‘กาชาด’ ชวน ‘วิ่ง…ต่อชีวิต’ ช่วยผู้ป่วยปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ 2 ล้าน กม. = 2 ล้านบาท

วันที่ 8 สิงหาคม นาวาโทหญิง พญ.อุบลวัณณ์ จรูญเรืองฤทธิ์ ผู้อำนวยการศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย เปิดเผยว่า ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ ได้รับมอบหมายจากแพทยสภา จัดตั้งธนาคารเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตแห่งชาติ (Thai National Stem Cell Donor Registry: TSCDR) ตั้งแต่ปี 2545 ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางรับลงทะเบียนอาสาสมัครเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตที่ไม่ใช่ญาติ ปัจจุบันมีอาสาสมัครบริจาคสเต็มเซลล์ จำนวน 241,238 ราย และมีผู้ป่วยคนไทยที่รอการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์กว่า 1,941 ราย โดยมี 5 โรงพยาบาล หลักที่ดำเนินการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต ได้แก่ โรงพยาบาล (รพ.) จุฬาลงกรณ์ รพ.รามาธิบดี รพ.ศิริราช รพ.พระมงกุฎเกล้า และ รพ.สงขลานครินทร์ ทั้งนี้ ผู้ป่วยโรคทางโลหิตมีหลายชนิด ได้แก่ โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งต่อมน้ำเหลือง โรคโลหิตจางจากไขกระดูกฝ่อ รวมทั้งโรคทางพันธุกรรม เช่น โรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย โรคภูมิคุ้มกันบกพร่องแต่กำเนิด ซึ่งผู้ที่ป่วยโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียส่วนใหญ่จะได้รับการรักษาด้วยการให้โลหิตและส่วนประกอบโลหิต แต่หากรับโลหิตต่อเนื่องเป็นเวลานาน ร่างกายผู้ป่วยจะสร้างสารที่เรียกว่า Antibody ขึ้นมาต่อต้านเลือดที่ได้รับ ส่งผลให้การจัดหาเลือดให้ผู้ป่วยเป็นไปได้ยากมากยิ่งขึ้น

“การปลูกถ่ายสเต็มเซลล์จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการรักษาผู้ป่วย แต่ผู้บริจาคต้องมีเนื้อเยื่อเอชแอลเอ (Human Leukocyte Antigen: HLA) ตรงกันกับผู้ป่วย ในกรณีที่ผู้บริจาคเป็นญาติพี่น้องมีโอกาสที่เนื้อเยื่อจะตรงกัน 1 ใน 4 เท่านั้น แต่ถ้าไม่ใช่ญาติพี่น้องมีโอกาสในการหาผู้บริจาคที่มีเนื้อเยื่อตรงกับผู้ป่วยถึง 1 ใน 10,000 การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตแต่ละครั้งจะมีค่าใช้จ่ายที่สูงมากอยู่ที่รายละ 2 – 3 ล้านบาท เนื่องจากเป็นการรักษาที่ต้องต่อเนื่องหลังจากการให้เคมีบำบัด โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะเป็นผู้วินิจฉัย ซึ่งการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตนี้ จะมีทั้งการปลูกถ่ายที่ใช้เซลล์ของตนเองและเซลล์ที่รับบริจาค” นาวาโทหญิง พญ.อุบลวัณณ์ กล่าว

ผู้อำนวยการศูนย์บริการโลหิตฯ กล่าวว่า ในปี 2561 ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ โดยธนาคารเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต มีแนวคิดริเริ่มที่จะช่วยเหลือผู้ป่วยที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ในการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ ซึ่งมีผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายฯ ภายใต้กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) แล้วจำนวนมาก โดยจำกัดเฉพาะกรณีที่ผู้บริจาคเป็นญาติพี่น้องผู้ป่วยเท่านั้น และในปี 2562 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)จึงได้ขยายสิทธิประโยชน์การรักษาผู้ป่วยด้วยวิธีการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยร่วมกับศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ จัดสรรงบประมาณสำหรับสิทธิประโยชน์การรักษาผู้ป่วยด้วยวิธีการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตให้กับผู้ป่วยที่ได้รับสเต็มเซลล์จากผู้บริจาคที่ไม่ใช่ญาติ ในโครงการธนาคารเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตแห่งชาติ เพื่อเพิ่มโอกาสให้ผู้ป่วยหายจากโรค และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

Advertisement

“กิจกรรม Stem Cells Virtual Run -วิ่งต่อชีวิต…ช่วยผู้ป่วยปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ จึงเป็นกิจกรรมหนึ่งเนื่องในวันผู้บริจาคสเต็มเซลล์โลก ซึ่งปีนี้จัดวันที่ 28 กันยายน 2562 เพื่อระดมทุนเป็นค่าใช้จ่ายให้ผู้ป่วยที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ได้มีโอกาสปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต โดยเชิญชวนคนไทยใจบุญ ร่วมกิจกรรม ลงทะเบียนวิ่งสะสมระยะทาง ค่าสมัคร 500 บาท (เสื้อวิ่ง และเหรียญ) และผู้ที่วิ่งครบระยะ 200 กิโลเมตร 100 คนแรก จะได้รับผ้าบัฟเป็นที่ระลึก ระยะเวลาวิ่งตั้งแต่บัดนี้ – วันที่ 25 กันยายน 2562 ส่งผลการวิ่ง วันที่ 25 กันยายน 2562 ได้ที่ https://run.thai.run/stemcellsvirtualrun ปิดรับผลการวิ่ง วันที่ 25 กันยายน 2562 เวลา 24.00 น.จัดส่งเสื้อและเหรียญ ตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน 2562 เป็นต้นไป ผู้สนใจร่วมทำบุญ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์และจัดหาผู้บริจาคโลหิต ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย โทร 0-2256-4300, 0-2263-9600 – 99 ต่อ 1101, 1753, 1761 และ 1771” นาวาโทหญิง พญ.อุบลวัณณ์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image