย เข้าพบนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการ สธ. เพื่อหารือในประเด็นการขับเคลื่อนนโยบายการใช้กัญชาทางการแพทย์ ใช้เวลาหารือนานกว่า 2 ชั่วโมง จากนั้นมีการแถลงข่าว

นายประภัตร กล่าวว่า ภายหลังได้รับการประสานจากนักวิจัย และผู้ผลิตผลิตภัณฑ์กัญชารายใหญ่ที่สุดในประเทศสหรัฐอเมริกา และอิสราเอล และเป็นรายใหญ่ในทวีปยุโรป มีความสนใจต่อนโยบายของรัฐบาลไทยที่มีนโยบายส่งเสริมให้กัญชาเป็นพืชเศรษฐกิจ และการปลูกเพื่อสร้างรายได้ในเกษตรกร จึงได้เข้าหารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคณะผู้บริหาร สธ. โดยได้มีการติดตามความคืบหน้าการขับเคลื่อนนโยบาย รวมถึงอุปสรรคในการผลักดันนโยบายของไทย เพื่อให้ไทยสามารถขับเคลื่อนนโยบายเป็นผลสำเร็จ พร้อมแลกเปลี่ยนในประเด็นที่เกี่ยวกับการเพาะปลูก ซึ่งนักวิจัยกลุ่มนี้มีการผลิตยาจากกัญชาใช้รักษาโรคมาแล้วกว่า 30 ปี โดยเชื่อว่าที่ประเทศไทยว่ามีกัญชาสายพันธุ์ที่ดีที่สุด และมีสภาพอากาศเหมาะต่อการปลูก

Advertisement

นายประภัตร กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้เกิดการสร้างรายได้จากการปลูกในเกษตร คือ 1.ต้องมีผู้รับซื้อผลิตภัณฑ์ของเกษตรกร เพราะจะปลูกเพื่อผลิตยาอย่างเดียวคงไม่ได้ 2.การนำส่วนวัตถุดิบต่างๆ ของกัญชาส่งออก เพื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร อุตสาหกรรมยา เป็นต้น 3.การผลักดันนโยบายจะต้องสร้างรายได้ถึงมือเกษตรกร ซึ่งขณะนี้กำลังรอคอยให้เกิดการผลักนโยบายดังกล่าวอย่างมีความหวัง

ด้านนายอนุทิน กล่าวว่า ยืนยันว่ากลุ่มบุคคลเหล่านี้ เป็นนักวิจัยที่ต้องการเข้ามาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ไม่ใช่กลุ่มเศรษฐีอเมริกันเข้ามาหารือเพื่อปลูกกัญชาตามที่มีกระแสข่าว ซึ่งเป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อน โดยกลุ่มนักวิจัยดังกล่าวเป็นผู้มีความรู้และประสบการณ์ในการเพาะปลูกกัญชา มีข้อมูลการใช้กัญชาในต่างประเทศ โดยเฉพาะการดึงสารสกัดสำคัญในกัญชา ได้แก่ ทีเอชซี (THC) และซีบีดี (CBD) ออกมาใช้ในแต่ละประเทศ โดยสิ่งสำคัญทุกประเทศได้เน้นย้ำถึงความสำคัญในการนำกัญชาใช้ทางการแพทย์ ซึ่งสารซีบีดีมีประโยชน์ในการรักษาหลายกลุ่มโรค ขณะที่สารทีเอชซี มีประโยชน์ในการรักษาโรคที่มีความรุนแรง โดยทุกฝ่ายยืนยันว่าการนำกัญชามาใช้ทำให้เกิดประโยชน์มาก

Advertisement

นายอนุทิน กล่าวถึงความคืบหน้าในการรับรองหมอพื้นบ้าน 3,000 ราย ซึ่งมีนายเดชา ศิริภัทร หรือ อาจารย์เดชา ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ จ.สุพรรณบุรี รวมอยู่ในจำนวนดังกล่าวด้วย ว่า คาดจะมีการลงนามประกาศรับรองหมอพื้นบ้านภายใน 1-2 วันนี้ ซึ่งก่อนหน้านี้คุณสมบัติได้ตกไป ภายหลังมีการออกระเบียบฉบับใหม่

“การรับรองหมอพื้นบ้านดังกล่าวจะเป็นจุดเริ่มต้นในการผลักดันนโยบายทางการแพทย์ให้เป็นรูปธรรม เช่นเดียวกับการลงนามประกาศเพื่อเริ่มจ่ายยาจากสกัดกัญชาต่อผู้ป่วยในอีกไม่นานนี้” นายอนุทิน กล่าวและว่า ในที่ประชุมได้มีการพูดคุยให้ไทยสามารถส่งออกสารซีบีดีไปต่างประเทศ เพราะปัจจุบันต่างประเทศมีความต้องการมาก โดยเชื่อว่ากัญชาสายพันธุ์ไทยเป็นสายพันธุ์ที่ดีที่สุด และจะสามารถผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ได้อย่างมีคุณภาพ

