อธิบดีกรมสตรีฯ เร่งความพร้อม จนท.​ก่อน พ.ร.บ.ครอบครัวฉบับใหม่ บังคับใช้ 20 ส.ค.นี้

อธิบดีกรมสตรีฯ เร่งความพร้อม จนท.​ก่อน พ.ร.บ.ครอบครัวฉบับใหม่ บังคับใช้ 20 ส.ค.นี้

เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม ที่โรงแรมปริ๊นส์ตั้น พาร์ค ดินแดง มูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม จัดเวทีถอดบทเรียนกระบวนการคุ้มครองสิทธิและคุ้มครองสวัสดิภาพ “เรื่องเล่าผู้ประสบความรุนแรง และคนทํางานคุ้มครองสิทธิ” โดยมีหน่วยคนทำงานด้านสิทธิสตรี และความรุนแรงในครอบครัว เข้าร่วมงาน ภายในงานได้มีการเสนอ ข้อเสนอแนะเพื่อกำหนดนโยบายด้านการคุ้มครองสวัสดิภาพบุคคลในครอบครัวที่ประสบความรุนแรง ต่อนายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) 9 ข้อ อาทิ

มีความชัดเจนในการควบคุมผู้กระทำด้วยความรวดเร็ว มีสถานที่ในการควบคุมผู้กระทำเพื่อไม่ให้กลับมาทำร้ายผู้ถูกกระทำได้อีก, ควรมีนักสังคมสงเคราะห์ทุกโรงพยาบาล ทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชน รวมถึงชุมชนชนบทต่างๆ และกำหนดระเบียบ วิธีปฏิบัติ ตามมาตรา 37 ให้ชัดเจนว่า เป็นกรณีจำเป็นเร่งด่วน แค่ไหน เพียงใด เพื่อให้หัวหน้าศูนย์มีอำนาจออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวได้เท่าที่จำเป็น

นายเลิศปัญญากล่าวว่า พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว พ.ศ.2562 ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา และจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 20 สิงหาคมนี้ เป็นกฎหมายที่มีความเข้มข้นในประสิทธิภาพการทำงาน คลอบคลุมทั้งการป้องกัน แก้ไข ส่งเสริม คุ้มครองสวัสดิการผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัวและความรุนแรงในสังคมทุกรูปแบบ ทั้งยังป้องกันไม่ให้ผู้กระทำความรุนแรงเกิดการกระทำซ้ำ และเพิ่มบทลงโทษผู้กระทำ เป็นกฎหมายฉบับใหญ่ที่มี 3 กระทรวงรับผิดชอบ ทั้ง พม. กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงมหาดไทย

ทั้งนี้ สค.ได้เตรียมความพร้อมรองรับการบังคับใช้กฎหมาย โดยเฉพาะการอบรมสร้างความเข้าใจกับพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) ที่จะทำหน้าที่เป็นศูนย์ส่งเสริมและคุ้มครองครอบครัวตามกฎหมาย ซึ่งมีอำนาจหน้าที่แจ้งความกล่าวโทษผู้กระทำความรุนแรงได้ทันที จากเดิมผู้ถูกกระทำต้องไปแจ้งเอง ทั้งมีอำนาจในการสั่งคุ้มครองชั่วคราว เพื่อป้องกันผู้กระทำมากระทำซ้ำ นอกจากนี้ ยังมีศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน (ศพค.) ซึ่งเป็นการทำงานของภาคสังคมระดับตำบลเพื่อเป็นหน่วยระดับพื้นที่ในการป้องกันและช่วยเหลือผู้ที่จะตกเป็นเหยื่อ

Advertisement

อย่างไรก็ตาม การสร้างกระแสความเข้าใจต่อกฎหมายนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย จึงต้องบูรณาการทุกภาคส่วนช่วยกันสร้างความเข้าใจในช่องทางที่ให้กลุ่มเป้าหมายได้รับรู้ถึงกฎหมายฉบับนี้

นายเลิศปัญญากล่าวอีกว่า พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว ขณะนี้คณะทำงานอยู่ในขั้นตอนการร่างกฎหมายลูก 9 ฉบับ ในส่วนของ พม.ได้ร่าง 8 ฉบับเรียบร้อยแล้ว และมีส่วนของกระทรวงสาธารณสุข อีก 1 ฉบับ เพื่อเป็นไกด์ไลน์แนวทางในการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งจะได้มีการนำเสนอรองนายกฯ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ เพื่อพิจารณาต่อไป ขณะนี้คณะทำงานได้มีการประชุม เพื่อศึกษาขั้นตอนการทำงาน เช่น การเขียนคำร้องต่างๆ ที่เจ้าหน้าที่ของ พม. จะต้องดูแลจากนี้ เพื่อเตรียมความพร้อม ให้การทำงานสะดวก รวดเร็ว รวมไปถึงให้เตรียมจดทะเบียนศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน (ศพค.) หลังกฎหมายบังคับ รวมถึงวางแผนทำประชาสัมพันธ์กระจายในพื้นที่ โดยเฉพาะระดับจังหวัด เพราะในช่วงที่บังคับใช้ 20 สิงหาคมนี้ คงจะมีคำถามตามมาอีกมาก

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image