แพทย์ นักวิชาการ กม.จุฬาฯ โต้ “ไอเอ็นซีบี” กังวลไทยใช้ “กัญชา” รักษาผู้ป่วย ชี้แค่ข้อห่วงใยของคนไม่รู้กติกา

กรณีนายวิโรจน์ สุ่มใหญ่ ประธานคณะกรรมการควบคุมสารเสพติดระหว่างประเทศ (International Narcotic Control Board: INCB) แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับข้อกฎหมายระหว่างประเทศเรื่องกัญชาและการใช้ประโยชน์จากกัญชาทางการแพทย์ของประเทศไทย โดยแสดงความกังวลว่าหากดำเนินการใดๆ ที่ละเมิดอนุสัญญาว่าด้วยยาเสพติด 1961 อาจถูกมาตรการลงโทษ เช่น ไม่สามารถนำเข้ายาที่อยู่ภายใต้อนุสัญญา ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อระบบสาธารณสุขของประเทศนั้น

เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา อาจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ข้อกังวลดังกล่าวเป็นเพียงคำขู่ไม่ให้ประเทศไทยได้ใช้ประโยชน์จากกัญชา และถือว่ากำลังคุกคามอธิปไตยของประเทศไทย ดังนั้นคนไทยทุกคนต้องลุกขึ้นมารับทราบและปกป้องพืชกัญชาของประเทศไทย เพื่อช่วยคนป่วย คนยากไร้

“อนุสัญญาว่าด้วยยาเสพติด 1961 มีเจตนารมณ์ที่จะให้ประเทศภาคีเข้าถึงกัญชาเพื่อใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ได้ ซึ่งระบุไว้ในมาตรา 14 วรรค 1 ว่า ไอเอ็นซีบีสามารถขอหารือกับประเทศที่จะใช้กัญชาในทางการแพทย์ว่ามีแนวทางจะดำเนินการอย่างไร เพื่อไม่ให้ขัดกับอนุสัญญา แต่หากตกลงกันไม่ได้ ก็จะมีการหารือกับประเทศภาคีเพื่อลงความเห็น ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่ใช่กฎหมายระหว่างประเทศ แต่ถือเป็นเพียงข้อตกลงของประเทศภาคีเท่านั้น ซึ่งอาจจะไม่ตกลงตามข้อเสนอของไอเอ็นซีบีก็ได้” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวและว่า กรณีที่มีการแสดงความกังวลเกี่ยวกับเรื่องนี้ แสดงว่ายังไม่เข้าใจเจตนารมณ์ของอนุสัญญาดังกล่าว

ด้าน ผศ.ดร.คนึงนิจ ศรีบัวเอี่ยม อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า สำหรับเรื่องนี้ 1.เป็นการตีความกฎหมาย โดยคนที่ไม่ใช่นักกฎหมาย ที่สำคัญไม่ใช่นักกฎหมายระหว่างประเทศ เพราะหากเป็นนักกฎหมายระหว่างประเทศจะมีความรู้ความเข้าใจเฉพาะทางกว่านักกฎหมายทั่วไป 2.บุคลากรในไอเอ็นซีบีเป็นผลผลิตของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สะท้อนให้เห็นบุคลิกภาพความเป็น อย. 3.มีความเข้าใจแต่นโยบาย (Policy) แบบผิวเผิน แต่ไม่เข้าใจกฎหมาย (Law) ไม่เข้าใจหลักการของอนุสัญญา (Convention) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายระหว่างประเทศ และไม่เข้าใจเจตนารมณ์ของกฎหมายหรืออนุสัญญา

Advertisement

“ในอนุสัญญาฯ 1961 ระบุให้กัญชาอยู่ 2 บัญชี คือ บัญชี 1 และบัญชี 4 สำหรับบัญชี 1 นั้น อนุสัญญาจะห้ามปลูก ห้ามผลิต ถูกต้องตามไอเอ็นซีบี แต่กัญชาที่อยู่ในบัญชี 4 นั้น เป็นไปเพื่อการแพทย์ ไม่ได้ห้ามปลูกหรือห้ามผลิต และบัญชี 4 เป็นบัญชีที่องค์การอนามัยโลกให้คำแนะนำ ดังนั้น ถ้ากัญชาถูกปลูก หรือผลิตตามเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลกกำหนด ย่อมถือว่าเป็นไปตามบัญชี 4 สามารถทำได้ ภายใต้การควบคุมของภาครัฐ หมายความว่า ถ้าปลูกกัญชา ต้องปลูกเพื่อการแพทย์เท่านั้น ส่วนการปลูกที่อธิบายไม่ได้ว่าเพื่อการแพทย์หรือไม่นั้น คณะกรรมการไอเอ็นซีบี อาจตีความว่าเป็นการปลูกเพื่อเสพ ที่ไม่ใช่การแพทย์ แต่ถ้าปลูกเพื่อการแพทย์ย่อมไม่ใช่ปัญหา และไม่ใช่เรื่องผิด” ผศ.ดร.คนึงนิจ กล่าว

