7-8ส.ค.นี้ ‘สสส.’ ผนึกเครือข่าย จัดสัมมนาระดับชาติ ‘ความปลอดภัยทางถนน’ ปีที่14

เพื่อให้การดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนน สามารถบูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วนได้อย่างต่อเนื่อง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และกองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน (กปถ.) ได้ให้การสนับสนุนการจัดงานสัมมนาวิชาการระดับชาติ เรื่อง ความปลอดภัยทางถนน ซึ่งปีนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 14 ภายใต้แนวคิด เดิน ขี่ ขับ ไป-กลับ ปลอดภัยŽ หรือ 14th Thailand Road Safety Seminar Play your part and share the roadŽ พร้อมกำหนดจัดขึ้นที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบ เทค บางนา กรุงเทพมหานคร (กทม.) ระหว่างวันที่ 7-9 สิงหาคมนี้

สำหรับงานสัมมนาวิชาการระดับชาติจัดขึ้นทุก 2 ปี โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเป็นเวทีให้กับนักวิชาการ ผู้ปฏิบัติงาน ภาครัฐและภาคเอกชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ได้ทราบถึงนโยบายของรัฐในการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนน และมีส่วนร่วมเสนอนโยบายสาธารณะ รวมถึงนโยบายในการดำเนินงานแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุ ซึ่งในแต่ละปีจะมีหน่วยงานสนใจร่วมกิจกรรมจำนวนมาก เช่นเดียวกับปีนี้มีภาคีเครือข่ายภาครัฐ เอกชนกว่า 30 องค์กร เข้าร่วมงานและจัดนิทรรศการที่น่าสนใจ

Advertisement

นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เลขานุการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) กล่าวถึงสถานการณ์ผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนของประเทศไทยว่า ปี 2554-2560 พบผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนกว่า 52,690 คน คิดเป็นร้อยละ 79.18 เป็นกลุ่มผู้ใช้รถใช้ถนนที่มีความเปราะบาง (VRUs) ได้แก่ ผู้ใช้จักรยานยนต์ คนเดินเท้า และผู้ใช้รถจักรยาน ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีอัตราผู้เสียชีวิตสูงสุดถึงร้อยละ 83 ของผู้ใช้ถนนในประเทศไทย อีกทั้งพบว่าผู้ใช้รถจักรยานยนต์เสียชีวิตมากที่สุด ถึงร้อยละ 88.55 คนเดินเท้า ร้อยละ 10.20 และผู้ใช้รถจักรยาน ร้อยละ 1.25 นำมาสู่ความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินอย่างมหาศาล ซึ่งหนึ่งในการดำเนินการป้องกันและแก้ไขอุบัติเหตุทางถนนของรัฐบาลคือ มีเป้าหมายลดอัตราเสียชีวิตตามแนวคิด ทศวรรษแห่งการปฏิบัติการเพื่อความปลอดภัยทางถนนŽ พ.ศ.2554-2561

นายชยพล กล่าวว่า เพื่อลดจำนวนผู้สูญเสียในกลุ่มนี้ได้อย่างรวดเร็ว โดยภาครัฐและหน่วยงานเกี่ยวข้องควรให้ความใส่ใจและจริงจังในการป้องกันและลดอุบัติเหตุผ่านเสาหลักทั้ง 5 เสาที่องค์กรสหประชาชาติกำหนดไว้ ได้แก่ 1.การสร้างกลไกด้านการบริหารจัดการด้านการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนอย่างมีประสิทธิภาพ 2.การสร้างความปลอดภัยด้านโครงสร้างถนนและสภาพแวดล้อมริมทาง 3.การส่งเสริมให้เกิดการใช้ยานพาหนะที่ปลอดภัย 4.การสร้างวินัยจราจรให้กับผู้ใช้รถใช้ถนน และ 5.การช่วยเหลือรักษาผู้ประสบอุบัติเหตุทางถนน เพื่อให้ประเทศไทยบรรลุวัตถุประสงค์ในการลดอุบัติเหตุ

