สธ.ทยอยส่ง “น้ำมันกัญชา” ให้12รพ.ศูนย์ รักษาผู้ป่วยสัปดาห์หน้า คาด 6.5หมื่นราย

เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้าภายหลังกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้รับมอบสารสกัดน้ำมันกัญชา จีพีโอ เมดิคัลเกรด (GPO Medical Grade) มาตรฐานทางการแพทย์ล็อตแรกจากองค์การเภสัชกรรม (อภ.) แบบหยดใต้ลิ้น ชนิดทีเอชซีสูง (THC) ขนาด 5 มิลลิลิตร (มล.) จำนวน 4,500 ขวด จากทั้งหมด 6,500 ขวด ว่า น้ำมันกัญชาล็อตแรกจำนวน 3,900 ขวด สำนักปลัด สธ.จะทยอยส่งให้กับโรงพยาบาลศูนย์ทุกเขตสุขภาพ เขตละ 1 แห่ง รวม 12 แห่ง ภายในสัปดาห์หน้า ส่วนอีก 600 ขวด กรมการแพทย์จะนำไปใช้ในการศึกษาวิจัยเซลล์มะเร็งในหลอดทดลอง 100 ขวด และนำไปวิจัยในสัตว์ทดลองเพื่อศึกษาประสิทธิผล ความปลอดภัยของสารสกัดกัญชาในหนูทดลอง และทดสอบความเป็นพิษในสัตว์ทดลอง 500 ขวด ทั้งนี้ อภ.จะส่งสารสกัดน้ำมันกัญชาส่วนที่เหลืออีก 2,000 ขวด แบ่งเป็น ชนิดซีบีดีสูง (CBD) ขนาด 10 มล. 500 ขวด และชนิดทีเอชซีต่อซีบีดี 1 ต่อ 1 (THC:CBD 1:1) ขนาด 5 มล. 1,500 ขวด รวมทั้งหมด 6,500 ขวดให้ สธ.ภายในเดือนสิงหาคมนี้

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า สารสกัดน้ำมันกัญชาล็อตแรก 600 ขวด ที่กรมการแพทย์ได้รับเป็นชนิดทีเอชซีสูง โดย 100 ขวด จะนำไปศึกษาฤทธิ์ยับยั้งการแบ่งตัวและเพิ่มจำนวนมะเร็ง 10 ชนิด ได้แก่ มะเร็งปอด มะเร็งจับ มะเร็งท่อทางเดินน้ำดี มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่และมะเร็งไส้ตรง มะเร็งปากมดลูก มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งรังไข่ มะเร็งกระเพาะอาหาร และมะเร็งตับอ่อน ซึ่งการศึกษานี้จะเป็นการศึกษาเซลล์มะเร็งในหลอดทดลอง

“ส่วนอีก 500 ขวด จะนำไปศึกษาวิจัยในหนูทดลอง คือ การฉีดเซลล์มะเร็งเข้าไปในหนูทดลอง เพื่อศึกษาประสิทธิผลและความปลอดภัย ก่อนนำมาใช้กับมนุษย์ ซึ่งสารชนิดทีเอชซีสูง ยังไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ชัดเจนในกลุ่มที่ได้ประโยชน์ โดยส่วนใหญ่จะเป็นชนิดทีเอชซีต่อซีบีดี 1 ต่อ 1 แต่ทุกวันนี้กัญชาใต้ดินที่เราใช้กันอยู่ ยังไม่รู้ส่วนผสมชัดเจน แต่กัญชาที่ใช้นำมาสกัดน้ำมันกัญชาใต้ดินนั้น เป็นพันธุ์ที่ปลูกในไทยและ สปป.ลาว ซึ่งมีทีเอชซีสูง และเมื่อมีสารสกัดที่เป็นมาตรฐาน มีปริมาณและสัดส่วนสารสกัดกัญชาคงที่ออกมา ก็จะช่วยให้ทราบถึงประสิทธิผลในการรักษา” นพ.สมศักดิ์ กล่าว

