ปลัด สธ.จัดงบช่วย ‘รพ.สุรินทร์’ ผุดระบบวิเคราะห์น้ำบาดาล หวั่นไม่สะอาด ยันไม่กระทบมาตรฐานรักษา

เมื่อเวลา 14.00 น.วันที่ 13 สิงหาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัด สธ. เปิดเผยภายหลังประชุมทางไกลผ่านระบบวิดีโอกับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) และผู้อำนวยการ (ผอ.) โรงพยาบาลในพื้นที่ 44 จังหวัด ที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำจากภาวะฝนทิ้งช่วง ว่า สธ.ได้ติดตามสถานการณ์การขาดแคลนน้ำในสถานพยาบาลในพื้นที่เสี่ยงมาอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลล่าสุดมีพื้นที่เสี่ยงสูง 8 จังหวัด ได้แก่ เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ สุพรรณบุรี ศรีสะเกษ นครราชสีมา ชัยภูมิ สุรินทร์ และกำแพงเพชร โดยขณะนี้ แต่ละจังหวัดได้จัดทำแผนบริหารจัดการน้ำของสถานพยาบาล สำรวจปริมาณการใช้น้ำปกติ และปริมาณการใช้น้ำตามแผนฯ และได้ประสานกับหน่วยงานในจังหวัด อาทิ ทหาร การประปาภูมิภาค (กปภ.) บาดาล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เพื่อจัดหาแหล่งน้ำสำรองให้พอเพียงสำหรับจัดบริการ โดยเฉพาะในหน่วยบริการสำคัญ เช่น ห้องผ่าตัด หน่วยฟอกไต ห้องไอซียู ทั้งนี้ส่วนกลางพร้อมให้การช่วยเหลือสนับสนุน พร้อมขอให้แจ้งมายังกองสาธารณสุขฉุกเฉินตลอด 24 ชั่วโมง

นพ.สุขุม กล่าวว่า ภายหลังนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการ สธ. ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและแก้ไขปัญหาที่โรงพยาบาล (รพ.) สุรินทร์ เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม ข้อมูลล่าสุดในวันนี้พบว่าโรงพยาบาลได้รับการสนับสนุนจากหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา (นทพ.) เจาะบ่อบาดาล และหน่วยงานในพื้นที่ในการขนน้ำ จัดหาแหล่งน้ำเพิ่ม  และได้เจาะบ่อบาดาลแล้วเสร็จ 8 บ่อทำให้มีปริมาณน้ำใช้เพิ่ม 800,000 ลิตรต่อวัน  โดยน้ำที่ได้จะผ่านระบบการกรองปรับปรุงคุณภาพน้ำ เพียงพอทั้งห้องผ่าตัด ห้องปฏิบัติการ หน่วยไต และหน่วยบริการอื่น ๆ ทำให้ไม่กระทบต่อบริการประชาชน แต่อย่างไรก็ตาม รพ.สุรินทร์ ยังคงมาตรการประหยัดน้ำจนกว่าจนกว่าสถานการณ์น้ำประปาในตัวเมืองจะเข้าสู่ภาวะปกติ

“รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการ สธ. ได้กำชับให้สถานพยาบาลทุกแห่งต้องมีมาตรการบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอบริการประชาชน ทั้งแผนจัดหา แผนสำรองน้ำ และมาตรการประหยัดน้ำ และให้ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและให้การสนับสนุน” นพ.สุขุมกล่าว และยืนยันว่า ขณะนี้ ยังไม่มีโรงพยาบาลใดขาดแคลนน้ำขั้นวิกฤตกระทบต่อผู้ป่วย ขอให้จังหวัดพื้นที่เสี่ยงติดตามสถานการณ์เตรียมแผนจัดการน้ำในแต่ละพื้นที่ ให้ความรู้แก่ประชาชนในการป้องกันโรค ได้แก่ โรคอุจจาระร่วง อาหารเป็นพิษ เป็นต้น กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ เตรียมยาและเวชภัณฑ์ สำรองเก็บกักน้ำไว้ใช้ในงานบริการและการอุปโภคบริโภคของเจ้าหน้าที่ให้เพียงพอ รวมทั้งขอความร่วมมือเจ้าหน้าที่และผู้รับบริการในการประหยัดน้ำ

