สุ่มตรวจ ‘แกงไตปลาแห้ง’ พบ ‘สารกันบูด’ เกินมาตรฐาน 4 ตัวอย่าง

เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม น.ส.มลฤดี โพธิ์อินทร์ นักวิชาการด้านอาหาร มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ร่วมกับ ภญ.ชโลม เกตุจินดา เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคใต้ แถลงว่า จากการเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ได้สุ่มเก็บตัวอย่างแกงไตปลาแห้ง จำนวน 15 ตัวอย่าง จากตลาดสดและร้านขายของฝากในภาคใต้ ส่งตรวจวิเคราะห์ปริมาณสารกันบูดประเภทกรดซอร์บิกและกรดเบนโซอิก เป็นครั้งที่ 2 หลังจากสุ่มตรวจครั้งแรกเมื่อเดือนมีนาคม 2561 พบว่ามีผลิตภัณฑ์แกงไตปลาแห้ง 5 ตัวอย่าง ที่ตรวจไม่พบสารกันบูดทั้งสองชนิด ดังนี้ ยี่ห้อคุณแม่จู้ จากร้านจี้ออ อ.เมือง จ.กระบี่ ยี่ห้อแม่อร กระบี่ จากร้านศรีกระบี่ อ.เมือง จ.กระบี่ ยี่ห้อจี้ถ้าน พังงา จากร้านต้นข้าว-ต้นขิง สนามบินหาดใหญ่ ยี่ห้อ วิน Win จากร้านเฟิร์ส & เฟิร์น สนามบินหาดใหญ่ และยี่ห้อวังรายา จากร้านขายของฝาก จ.ปัตตานี

ทั้งนี้ พบมี 6 ตัวอย่าง ที่ตรวจพบสารกันบูด แต่ไม่เกินมาตรฐาน คือ ยี่ห้อ ณ ชุมพร จากร้านของฝาก อ.เมือง จ.ชุมพร กรดเบนโซอิก 23.94 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม (มก./กก.) ยี่ห้อแม่จิตร สุราษฎร์ธานี จากตลาดสดเทศบาล สุราษฎร์ธานี กรดเบนโซอิก 136.21 มก./กก. ยี่ห้อจันทร์เสวย จากร้านขายของฝาก จ.ปัตตานี กรดเบนโซอิก 180.83 มก./กก. ยี่ห้อลุงหรอย จากร้านปิ่นโต สนามบินหาดใหญ่ กรดเบนโซอิก 218.96 มก./กก.
ยี่ห้อเจ๊น้อง จากร้านศรีกระบี่ อ.เมือง จ.กระบี่ กรดเบนโซอิก 338.19 มก./กก. ยี่ห้อชนิดา พังงา จากร้านเฟิร์ส & เฟิร์น สนามบินหาดใหญ่ กรดเบนโซอิก 482.62 มก./กก.

ส่วนอีก 4 ตัวอย่าง พบปริมาณสารกันบูดประเภทกรดซอร์บิกหรือกรดเบนโซอิก เกินมาตรฐาน คือ ยี่ห้อคุณแม่จู้ จากร้านของฝากแม่จู้ ถ.เทพกษัตรี จ.ภูเก็ต กรดซอร์บิก 1190.45 มก./กก. ยี่ห้อแม่กุ่ย ภูเก็ต จากร้านของฝากแม่กุ่ย จ.ภูเก็ต กรดซอร์บิก 1107.64 มก./กก. ยี่ห้อเจ้นา พังงา จากตลาดสดเทศบาล สุราษฎร์ธานี กรดเบนโซอิก 971.76 มก./กก. ยี่ห้อป้าสุ สุราษฎร์ธานี จากตลาดกิมหยง อ.หาดใหญ่ กรดซอร์บิก 697.23 มก./กก และ กรดเบนโซอิก 332.01 มก./กก.

Advertisement

น.ส.มลฤดีกล่าวว่า เคยสุ่มตรวจแกงไตปลาแห้งครั้งแรก เมื่อมีนาคม 2561 จำนวน 10 ตัวอย่าง พบว่ามี 5 ยี่ห้อ ที่มีสารกันบูดเกินมาตรฐาน และครั้งที่ 2 ตรวจ 15 ตัวอย่าง พบว่าเกินมาตรฐาน 4 ยี่ห้อ ซึ่งดีขึ้นกว่าเดิม โดยเฉพาะ 3 ยี่ห้อ ที่มีสารกันบูดเกินมาตรฐานในครั้งแรก คือ ยี่ห้อชนิดา จันทร์เสวย และ แม่จิตร ในครั้งนี้พบว่ามีสารกันบูดไม่เกินมาตรฐาน ซึ่งขอชมเชยผู้ประกอบการที่ปรับปรุงสินค้าให้ดีขึ้น การให้ข้อมูลการใช้สารกันบูด บนฉลากบรรจุภัณฑ์พบว่า แกงไตปลาแห้งทั้ง 10 ยี่ห้อ ไม่มียี่ห้อใดเลย ที่ระบุว่า ใช้วัตถุกันเสีย จึงอยากให้ผู้ผลิตปรับปรุงการแสดงฉลากให้ถูกต้อง เพื่อบอกให้ผู้บริโภคทราบ

ภญ.ชโลมกล่าวว่า จากผลตรวจสารกันบูด กว่าร้อยละ 73 ที่ไม่เกินมาตรฐาน หรือไม่พบสารกันบูด และว่าขอให้ผู้ประกอบการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิต เพื่อยกระดับมาตรฐานอาหารของฝากภาคใต้ให้ดียิ่งขึ้น
ก่อนซื้อของฝากจำพวกน้ำพริกหรือแกงไตปลาแห้ง แนะนำให้ดูวันผลิต อย่าดูแค่วันหมดอายุอย่างเดียว เพราะของฝากจำพวกอาหารที่ผลิตเอาไว้นานเกินไป ก็อาจมีกลิ่นหรือรสชาติที่เปลี่ยนแปลงไป แม้ว่าจะยังไม่หมดอายุ ซึ่งหากผู้ประกอบการสามารถระบุทั้งวันผลิตและวันหมดอายุ ก็จะเป็นการเพิ่มความมั่นใจให้ผู้บริโภค

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image