นายอนุทิน กล่าวย้ำว่า การประชุมหารือร่วมกับกระทรวงเกษตรฯ ไม่ได้เป็นการเอื้อประโยชน์แก่กลุ่มนายทุนใด แต่เป็นการหารือเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลทางการแพทย์ เทคโนโลยีในการปลูก อุตสาหกรรมการผลิต รวมถึงโอกาสในการสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรชาวไทย

“พวกตนทั้งสองคนมาจากประชาชน ดังนั้น จะต้องคำนึงถึงพี่น้องเกษตรกรและทำเพื่อส่วนรวม ไม่ได้เอื้อประโยชน์แก่กลุ่มบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือบริษัทใดบริษัทหนึ่ง โดย สธ.จำเป็นต้องเปิดรับข้อมูลจากทุกภาคส่วน” นายอนุทิน กล่าวและว่า นอกจากนี้ ยังพร้อมผลักดันให้เกษตรกรได้ปลูกให้รวดเร็วที่สุด ย้ำว่าการปลูกกัญชง กัญชา จะต้องมีการขออนุญาต และขึ้นทะเบียนผู้ปลูก โดยจะต้องเริ่มจากการปลูกเพื่อใช้ทางการแพทย์ เริ่มจากให้โรงพยาบาล โรงเรียนแพทย์ สามารถปลูก ก่อนจะขยายผลในกลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ให้เริ่มปลูก หลังจากนั้นจะขยายผลไปยังการปลูกในครัวเรือน ผ่านการถ่ายองค์ความรู้และความเข้าใจของ อสม. สู่ประชาชน ย้ำว่าเรื่องนี้ต้องดำเนินตามขั้นตอน เพราะจะทำตอนนี้ ทำไม่ได้แน่นอน

ผู้สื่อข่าวถามว่า การส่งออกสารซีบีดีจะขัดกับอนุสัญญายาเสพติดระหว่างประเทศหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า การส่งออกสารซีบีดีจะต้องส่งออกเพื่อการแพทย์ ซึ่งมีข้อยกเว้นระบุไว้ เช่นเดียวกับต่างประเทศ เช่น สหรัฐ แคนนาดา ออสเตรเลีย ฯลฯ ที่สามารถดำเนินการได้ โดยการส่งออกจะทำได้จริงจะต้องขึ้นอยู่กับความต้องการของต่างประเทศ หากสร้างรายได้ปีละ 1,000 ล้านเหรียญ ดังนั้น ไทยต้องเร่งหาออกสร้างรายได้ส่วนนี้ให้กับประเทศ ภายใต้การควบคุมไม่ให้รั่วไหลในตลาดมืด สอดคล้องกับปัจจุบัน สธ.มีความพยายามนำกัญชาจากใต้ดินขึ้นมาบนดิน

เมื่อถามว่า มีกระแสข่าวว่ากลุ่มดังกล่าวจะเริ่มใช้พื้นที่ 150 ไร่ ในประเทศไทยทดลองพัฒนาการปลูกกัญชา นายอนุทิน กล่าวว่า ยืนยันว่ายังไม่มีการเจรจาหรือพูดคุยดังกล่าว และไม่มีการดำเนินการ เนื่องจากปัจจุบันได้มีองค์การเภสัชกรรม (อภ.) และสถาบันที่ร่วมกับหน่วยงานรัฐ ได้ดำเนินการปลูก แต่หากได้รับผลดี ก็จะขยายผลต่อไป แต่มีเงื่อนไข โดยกลุ่มเอกชนหรือภาคธุรกิจ หากจะดำเนินการปลูกจะต้องมาร่วมมือกับหน่วยงานรัฐ ตามขอบเขตของกฎหมายระบุไว้ ซึ่งทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พร้อมสนับสนุนหากเป็นทดลองปลูก และใช้ในทางการแพทย์

เมื่อถามอีกว่า เครือข่ายภาคประชาชนตั้งข้อสังเกตว่าจะเป็นการอาศัยช่องโหว่ของกฎหมายเพื่อให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า ยังไม่มีความคิด

“ผมยังไม่ได้มีการคิดแม้แต่น้อยว่าจะมีการให้ปลูกใน 150 ไร่ มีแต่สื่อมวลชนที่บอกผม ผมยังไม่ทราบเรื่องนี้ แต่ยืนยันว่าอะไรก็ตามที่กฎหมายห้ามก็ไม่ทำอยู่แล้ว ไม่มีการอาศัยช่องโหว่กฎหมายอยู่แล้ว เพราะผมชอบดำกับขาว ต้องไม่มีเทาๆ” นายอนุทิน กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image