Advertisement

ผู้สื่อข่าวถามถึงข้อกังวลถึงมาตรการการรักษาพยาบาลที่จะได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนน้ำ จากภัยแล้ง นพ.สุขุม กล่าวว่า ภัยแล้งไม่กระทบต่อมาตรฐานการรักษาของโรงพยาบาล ทั้งโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชน และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เนื่องจากทุกแห่งได้มีมาตรฐานพยาบาล HA (Hospital Accreditation) ซึ่งเป็นมาตรฐานพยาบาลสำคัญในการดูแลพี่น้องประชาชน ตลอดจนความพร้อมของบุคลาการทางการแพทย์ที่พร้อมปฏิบัติงานและช่วยกันอย่างเต็มที่

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมทางไกลผ่านระบบวิดีโอ นพ.สสจ. และ ผอ.โรงพยาบาลที่อยู่ใน 8 พื้นที่เสี่ยงสูง ได้รายงานภาพรวมว่า สถานการณ์โรงพยาบาลในพื้นที่ 44 จังหวัด ที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำจากภาวะฝนทิ้งช่วงนั้น ปัจจุบันอยู่ในสถานการณ์ปกติแล้ว โดยหลายโรงพยาบาลที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ ได้ลดการใช้น้ำลงร้อยละ 50 พร้อมจัดระบบสำรองน้ำในโรงพยาบาล เพื่อให้มีน้ำเพียงพอในการให้บริการการรักษา อาทิ โรงพยาบาลใน จ.ชัยภูมิ ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ ได้จัดประชุมแก้ไขปัญหาภัยแล้ง พร้อมให้จัดทำระบบสำรองน้ำประปาจากแหล่งน้ำในพื้นที่ ช่วยทำให้สถานการณ์น้ำเป็นปกติ ส่วนโรงพยาบาลใน จ.นครสวรรค์ ปัจจุบันการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ได้สนับสนุนน้ำใช้ และมีการขุดน้ำบาดาลเพิ่ม และโรงพยาบาลใน จ.เพชรบูรณ์ แม้ภัยแล้งจะครอบคลุม 11 อำเภอ แต่พบว่าสถานการณ์ปกติ ซึ่งพบ รพ.วิเชียรบุรี น้ำเพียงพอใช้ โดยได้รับการสนับสนุนจากเทศบาลนครวิเชียรบุรี และเจาะน้ำบาดาลเพิ่ม ขณะที่โรงพยาบาลใน จ.นครราชสีมา ซึ่งมี 8 อำเภอ ประสบภัยแล้ง ขณะนี้ยังไม่มีการร้องขอน้ำ และปัจจุบันได้มีการสำรองน้ำใช้ไว้ถึง 6 เดือน รวมถึงภาคกลาง ในพื้นที่ประสบภัยแล้ง อ.เดิมบางนางบวช จ.สุพรรณบุรี พบโรงพยาบาลส่วนใหญ่สามารถผลิตน้ำใช้เอง ทำให้มีน้ำเพียงพอและไม่พบปัญหาในการให้บริการผู้ป่วย

นพ.ประวีณ ตันฑประภา ผู้อำนวยการ รพ.สุรินทร์ กล่าวผ่านการประชุมทางไกลว่า ภายหลังรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการ สธ. ลงพื้นที่ติดตามปัญหาดังกล่าว พร้อมสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสนับสนุน โดยหลังจาก รพ.สุรินทร์ มีปัญหาขาดน้ำ ก็มีการขุดน้ำมาใช้ แต่บางส่วนไม่สามารถนำมาใช้ได้ เพราะน้ำขุ่น จึงต้องเลือกแต่น้ำสะอาดมาใช้ในการผ่าตัด และฟอกไต ต่อมาได้จัดทำแผนบริหารจัดการน้ำ โดยระยะเร่งด่วน ได้ในการลดน้ำใช้จากเดิมใช้น้ำวันละ 1.4 ล้านลิตร เหลือ 5 แสนลิตร ขณะเดียวกัน ได้รับการสนับสนุนจากผู้ว่าราชการจังหวัด และ กปภ.ถึง 4 แสนลิตร พร้อมยังเจาะบาดาลเพิ่ม 8 หลุม ทำให้มีน้ำใช้เพียงพอ พร้อมนำน้ำบาดาลที่เจาะได้จะนำไปตรวจคุณภาพ พบน้ำใส ไม่มีให้สารเหล็กอันตราย และค่าตรวจสอบคุณภาพน้ำเป็นปกติ

“นอกจากนี้ ปลัดกระทรวงสาธารณาสุขได้จัดสรรงบประมาณจัดทำระบบวิเคราะห์สภาพน้ำ เพื่อความปลอดภัยในการนำมาใช้บริการ ซึ่งจะเริ่มทดสอบระบบในวันที่ 14 สิงหาคมนี้” นพ.ประวีณ กล่าว

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image