10สิงหา ดาวเคราะห์น้อยเฉียดโลก ตื่นเต้นได้อย่าตกใจ ไม่ชนแน่นอน

10สิงหาดาวเคราะห์น้อยเฉียดโลก
ตื่นเต้นได้อย่าตกใจไม่ชนแน่นอน

ตามที่ได้มีกระแสข่าวว่า วันที่ 10 สิงหาคม 2562 ที่จะถึงนี้ จะมีดาวเคราะห์น้อยชื่อ 2006 คิวคิว 23 (2006 QQ23) เข้ามาใกล้โลกจนอาจจะชนโลกได้ โดยระบุว่าดาวเคราะห์น้อยดวงนี้เป็นดาวเคราะห์น้อยขนาดใหญ่ ความกว้างมากกว่าความสูงของตึกเอ็มไพร์สเตตเสียอีก จนเป็นที่ตื่นตระหนกกันนั้น

วันที่ 7 สิงหาคม นายวิมุติ วสะหลาย กรรมการวิชาการสมาคมดาราศาสตร์ไทยได้ชี้แจงว่า ดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ มีความกว้าง 180-570 เมตร จัดว่าเป็นดาวเคราะห์น้อยขนาดใหญ่ ดาวเคราะห์น้อยระดับนี้หากชนโลกก็จะสร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง แต่เรื่องที่หลายคนวิตกกันอยู่นั้นให้สบายใจได้ ดาวเคราะห์น้อยดวงนี้จะไม่ชนโลกในวันที่ 10 สิงหาคมนี้อย่างแน่นอน

“ในวันที่ 10 สิงหาคม ดาวเคราะห์น้อย 2006 คิวคิว 23 จะเข้าใกล้โลกมากที่สุดในรอบปีด้วยระยะห่างราว 7,400,000 กิโลเมตร ซึ่งถือว่าปลอดภัยหายห่วง แม้จะเป็นระยะที่นักดาราศาสตร์เรียกว่า “เฉียด” ก็ตาม”นายวิมุติ กล่าว

Advertisement

นายวิมุติ กล่าวว่า บนท้องฟ้ามีดาวเคราะห์น้อยอยู่เป็นจำนวนมาก มีหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการติดตามการเคลื่อนที่ของดาวเคราะห์น้อยคอยสำรวจและรายงานสู่สาธารณชนอยู่เสมอ ทั้งการค้นพบวัตถุดวงใหม่ หรือการเข้าเฉียดโลก ซึ่งเกิดขึ้นแทบทุกวัน ดังนั้นหากได้ยินข่าวว่าจะมีดาวเคราะห์น้อยดวงใดจะมาเฉียดโลก ก็อย่าเพิ่งขวัญอ่อนแตกตื่นไป เพราะเป็นเหตุการณ์ปกติ ดาวเคราะห์น้อย 2006 คิวคิว 23 นี้ก็เช่นกัน วันที่ 10 สิงหาคมนี้มันก็จะผ่านมาแล้วก็ผ่านไปโดยไม่ทำให้เกิดผลกระทบใด ๆ ต่อโลก ไม่ควรตื่นเต้นเกินเหตุ

“คนที่ควรตื่นเต้นกับวัตถุดวงนี้ก็อาจมีบ้างเหมือนกัน เช่น นักดาราศาสตร์วิทยุ ปัจจุบันมีวิธีการสำรวจวัตถุใกล้โลกโดยใช้เรดาร์ ซึ่งมีประสิทธิภาพมาก สามารถมองเห็นได้ถึงสัญฐาน ลักษณะพื้นผิว ขนาด รวมถึงบริวารหรือวงแหวนของได้ในขณะที่กล้องโทรทรรศน์ทั่วไปมองเห็นได้เพียงจุดแสง ด้วยขนาดที่ใหญ่โตของดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ ย่อมเป็นที่น่าสนใจสำหรับนักดาราศาสตร์เรดาร์อย่างแน่นอน”นายวิมุติ กล่าว

เมื่อถามว่า ตอนนี้มีวัตถุดวงใดบ้างที่จะชนโลกในอนาคตอันใกล้ นายวิมุติตอบว่า จนถึงตอนนี้ ยังไม่พบว่ามีวัตถุขนาดใหญ่ดวงใดที่จะชนโลก “การที่ไม่พบก็ไม่ได้แปลว่าไม่มี บางทีอาจมีบางดวงที่เรายังไม่พบที่มีทิศทางพุ่งมายังโลกอยู่ก็เป็นได้ ดังนั้นนักดาราศาสตร์จึงยังคงเฝ้ามองท้องฟ้าทุกคืนเพื่อหาวัตถุที่ยังไม่รู้จักที่อาจจะมาคุกคามโลกในอนาคต และหาหนทางรับมือต่อไป

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image