สธ.มอบรางวัล “อสม.” ชนเผ่าอาข่าคนแรกของปท. ต้นแบบส่งเสริมสุขภาพแม่และเด็กพื้นที่สูง

เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม นพ.ณัฐวุฒิ ประเสริฐสิริพงศ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า สบส.ได้ให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ห่างไกล หรือในพื้นที่ตามแนวตะเข็บชายแดน ให้เข้าถึงการบริการด้านสุขภาพขั้นพื้นฐานด้านการรักษาพยาบาล การส่งเสริมสุขภาพ การฟื้นฟูสภาพ การป้องกันและเฝ้าระวังโรค ตลอดจนเป็นแหล่งเรียนรู้และสื่อสารด้านสุขภาพ ซึ่ง อสม. ถือเป็นหัวใจสำคัญ ที่จะขับเคลื่อนกลไกการทำงานด้านสุขภาพร่วมกับเครือข่ายสุขภาพในทุกระบบ จัดการสุขภาพตั้งแต่เด็กแรกเกิดจนถึงสูงอายุ โดยใช้บริบทของพื้นที่เป็นพื้นฐานเพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพดี พึ่งตนเองได้ และสามารถแก้ไขปัญหาสุขภาพได้อย่างแท้จริง รวมทั้งได้รับข้อมูลข่าวสารความรู้ด้านสุขภาพ ที่ถูกต้อง เหมาะสม และทันต่อเหตุการณ์ปัจจุบัน

“สบส.ได้มอบรางวัล อสม. ดีเด่นระดับชาติ ประจำปี 2562 สาขานมแม่ และอนามัยแม่และเด็ก ให้แก่ นางจรรยา คำดี ซึ่งเป็น อสม. ชาวเขาชนเผ่าอาข่าคนแรกของประเทศ ดำเนินงานในพื้นที่สูง บ้านป่าดู่ หมู่ 13 ต.ป่าซาง อ.แม่จัน จ.เชียงราย มีประชากรทั้งหมด 511 คน ส่วนใหญ่เป็นเผ่าอาข่าและชนเผ่าพื้นเมืองมีอาชีพเกษตรกรรม ซึ่งมีวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน มีข้อจำกัดด้านภาษา ทำให้สื่อสารกับเจ้าหน้าที่ไม่เข้าใจ ทำให้ประชาชนขาดความรู้เรื่องสุขภาพ การป้องกันโรคอย่างถูกต้อง โดยจะเป็นสื่อกลางด้านภาษาและการดำเนินงานร่วมกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ คัดกรองหญิงตั้งครรภ์รายใหม่ให้ฝากครรภ์ โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์ที่ขาดความรู้ในการปฏิบัติตน การกินอาหารที่ไม่มีประโยชน์ หรือมีพฤติกรรมเสี่ยง ส่งผลให้เด็กที่เกิดมามีพัฒนาการล่าช้ากว่าปกติ และแนะนำให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ อย่างน้อย 6 เดือน รวมถึงติดตามเยี่ยมเด็กที่เกิดใหม่ทุกคน ค้นหาเด็กที่มีพัฒนาการล่าช้าให้ได้เร็วที่สุด หากพบจะแนะนำให้พ่อแม่กระตุ้นพัฒนาการลูกและส่งต่อให้สถานบริการให้เป็นไปตามวัย” นพ.ณัฐวุฒิ กล่าว

ทั้งนี้ นพ.ณัฐวุฒิ กล่าวว่า นางจรรยา ยังเป็นต้นแบบการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เพราะเชื่อว่าการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ทำให้เกิดความรักความผูกพันระหว่างแม่กับลูก และน้ำนมแม่มีประโยชน์ สามารถสร้างภูมิต้านทานโรคได้

Advertisement

“นอกจากนี้ อสม. จรรยา ยังได้คิดค้นนวัตกรรมกระตุ้นพัฒนาการเด็กเล็กด้านสมอง ให้เกิดการเรียนรู้ โดยนำวัสดุจากธรรมชาติ เช่น ลูกสะบ้า และของเล่นที่มีอยู่ในท้องถิ่นมาปรับใช้ ฝึกเด็กได้พัฒนากล้ามเนื้อและประสาทสัมผัส ทำให้เด็กมีความสุขและได้เรียนรู้จากการเล่น เพราะเชื่อว่าของเล่นไม่จำเป็นต้องราคาแพง ก็สามารถทำให้เด็กได้เรียนรู้ และมีพัฒนาการที่ดีได้ นอกจากนี้แล้วยังได้ดำเนินกิจกรรมปันรักไข่ 1 ฟอง นม 1กล่อง โดยการเปลี่ยนวิธีการขอรับบริจาคเงินเป็นขยะรีไซเคิลแทน โดยนำขยะที่ได้รับบริจาคไปขาย และนำเงินที่ได้แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ เป็นเงินทุนการซื้อของเก่าครั้งต่อไป และอีกส่วนหนึ่งนำไปซื้อไข่และนมมาให้เด็กเล็กที่มีอายุ 6 เดือนถึง 2 ปี หญิงตั้งครรภ์ รวมถึงผู้ป่วยและผู้พิการในชุมชน ซึ่งทำเป็นประจำทุกเดือน ทั้งเป็นการลดขยะภายในชุนชน และเป็นการส่งเสริมให้เด็กได้รับคุณค่าทางอาหารอีกด้วย” นพ.ณัฐวุฒิ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image