ทธ.เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงธรณีพิบัติภัย54จว. ชี้10ปี มี623ครั้ง อย่าแตกตื่นรอยเลื่อนเวียงแหง

ทธ.เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงธรณีพิบัติภัย 54 จว.
10ปีเกิด623ครั้งอย่าแตกตื่นรอยเลื่อนเวียงแหง

เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม ที่โรงแรมอีสติน มักกะสัน กรุงเทพฯ นายสมหมาย เตชวาล อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี (ทธ.) เป็นประธานการจัดสัมมนาทางวิชาการ เรื่อง ธรณีพิบัติภัยในประเทศไทย ปี 2562

นายสมหมาย กล่าวว่า ประเทศไทยประสบปัญหาธรณีพิบัติภัยอย่างต่อเนื่อง จากสถิติเมื่อปี 2551 – 2561 ย้อนหลัง 10 ปี พบว่าเกิดพิบัติภัย 623 ครั้ง เป็นดินถล่ม ดินไหล รอยแยก และหินร่วง ร้อยละ 61.77 แผ่นดินไหว สึนามิ ร้อยละ 21.29 หลุมยุบร้อยละ 13.06 และตลิ่งทรุด ร้อยละ 4.35 ทำให้เกิดความสูญเสียถึงชีวิตและมูลค่าค่าเสียหายหลายร้อยล้านบาท

นายสมหมาย กล่าวว่า โดยการประชุมนี้มีการแลกเปลี่ยนความรู้เพื่อวางแผนการรับมือธรณีพิบัติภัยให้เกิดความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินมากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฤดูฝน เพราะปริมาณน้ำฝนเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภัยพิบัติได้ ภาคเหนือมีความเสี่ยงมากเนื่องจากภูมิประเทศมีภูเขาสูงชัน จากการสำรวจพื้นที่เสี่ยงทั่วประเทศพบว่า มีพื้นที่เสี่ยง 1,084 ตำบล 332 อำเภอ 54 จังหวัด โดยกรมฯธรณีได้ร่วมกับทุกภาคส่วน รวมทั้งการสร้างเครือข่าย เพื่อร่วมมือเฝ้าระวังและแจ้งเตือนให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลได้อย่างทันท่วงที

Advertisement

อธิบดีกรมฯธรณี กล่าวว่า ปัจจุบันกรมฯธรณี ได้สำรวจรอยเลื่อนมีพลัง และพบว่ามีรอยเลื่อนมีพลังที่ 16 ของประเทศไทย เป็นรอยเลื่อนเวียงแหง อยู่บริเวณด้านตะวันตกเฉียงเหนือของจังหวัดเชียงใหม่ และด้านตะวันตกของดอยอินทนนท์ มีความยาวประมาณ 100 กิโลเมตร ส่วนใหญ่อยู่ในเขตป่า จากหลักฐานการสั่นไหวในชั้นดินเมื่อ 2,000 ปี มีการไหวขนาด 6.7 ซึ่งปัจจุบันมีการสั่นไหวตลอด แต่มีขนาด 1 – 4 แต่อย่างไรก็ตามไม่อยากให้ประชาชนแตกตื่น เพราะกรมฯธรณีและเครือข่ายได้เฝ้าระวัง พร้อมทั้งทำแผนที่พื้นที่เสี่ยง รวมทั้งการปฏิบัติตามในเรื่องการก่อสร้างบ้านเรือน หรือสิ่งปลูกสร้างต่างๆ โดยให้ออกแบบรองรับการสั่นสะเทือนหากเกิดแผ่นดินไหวด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image