นอกจากนี้ ผศ.ดร.คนึงนิจ กล่าวว่า มาตรา 14 ของอนุสัญญาฯ 1961 ได้ให้อำนาจคณะกรรมการไอเอ็นซีบีในการเข้าไปในรัฐภาคีเพื่อปรึกษาหารือเกี่ยวกับกฎหมายภายในได้ หากคณะกรรมการไอเอ็นซีบีเห็นว่าไม่ได้ปลูกเพื่อใช้ในทางการแพทย์

“มาตรา 14 วรรค 1 เป็นกระบวนการดำเนินการของไอเอ็นซีบี ในกรณีที่เห็นว่ารัฐภาคีกำลังสุ่มเสี่ยงที่จะละเมิดอนุสัญญาฯ ส่วนมาตรา 14 วรรค 2 เป็นบทแซงก์ชั่น (Sanction) ที่ให้ไอเอ็นซีบีนำมาใช้ชั่วคราวในกรณีที่ได้ดำเนินการตามวรรค 1 ตั้งแต่ (a) – (d) ครบถ้วนแล้ว แต่รัฐภาคีนั้นยังละเมิดอนุสัญญาฯ อยู่ดี อย่างไรก็ตาม การใช้มาตรา 14 วรรค 2 บังคับได้ จะต้องผ่านกระบวนการตามมาตรา 14 วรรค 1 ให้ครบถ้วนก่อน ไม่ใช่ว่าอยู่ๆ จะใช้ได้เลย” ผศ.ดร.คนึงนิจ กล่าว

Advertisement

ทั้งนี้ ผศ.ดร.คนึงนิจ กล่าวว่า สำหรับกรณีประเทศไทยนั้น ไอเอ็นซีบีจะต้องเปิดการเจรจากับรัฐบาลไทย เพื่อปรึกษาหารือกันก่อน ซึ่งอาจเชิญตัวแทนรัฐบาลมาดัดแปลง แก้ไข มาตรการเกี่ยวกับการปลูกกัญชาให้เป็นไปเพื่อทางการแพทย์มากกว่าการกระทำเพื่อเสพแบบยาเสพติด หรืออาจเชิญผู้เชี่ยวชาญต่างๆ มาให้คำแนะนำรัฐบาลไทย เกี่ยวกับมาตรการที่จำเป็นในการควบคุมกัญชา เป็นต้น และในกรณีที่ประเทศไทยไม่ยอมรับมาตรการต่างๆ ที่ไอเอ็นซีบีและผู้เชี่ยวชาญให้คำแนะนำ ไอเอ็นซีบีจึงจะนำเสนอปัญหาดังกล่าวไปยังสมัชชาใหญ่ คณะมนตรีเศรษฐกิจ ขององค์การสหประชาชาติ (UN) และภาคีทั้งหลายเพื่อวินิจฉัยปัญหาการละเมิดสนธิสัญญา ขณะเดียวกัน หลังจากที่ไอเอ็นซีบีนำเสนอปัญหาให้ยูเอ็น และภาคีทราบแล้ว ในกรณีจำเป็น ไอเอ็นซีบีก็อาจเสนอให้ภาคีสมาชิกอื่นๆ ระงับการนำเข้าหรือส่งออกยาเสพติดที่ใช้ในทางการแพทย์ เช่น มอร์ฟีน เป็นต้น ไปยังประเทศไทยได้ อันเป็นมาตรการชั่วคราว แต่มาตรการเหล่านี้ เป็นมาตรการที่ไม่สามารถบังคับประเทศภาคีอื่นๆ ให้ปฏิบัติตามได้ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับแต่ละภาคีว่าจะทำตามหรือไม่ เพราะบทแซงก์ชั่น ตามมาตรา 14 วรรค 2 ก็ไม่ได้เป็นการบังคับรัฐภาคีอื่นๆ ให้ต้องทำตาม เพราะใช้คำว่าแนะนำ (Recommend) เท่านั้น

“ประเด็นนี้เป็นไปตามหลักอำนาจอธิปไตยของรัฐ ถือว่าเป็น Jus Cogen ซึ่งชาติต่างๆ ไม่อาจละเมิดอำนาจอธิปไตยกันได้ ตามประโยคที่ว่า …recommend to Parties that they stop the import of drugs, the export of drugs, or both, from or to the country or territory concerned… ซึ่งทำให้ประเทศแคนาดา สหรัฐอเริกา จึงเฉยๆ กับมาตรการนี้ เพราะทั้ง 2 ประเทศผลิตยาได้เอง” ผศ.ดร.คนึงนิจ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image