‘มหิดล’ ผนึก ‘อ๊อกซ์ฟอร์ด’ ผุด ‘นวัตกรรมฟาสต์แทร็ก’ ลดเวลาพัฒนาวัคซีนมาลาเรียไวแว็กซ์ เหลือ 10 ปี

เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม ที่คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล รศ.นพ.ประตาป สิงหศิวานนท์ คณบดีคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ศ.นิโคลัส เดย์ ผู้อำนวยการหน่วยวิจัยโรคเขตร้อน-อ๊อกซ์ฟอร์ด และ ดร.เจตสุมน สัตตบงกช ประจำศรี หัวหน้าหน่วยวิจัยมหิดลไวแวกซ์ เปิดเผยถึงโครงการศึกษาการติดเชื้อมาลาเรียในประเทศไทย หรือ Malaria Infection Study Thailand (MIST) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างหน่วยวิจัยมหิดลไวแว็กซ์ และหน่วยวิจัยโรคเขตร้อน-อ๊อกซ์ฟอร์ด คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหิดล เพื่อศึกษารูปแบบการติดเชื้อมาลาเลียไวแว็กซ์ในคน และประเมินประสิทธิภาพของยาและวัคซีน

รศ.นพ.ประตาป กล่าวว่า ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจุบันโรคติดเชื้อลดลง เพราะมีวัคซีนป้องกันโรคที่ดี แต่ก่อนนำวัคซีนมาใช้ในคนจะต้องผ่านการทดสอบประสิทธิภาพและประสิทธิผลของยา เพื่อให้แน่ใจว่าวัคซีนมีความปลอดภัย ในประเทศไทยต้องใช้เวลา 20-30 ปี กว่าจะนำวัคซีนมาใช้ได้ ทำให้วัคซีนบางตัวใช้กับโรคในปัจจุบันไม่ได้ผล โดยโครงการศึกษาดังกล่าว จะใช้นวัตกรรมแบบเร่งด่วน หรือเรียกว่า “ฟาสต์แทร็ก” มาช่วยลดระยะเวลาการพัฒนาวัคซีนให้เหลือเพียง 10-15 ปี ซึ่งขณะนี้ได้มีการศึกษาแบบเดียวกันในหลายประเทศ ได้แก่ โคลัมเบีย ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักร และไทยจะเป็นประเทศแรกในภูมิภาคอาเซียนที่พัฒนาระบบฟาสต์แทร็ก

รศ.นพ.ประตาป กล่าวว่า ข้อมูลเมื่อปี 2561 ทั่วโลกมีผู้ป่วยด้วยโรคมาลาเลีย 219 ล้านคน และเสียชีวิตปีละ 500,000 คน โดยมาลาเรียเกิดจากการติดเชื้อโปรโตซัว ที่เรียกว่า พลาสโมเดียม ซึ่งมียุงก้นปล่องเพศเมียเป็นพาหะ โดยเชื้อโปรโตซัวพลาสโมเดียมมีหลายชนิด แต่ชนิดที่ทำให้เกิดโรคในคนมีอยู่ 5 ชนิด ซึ่งเชื้อที่พบบ่อยที่สุดในไทย ได้แก่ ฟัลซิพารัม (Falciparum) และไวแว็กซ์ (Vivax) หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีจะทำให้เสียชีวิตได้ ส่วนไทยมีผู้ป่วยมาลาเรียปีละเกือบ 7,000 ราย โดยไทยจะพัฒนาและทดสอบวัคซีนมาลาเรียสายพันธุ์ไวแว็กซ์ เนื่องจากพบมากในไทย คนไทยป่วยน้อย แต่เป็นพาหะติดเชื้อไม่ออกอาการจำนวนมาก

“ขณะที่นวัตกรรมฟาสแทร็ก จะเกิดขึ้นได้ในบางโรคเท่านั้น จะเป็นโรคที่ไม่อันตราย มียารักษาที่แน่นอน และผู้ป่วยที่ได้รับการทดสอบจะได้รับความปลอดภัย ซึ่งจะไม่ทดสอบกับโรคที่ไม่มียารักษา หรือโรคที่มีความรุนแรงของอาการผลข้างเคียงสูงเด็ดขาด ส่วนสถาบันที่จะใช้นวัตกรรมดังกล่าวได้ต้องมีระบบการศึกษาวิจัยที่มีประสบการณ์สูงมากที่สุดในโลก ทั้งด้านการรักษาและการศึกษาวิจัย ห้องปฏิบัติการ (แล็บ) ทันสมัย และมีจริยธรรม ธรรมาภิบาลและมาตรฐานในทุกขั้นตอนที่ดำเนินการอย่างเคร่งครัด​” รศ.นพ.ประตาป กล่าว

Advertisement

ดร.เจตสุมน กล่าวว่า หัวใจของฟาสต์แทร็ก คือ การทดสอบการติดเชื้อในคน โดยจะเริ่มศึกษาตั้งแต่กระบวนการเพาะยุงที่มีเชื้อไวแว็กซ์ ก่อนนำเชื้อมาจำลองการติดเชื้อในอาสาสมัคร การเก็บตัวอย่างเชื้อ การทดสอบประสิทธิภาพวัคซีน การติดตามผลและการรักษาอาสาสมัครจนหายเป็นปกติ ซึ่งการทดสอบในหลายประเทศ สามารถนำวัคซีนบางตัวที่ทดสอบแล้วเริ่มไปใช้ในทวีฟแอฟริกา กระบวนการนี้จึงมีความปลอดภัย และมาตรฐานสูง ซึ่งการทดสอบในประเทศไทยจะเริ่มในเดือนตุลาคม 2562 พร้อมเปิดรับสมัครอาสาสมัครเข้าร่วมโครงการ

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image