กรมป่าไม้พื้นฟูเขาหัวโล้น 13 จังหวัด 1.5 ล้านไร่ นำร่องนาแห้ว จ.เลย

กรมป่าไม้พื้นฟูเขาหัวโล้น 13 จังหวัด 1.5 ล้านไร่ นำร่องนาแห้ว จ.เลย

เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม ที่กรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมป่าไม้ แถลงถึงการฟื้นฟูพื้นที่ป่าต้นน้ำที่ได้รับการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายของรัฐ (คทช.) ว่า ในวันที่ 25 สิงหาคม นี้ จะมีการเปิดตัวโครงการฟื้นฟูป่าในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1,2 ซึ่งเป็นพื้นที่ คทช.ที่ อ.นาแห้ว จ.เลย โดยมีนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีทส. เป็นประธาน ทั้งกรมป่าไม้จะดำเนินการฟื้นฟูสภาพป่าในพื้นที่ 13 จ. โดยมีแนวทางการฟื้นฟูแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนแรกจะฟื้นฟูพื้นที่ คทช.ลุ่มน้ำชั้น 1,2 ที่มีการอยู่อาศัยทำกินมาก่อนมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) 30 มิถุนายน 2541 เป็นพื้นที่ที่ประชาชนจะได้รับการรับรองสิทธิ์ให้ใช้ประโยชน์ในที่ดินและต้องอยู่ภายใต้ข้อกำหนดของกรมป่าไม้ ซึ่งมีพื้นที่เป้าหมายใน 13 จ.จำนวน 1.5 ล้านไร่ โดยต้องปลูกไม้โครงสร้างซึ่งเป็นไม้ประจำถิ่นเป็นไม้ยืนต้น เช่น สัก ประดู่ ยางนา ร้อยละ 20 ของพื้นที่ รวมเนื้อที่ปลูกป่า 306,017 โดยปลูกตามแนวเขตโดยรอบห้ามตัดเพื่อประในอนุรักษ์ดินและน้ำ ต้องช่วยกันดูแลหากพบต้นไม้ตายต้องมีการปลูกทดแทน โดยกรมป่าไม้จะเป็นผู้สนับสนุนกล้าไม้พันธุ์ดีให้กับราษฎรในพื้นที่นำไปปลูกรวม 5,056,611 กล้า

นายอรรถพล กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังมีพื้นที่ลุ่มน้ำ 3, 4,5 ซึ่งประชาชนสามารถปลูกไม้เศรษฐกิจไว้ในอนาคตสามารถตัดขายได้ไม่ผิดกฎหมาย พร้อมทั้งจะมีการสนับสนุนโดยคณะอนุกรรมการส่งเสริมอาชีพให้ประชาชนปลูกพืชเกษตรอื่นๆ ซึ่งจะสามารถช่วยให้ประชาชนมีรายได้เสริมจากผลผลิตที่เป็นที่ต้องการของท้องตลาดได้ ทั้งนี้สำหรับผลการดำเนินงานของโครงการจัดการที่ดินทำกินให้ชุมชนในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ภายใต้ คทช. ได้ดำเนินการแล้วจำนวน 122 พื้นที่ ใน 55 จังหวัด เนื้อที่รวม 591,209-3-77.06 ไร่ โดยให้ประชาชนในพื้นที่เป็นผู้ปลูกและดูแลรักษา มีกรมป่าไม้เป็นผู้กำหนดแนวทางโดยสัดส่วนพื้นที่ 1 ไร่ ต้องปลูกต้นไม้จำนวน 200 ต้น เป็นไม้โครงสร้างหลักไม้ยืนต้นประจำถิ่น เช่น สัก ยางนา ประดู่ พะยูง จำนวน 100 ต้น ไม้โครงสร้างรองสำหรับรับประทานใบ ผล เช่น ขี้เหล็ก สะตอ จำนวน 50 ต้น โดยสามารถเก็บผลผลิตขายได้ ทั้งนี้พื้นท่ีที่ได้รับการปลูกฟื้นฟูกรมป่าไม้ห้ามไม่ให้ตัดไม้ทุกชนิด เนื่องจากต้องการเก็บพื้นที่ดังกล่าวให้เป็นป่าต่อไป อีกทั้งจะเป็นการลดการปลูกพืชเชิงเดี่ยวที่ทำลายระบบนิเวศทางตรงและทางอ้อมได้อีกทางหนึ่งโดยให้ชาวบ้านเป็นผู้ดูแลอย่างมีส่วนร่วม และเปลี่ยนจากผู้บุกรุกให้กลายมาเป็นผู้ดูแลป่าอย่างแท้จริง

นายอรรถพล กล่าวว่า ปัจจุบันกรมป่าไม้ สามารถเพาะกล้าไม้ได้จำนวน 50 ล้านต้นต่อปี มีทั้งไม้มีค่ามีค่าหายาก ไม้เศรษฐกิจ ไม้ผล โดยปีนี้จะของบเพิ่มเติมเพื่อให้เพาะกล้าไม้ได้ถึง 100 ล้านกล้า ซึ่งมีต้นทุนการเพาะกล้าต้นละ 2.9 บาท เพื่อแจกจ่ายให้กับประชาชนที่มีความต้องการสูงขึ้น

Advertisement

นายอรรถพล กล่าวอีกว่า ในส่วนการป้องกันรักษาป่า กรมป่าไม้ได้ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปีงบประมาณ 2562 มีผลการดำเนินงาน 532 คดี เป็นพื้นที่ความเสียหาย 11,120.53 ไร่ ลดลงเมื่อเทียบกับปีงบประมาณ 2561 ที่มีจำนวน 1,488 คดี เป็นพื้นที่ความเสียหาย 32,637.41 ไร่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image