Advertisement

ในฐานะตัวแทนเด็กและเยาวชน นายพชรพรรษ์ ประจวบลาภ เลขาธิการสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย ขอเป็นกระบอกเสียงสะท้อนว่า อุบัติเหตุทางถนนเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกระทบโดยตรงต่อเด็กและเยาวชน ผลสำรวจความคิดเห็นเด็กและเยาวชน (Youth Poll) จากกลุ่มตัวอย่างเด็กและเยาวชนอายุ 16-25 ปีทั่วประเทศกว่า 1,200 คน พบว่าร้อยละ 97.5 ของเด็กรับรู้ถึงผลกระทบของการไม่สวมหมวกนิรภัย แต่ไม่ตระหนักและไม่คิดว่ามีความจำเป็นต้องสวมหมวก ส่วนตัวเลขผู้สวมหมวกเป็นประจำมีเพียง 27.2 สำหรับเหตุผลไม่สวมหมวก คือเดินทางระยะใกล้ ร้อยละ 75.6 ไม่สะดวกสบายในการใช้งาน ร้อยละ 19.5 เช่น กลัวผมเสียทรง แปลกที่เด็กไทยกลัวผมเสียทรงมากกว่ารักชีวิตตนเอง และร้อยละ 5 ไม่เชื่อว่าอุบัติเหตุจะเกิดขึ้นกับตัวเอง ขณะเดียวกันพบว่าเด็กและเยาวชนประสบอุบัติเหตุในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา พบรถจักรยานยนต์ล้ม ลื่นไถล ร้อยละ 26.2 ถูกเฉี่ยวชนบนทางเท้า ร้อยละ 4.6 ถูกเฉี่ยวชนขณะขับขี่ ร้อยละ 9.4 ในจำนวนนี้มีเด็กและเยาวชนไม่ได้รับบาดเจ็บ ร้อยละ 9.4 บาดเจ็บสาหัส
ร้อยละ 5.4 บาดเจ็บ และบาดเจ็บเล็กน้อย 47.1


“เมื่อถามถึงคาดหวังให้หน่วยงานของรัฐ หรือเอกชน เข้ามาแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุมากน้อยเพียงใด พบเด็กและเยาวชน คาดหวังมาก ร้อยละ 58 เช่น การทำถนนให้มีมาตรฐาน ความใส่ใจในเรื่องยานพาหนะที่นำมาจำหน่ายในท้องตลาด คาดหวังเล็กน้อย ร้อยละ 35.9 และไม่คาดหวัง ร้อยละ 6 ทั้งนี้ ในฐานะตัวแทนเด็กและเยาวชนอยากให้มีการแก้ไขปัญหาด้านการป้องกันและอุบัติเหตุทางถนนอย่างจริงจัง”Ž นายพชรพรรษ์ กล่าว

