ลงตัว “น้ำมันกัญชา” ตำรับ อ.เดชา ล็อตแรกแสนขวด แบ่งเจ้าของสูตร 25% ที่เหลือส่ง 20รพ.ทั่วปท.

เมื่อเวลา 13.00 น.วันที่ 9 สิงหาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ปราโมทย์ เสถียรรัตน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ประชุมร่วมกับ นายเดชา ศิริภัทร หรืออาจารย์เดชา หมอพื้นบ้านและประธานมูลนิธิข้าวขวัญ จ.สุพรรณบุรี นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต น.ส.รสนา โตสิตระกูล กรรมการมูลนิธิสุขภาพไทย  มีผู้แทนจากหน่วยงาน อาทิ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เข้าร่วม โดยใช้เวลาหารือนานกว่า 2 ชั่วโมง

จากนั้น นายเดชา เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้รับสิทธิการเป็นหมอพื้นบ้านกลับคืนแล้ว หลังจากที่ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ระเบียบกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยการรับรองหมอพื้นบ้าน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2562 เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2562 ส่วนเรื่องสูตรน้ำมันกัญชา ต้องรอการพิจารณาจากคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษที่จะมีการประชุมวันที่ 13 สิงหาคมนี้ หากผ่านจะเป็นตำรับที่ถูกกฎหมาย ซึ่งสามารถปรุงและแจกจ่ายยาให้แก่ผู้ป่วยได้

“อย่างไรก็ตาม แม้จะแจกจ่ายได้ก็ยังติดปัญหาเรื่องของวัตถุดิบที่จะนำมาผลิตจะต้องถูกกฎหมายด้วย เพราะขณะนี้ยังไม่เปิดช่องให้หมอพื้นบ้านสามารถปลูกกัญชาได้ จึงต้องไปขอของกลางจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) แต่ต้องใช้เวลา ดังนั้น ระหว่างที่ผมยังทำไม่ได้ ทุกขั้นตอนก็จะให้ สธ. ดูแลคนไข้ของผม ซึ่งมีประมาณ 4 หมื่นคน โดยวันนี้ได้นำรายชื่อผู้ป่วย 2.9 หมื่นคน มามอบให้ รายชื่อนี้จะระบุว่าเป็นใคร ป่วยด้วยโรคอะไร อยู่ที่ไหน และใน 2 สัปดาห์ จะส่งรายชื่อทั้งหมดให้ เพื่อวางแผนในการดูแลต่อไป” นายเดชา กล่าว

นอกจากนี้ นายเดชา กล่าวว่า ส่วนทางออกในการผลิตน้ำมันกัญชา ที่ประชุมมีข้อสรุปว่า กรมการแพทย์แผนไทยฯ จะนำกัญชาของกลางจาก ป.ป.ส.จำนวน 1 ตัน มาผลิต เพราะมีความพร้อมทั้งโรงงาน บุคลากร งบประมาณ และวัตถุดิบ จะทำให้ได้เดือนละแสนขวดขึ้นไป เริ่มตั้งแต่เดือนกันนายนนี้ คาดว่าจะเพียงพอกับคนไข้ 4 หมื่นคน ซึ่งแต่ละเดือนคนไข้จะใช้ประมาณ 2 ขวด ขวดละ 5 มิลลิลิตร (มล.) ทั้งนี้ กรมการแพทย์แผนไทยฯ ได้ขอให้ร่วมผลิตก็จะส่งทีมงานมาช่วย สำหรับน้ำมันกัญชาที่ผลิตได้ 1 แสนขวด จะแบ่งไปใช้รักษาคนไข้ในพื้นที่ จ.สุพรรณบุรี ร้อยละ 25 หรือประมาณ 2.5 หมื่นขวด และที่เหลือจะกระจายไปยัง 20 โรงพยาบาลทั่วทุกภูมิภาค รวมทั้งกรุงเทพมหานคร (กทม.) ด้วย

Advertisement

นายเดชา กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นตรงกันว่าในการจ่ายน้ำมันกัญชาให้ผู้ป่วยของตนนั้น จะให้กับทุกโรคที่เคยรักษา ไม่ใช่แค่ 4 โรคตามที่แพทย์แผนปัจจุบันกำหนด เพราะเป็นการจ่ายในเชิงของการเก็บข้อมูลวิจัย และดำเนินการโดยแพทย์แผนไทย ด้วยระบบเอสเอเอส (SAS) ซึ่งทำแบบนี้จะได้ข้อมูลภายใน 1-2 ปี และข้อมูลกว่าฝรั่งที่ทำมาหลายสิบปี จึงขอให้นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตี และรัฐมนตรีว่าการ สธ. สนับสนุนจัดหางบประมาณมาช่วยในการวิจัย

“ที่ห่วงคือ ระยะยาวอาจจะไม่พอ เพราะอาจจะต้องรองรับคนไข้อื่นด้วย ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องรับผิดชอบดูแล ซึ่งอาจจะต้องเดินหน้าปลูกกัญชาเพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตให้เพียงพอกับจำนวนผู้ป่วย ซึ่งหากเริ่มปลูกในเร็วๆ นี้ คาดว่าจะเก็บเกี่ยวได้ในช่วงเดือนธันวาคมนี้ ซึ่งจะผลิตน้ำมันกัญชาได้อีกมหาศาล เพราะของกลาง 1 ตัน ผลิตได้ประมาณ 1 ล้านขวด ขณะนี้ยังมีของกลางอีกประมาณ 18 ตัน ผลิตได้อีก 18 ล้านขวด” นายเดชา กล่าว

วันเดียวัน นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยถึงการรับมอบสารสกัดกัญชาสูตรทีเอชซี 600 ขวด จากองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ว่า เบื้องต้นคาดว่า วันที่ 11-12 สิงหาคมนี้ จะได้รับมอบสารสกัดกัญชาจาก อภ.จำนวน 600 ขวด โดยระหว่างนี้กรมการแพทย์ได้ทำเรื่องขออนุญาตกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในการครอบครองกัญชา เนื่องจากขณะนี้กัญชายังคงถือเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 อย่างไรก็ตาม เมื่อได้รับสารสกัดกัญชามาแล้ว สถาบันมะเร็งแห่งชาติจะเร่งดำเนินการศึกษาวิจัยในเรื่องของการวิจัยฆ่าเซลล์มะเร็งทันที

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image