อย.เปิดรับฟังความเห็นร่างกฎหมายลูก ‘พ.ร.บ.ยาฉบับใหม่’ รวม 4 ฉบับ

พ.ร.บ.ยา-เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่า จากการที่พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ยา พ.ศ. 2510 มีการใช้บังคับมานานกว่า 50 ปี ทำให้การคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาในบางประเด็นไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีทั้งด้านการผลิตและการวิจัยยา รวมถึงการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมยา ซึ่งขณะนี้ พระราชบัญญัติยา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2562 ผ่านขั้นตอนทางกฎหมายและประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม 2562 นี้เป็นต้นไป

นพ.ธเรศ กล่าวว่า ทั้งนี้ อย. เห็นถึงความจำเป็นในการชี้แจงและทำความเข้าใจถึงเหตุผลและเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ. ฉบับแก้ไขนี้ จึงได้จัดให้มีการชี้แจงเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจและเปิดรับฟังความเห็นต่อร่างกฎหมายลำดับรองอีก 4 ฉบับ ได้แก่ (ร่าง) ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดแบบคำขอและใบสำคัญการขึ้นทะเบียนตำรับยา (ฉบับที่ 2), (ร่าง) กฎกระทรวงการขอต่ออายุและการอนุญาตให้ต่ออายุใบสำคัญการขึ้นทะเบียนตำรับยา (ร่าง) ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการทบทวนทะเบียนตำรับยาที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้แล้ว และ (ร่าง) กฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียม ในวันที่ 16 สิงหาคม 2562 ณ กระทรวงสาธารณสุข เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ทั้งผู้รับอนุญาตผลิตยาแผนปัจจุบัน ผู้รับอนุญาตขายยาแผนปัจจุบัน ผู้รับอนุญาตนำหรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งยาแผนปัจจุบัน ผู้รับอนุญาตผลิตยาแผนโบราณสำหรับสัตว์ ผู้แทนสภาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยต่าง ๆ องค์กรภาคเอกชนด้านการคุ้มครองผู้บริโภคที่เกี่ยวข้องกับยา สมาคมที่เกี่ยวข้องด้านยาแผนปัจจุบันและยาแผนโบราณเข้ารับฟังการชี้แจงและแสดงความคิดเห็นทั้งในห้องประชุมและทาง Facebook Live

Advertisement

นพ.ธเรศ กล่าวว่า รวมทั้งยังเปิดให้ผู้เกี่ยวข้องแสดงความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์สำนักยา http://www.fda.moph.go.th/sites/Drug อีกด้วย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนากฎหมายร่วมกันอย่างสร้างสรรค์เพื่อบรรลุเจตนารมณ์ของกฎหมายว่าด้วยยา อย. จะเปิดรับฟังความเห็นผ่านทางเว็บไซต์ดังกล่าวจนถึง 30 สิงหาคม 2562 และจะดำเนินการรวบรวมนำความเห็นและข้อเสนอแนะจากการรับฟังความเห็นในครั้งนี้มาประกอบการพิจารณาปรับปรุงร่างกฎหมายลำดับรองให้เกิดความสมบูรณ์เหมาะสม เพื่อให้การกำกับดูแลระบบยาของประเทศครอบคลุมการคุ้มครองผู้บริโภคและประขาชนมีกระบวนการพิจารณาอนุญาตด้านยาที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ และสร้างความมั่นคงทางยาให้แก่ประเทศต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image