สอดคล้องกับ น.ส.สุภาพิชญ์ ไชยดิษฐ์ ประธานสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สภาเด็กร่วมกับมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ จัดกิจกรรมรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องสถานการณ์ความปลอดภัยทางถนน ภายใต้โครงการสมัชชาเด็กและเยาวชนระดับภาค ประจำปี 2562 ซึ่งเป็นการจัดกิจกรรมหมุนเวียนไปทั้ง 4 ภาคของไทย โดยในทัศนคติเรื่องสวมหมวกนิรภัย เด็กและเยาวชนในภาคกลางระบุว่า สวมหมวกกันเพื่อป้องกันการถูกจับของตำรวจ ซึ่งอัตราการจ่ายค่าปรับที่ต่างกัน ทำให้ไม่เชื่อมั่นในการสวมหมวกนิรภัย ส่วนภาคใต้ พูดถึงเรื่องใบขับขี่ โดยเฉพาะการได้มาของใบขับขี่ สามารถหาซื้อได้ ใบขับขี่จึงไม่ได้บ่งบอกว่ามีความรู้และความเชี่ยวชาญในการขับขี่รถบนถนน ขณะการอบรมใบขับขี่ก็ไม่ได้ส่งเสริมให้เกิดความเข้าใจในบทกฎหมายต่อการใช้รถใช้ถนนในชีวิตจริง ส่วนภาคอีสานพูดถึงความจำเป็นในการขับขี่ยานพาหนะ เนื่องด้วยบริบทของสภาพพื้นที่ประกอบเกษตรกรรม ส่วนใหญ่อาศัยอยู่กับตายาย เพราะพ่อแม่ต้องเข้ามาทำงานในเมือง ทำให้เด็กจำเป็นต้องขับขี่รถจักรยานยนต์ก่อนอายุ 15 ปี ก่อนที่จะทำใบขับขี่ได้ในอายุ 18 ปี ต่อมาได้นำข้อเสนอให้เด็กภาคเหนือช่วยขับเคลื่อน ส่วนใหญ่เห็นว่าควรส่งเสริมเด็กและเยาวชนในพื้นที่ให้เกิดความตระหนักและความเข้าใจ หรือผลักดันผ่านสภาเด็กที่มีอยู่ครอบคลุมทุกตำบล นอกจากนี้ทุกคนคาดหวังให้มีเมืองแห่งความปลอดภัยทางถนนที่มีความปลอดภัยต่อเด็กและเยาวชน

นายนพดล สันติภากรณ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด กล่าวว่า ภายในงานสัมมนา นอกจากแลกเปลี่ยนความรู้เพื่อขับเคลื่อนงานดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุ ภายในห้องย่อยและการจัดงานสัมมนายังมีการจัดเวทีกลางเปิดกว้างให้กับภาคีเครือข่ายร่วมจัดกิจกรรมในการให้ความรู้ งานเสวนา พิธีมอบรางวัลให้แก่ผู้ปฏิบัติงาน รวมถึงการพูดคุยการทำงานด้านความปลอดภัย ซึ่งสิ่งสำคัญอยากเรียนว่าหมวกนิรภัยไม่ได้ทำให้อุบัติเหตุลดลง แต่เป็นอุปกรณ์สำคัญช่วยลดความสูญเสียในชีวิต นำมาสู่โครงการธนาคารหมวกนิรภัยของเยาวชน นอกจากนี้ยังมีการพูดคุยในหัวข้อที่น่าสนใจเพื่อสะท้อนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ทางม้าลายในไทยที่หายไป ตลอดจนงานวิจัยเพื่อนำมาสู่การกระตุ้นจิตสำนึกทางถนน เพื่อสร้างความมั่นใจให้คนไทยมีความปลอดภัยทางถนนอย่างยั่งยืน

ส่วน นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) กล่าวว่า งานสัมมนาครั้งนี้มีโจทย์สำคัญคือ กลุ่มผู้ใช้รถใช้ถนนที่เปราะบาง โดยปรากฏเป็นข่าวดังหลายครั้ง ครั้งล่าสุดกรณีนักศึกษาจบใหม่ถูกรถจักรยานยนต์ชนขณะข้ามทางม้าลาย บริเวณแยกกรมโยธาและผังเมือง ถนนพระราม 9 เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา และต่อมาได้เสียชีวิตลง สะท้อนให้เห็นถึงเงื่อนไขความเสี่ยงสำหรับคนเดินเท้า แม้ที่จะข้ามถนนบนทางม้าลาย แต่หากผู้ขับขี่ขาดวินัยจราจรก็อาจเกิดอุบัติเหตุได้

งานนี้จะเปิดโอกาสให้ภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนที่ปฏิบัติงานป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนน ได้ร่วมกันสร้างระบบความปลอดภัย ที่ได้รับการพิสูจน์ว่าสามารถลดจำนวนผู้เสียชีวิตบนถนนได้อย่างยั่งยืนในประเทศที่พัฒนาแล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image