นอกจากนี้ นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ส่วนในจำนวน 3,900 ขวด ที่สำนักปลัด สธ.จะกระจายไปยังโรงพยาบาลศูนย์ 12 แห่ง การใช้กับป่วยให้เป็นการพิจารณาของแพทย์แต่ละรายที่ผ่านการอบรมไปแล้ว เนื่องจากสารสกัดน้ำมันกัญชายังไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นยา แต่ถูกขึ้นทะเบียนเป็นสารกัด เรียกว่า Unapproved Drug ดังนั้น การนำมาใช้จะต้องผ่านช่องทางพิเศษ หรือ Special Access Scheme (SAS) ซึ่งเป็นการรักษาผู้ป่วยและเก็บข้อมูลการวิจัยควบคู่กันไป และพิจารณาการรักษาคนไข้เป็นแต่ละรายไป ทั้งนี้ ในการรักษากรณีจำเป็นสำหรับผู้ป่วยเฉพาะราย เพื่อให้ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยวิธีมาตรฐานไม่ได้ผล เข้าถึงการรักษาด้วยสารสกัดน้ำมันกัญชา โดยเบื้องต้นได้คาดการณ์จำนวนกลุ่มที่ใช้กัญชาทางการแพทย์ได้ประโยชน์ และต้องไม่มีข้อห้ามในการใช้ เช่น โรคหัวใจ ได้แก่ 1.ภาวะคลื่นไส้อาเจียนจากเคมีบำบัด ประมาณ 10,000 ราย 2.โรคลมชักที่รักษายาก และโรคลมชักที่ดื้อต่อยารักษาประมาณ 50,000 ราย 3.ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็ง (spasticity) ในผู้ป่วยโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (multiple sclerosis) ซึ่งมีผู้ป่วยไม่มาก ประมาณ 70 ราย และ 4.ภาวะปวดประสาท (neuropathic pain) ประมาณ 4,700 ราย

Advertisement

“โดยทั้งหมดขอย้ำเป็นการคาดการณ์ ซึ่งเมื่อวินิจฉัยผู้ป่วยแล้ว บางรายอาจจะไม่สามารถใช้สารสกัดได้ เนื่องจากมีข้อห้ามในการใช้ ส่วนกลุ่มที่ใช้กัญชาทางการแพทย์น่าจะได้ประโยชน์ (ในการควบคุมอาการ) เช่น ผู้ป่วยที่ได้รับการดูแลแบบประคับประคอง (palliative care) ผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย (end-state cancer) โรคพาร์กินสัน โรคอัลไซเมอร์ การนำสารสกัดกัญชาชนิดทีเอชซีสูงมาใช้รักษาอาการก็จะขึ้นอยู่กับการแพทย์” นพ.สมศักดิ์ กล่าวและว่า ขณะเดียวกัน กรมการแพทย์ได้จัดตั้งคลินิกให้คำปรึกษาการใช้กัญชาทางการแพทย์ในโรงพยาบาล/สถาบันเฉพาะทางในสังกัดกรมการแพทย์ด้วย ขอย้ำเป็นเพียงการให้คำปรึกษาเท่านั้น ไม่มีการจ่ายยาในคลินิกดังกล่าว ได้แก่ โรงพยาบาล (รพ.) ราชวิถี รพ.นพรัตนราชธานี และ รพ.เลิดสิน และตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคมนี้เป็นต้นไป จะทยอยเปิดให้ครบ 32 แห่ง รวมถึงได้เปิดสายด่วน 1165 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อให้คำปรึกษาประชาชนเกี่ยวกับการใช้กัญชา

สำหรับการเปิดให้ผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายสมัครเข้าโครงการทดลองใช้สารสกัดน้ำมันกัญชารักษาโรคนั้น นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ขณะนี้สถาบันมะเร็งแห่งชาติ ยังเปิดให้ลงทะเบียนผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการรักษา เพื่อคัดเลือกเข้าร่วมโครงการวิจัยกัญชาทางการแพทย์ ซึ่งเปิดลงทะเบียนออนไลน์ ระหว่างวันที่ 2-30 สิงหาคมนี้ ผ่านทางเว็บไซต์ http://mmr.nci.go.th หรือสามารถเดินทางมาสมัครได้ด้วยตนเองที่สถาบันมะเร็งแห่งชาติ ได้ที่ห้องประชุมสมชาย สมบูรณ์เจริญ ชั้น 5 ในเวลา 13.00-16.00 น. ยกเว้นวันหยุดราชการ โทร 0-2202-6800 หรือ 0-2202-6888 ต่อ 1230 พร้อมนำสำเนาบัตรประชาชน และใบรับรองแพทย์มาด้วย ปัจจุบันมีผู้ป่วยมะเร็งสนใจสมัครเข้าโครงการต่อเนื่อง โดยข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 2 สิงหาคม สรุปยอดมีผู้ป่วยลงทะเบียนออนไลน์ 428 ราย เดินทางมาลงทะเบียนด้วยตนเอง 9 รายและโทรปรึกษาสายด่วน 62 ราย
สำหรับโครงการวิจัยทางการแพทย์นี้ กรมการแพทย์จะนำน้ำมันกัญชาชนิดที่มีอัตราส่วนทีเอชซีต่อซีบีดี 1 ต่อ 1 และชนิดทีเอชซีสูง ที่ได้รับมอบจาก อภ. ใช้ในการรักษาวิจัยในผู้ป่วยมะเร็ง และบางส่วนจะนำไปใช้กับผู้ป่วยโรคลมชัก ตามความร่วมมือระหว่างสถาบันประสาทวิทยา สมาคมกุมารประสาทวิทยา (ประเทศไทย) และอภ.

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image