สอบมาตรฐาน “วังขนาย มาราธอน” จัดงานอย่างไร นักวิ่งตาย 2 คน

สอบมาตรฐาน “วังขนาย มาราธอน
จัดงานอย่างไร นักวิ่งตาย 2 คน

“อธิบดีกรมอนามัย” จ่อสอบมาตรฐานกิจกรรม “งานวังขนาย มาราธอน” หลัง 2 นักวิ่งตาย ย้ำต้องมี “หน่วยแพทย์ฉุกเฉิน-จุดปฐมพยาบาล” เตือนก่อนวิ่งเตรียมร่างกายให้พร้อม ระวังหัวใจขาดเลือด

เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยถึงกรณีเหตุสุดเศร้า นักวิ่ง 2 รายเสียชีวิตในงานวิ่งวังขนายมาราธอน ครั้งที่ 9 ที่จ.กาญจนบุรี เมื่อวันที่ 18 สิงหาคมที่ผ่านมา ว่า รายแรกเป็นชาย อายุ 40 ปี เกิดล้มศีรษะฟาดพื้น มือเท้าเขียว ตัวเย็น โดยกรณีเป็นเกิดขึ้นเป็นอุบัติเหตุ ซึ่งเป็นข้อควรระมัดระวังอยู่ ส่วนรายที่สอง เป็นอดีตนายทหารยศพันตรี อายุ 61 ปีหลังวิ่งเข้าเส้นชัย มีอาการเหนื่อย แน่นหน้าอก เมื่อนั่งพัก จากนั้นไม่รู้สึกตัว โดยผู้ป่วยทั้งสองรายได้ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล ก่อนเสียชีวิตในเวลาต่อมา โดยเฉพาะการเสียชีวิตของผู้ป่วยรายที่สอง จะต้องไปดูว่าปกติผู้ตายออกกำลังกายอย่างต่อเนื่องเป็นประจำ หรือมีโรคประจำตัว อาการผิดปกติทางร่างกายเป็นต้นทุนเดิม ก่อนลงวิ่งมาราธอนหรือไม่

“ในการวิ่งมาราธอน ได้มีข้อตักเตือนหรือข้อควรระวังสำหรับนักวิ่งอยู่แล้ว โดยเฉพาะในช่วงกลาง และช่วงปลายก่อนถึงเส้นชัย จะต้องมีการหยุดพัก หรือผ่อนความเร็วในการวิ่งให้เบาลงทีละน้อย เพราะเป็นช่วงที่กล้ามเนื้อและหัวใจจะทำงานอย่างหนัก ในบางรายสามารถเกิดภาวะหัวใจทำงานไม่ปกติ เพียงในระยะสั้นก็ทำให้หัวใจขาดเลือด อาจเกิดอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่ออก เจ็บกล้ามเนื้อ รวมถึงหมดสติและหัวใจหยุดเต้นได้ จึงขอเตือนขณะวิ่ง หากสังเกตเห็นความผิดปกติของร่างกาย ไม่ควรฝืนเพื่อวิ่งเข้าสู่เส้นชัย ควรขอรับการช่วยเหลือจากทีมแพทย์ปฐมพยายามโดยเร็ว ทั้งนี้ ขอให้คำนึงถึงสุขภาพและชีวิตของผู้วิ่งเป็นหลัก ซึ่งภาวะนี้ สามารถเกิดขึ้นได้ แม้ในผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรง และออกกำลังกายอย่างเป็นประจำต่อเนื่อง” พญ.พรรณพิมล กล่าว

Advertisement

พญ.พรรณพิมล กล่าวว่า ในการจัดงานวิ่งมาราธอน จะต้องมีหน่วยแพทย์ รถพยาบาล ประจำตลอดการแข่งขัน รวมถึงจุดพยาบาลตลอดเส้นทางการแข่งขัน โดยเฉพาะบริเวณช่วงกลาง และช่วงปลายของการวิ่ง ซึ่งมีความเสี่ยงสูงว่าอาจมีผู้บาดเจ็บ เมื่อมีผู้ได้รับบาดเจ็บ ทีมแพทย์ฉุกเฉินจะสามารถเข้าไปช่วยเหลือและปฐมพยาบาลได้อย่างทันท่วงที การกำหนดให้มีหน่วยแพทย์ในการแข่งขันวิ่งมาราธอนเพื่อให้ได้มาตรฐานการจัดกิจกรรมนั้น ทางกรมอนามัย และกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา รวมถึงหน่วยงานอื่น อาทิ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น สมาคมวิ่งเพื่อสุขภาพ ได้เห็นชอบให้จัดทำมาตรฐานการวิ่งขึ้นมาใหม่และประกาศใช้ ส่วนกรณีนี้จะต้องร่วมกับกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา ตรวจสอบว่าได้มีการจัดหน่วยแพทย์ประจำกิจกรรมหรือไม่

พญ.พรรณพิมล กล่าวถึงข้อแนะนำทั่วไปสำหรับการออกกำลังกายด้วยการวิ่ง ว่า 1.ต้องเตรียมก่อนถึงวันวิ่ง โดยการออกกำลังกาย หรือซ้อมมาก่อน 2.แนะนำให้เตรียมความพร้อมร่างกาย เช่น การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอเพื่อให้ร่างกายพร้อม ซึ่งการจัดวิ่งมาราธอนส่วนใหญ่จะเป็นช่วงเช้า การไม่ทานอาหารมื้อดึก ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ และการดื่มน้ำให้เพียงพอ 3.การเลือกสวมเสื้อผ้าและรองเท้าที่เหมาะสมกับประเภทการออกกำลังกาย และ 4.ระยะที่วิ่ง ควรลดความเร็ว หรือหยุดพัก เพื่อไม่ให้ร่างกายออกแรงหนักมากเกินไป โดยยึดความรู้สึกของผู้วิ่งเป็นหลัก พร้อมสังเกตร่างกายตนเอง ว่ามีอาการผิดปกติหรือไม่ ความเหนื่อย ความอ่อนล้า หากไม่มั่นใจให้รีบขอความช่วยเหลือยังจุดปฐมพยาบาลทันที สำหรับการออกกำลังกายเป็นเรื่องที่ดี แต่จะต้องเตรียมตัวให้ร่างกายมีความพร้อม โดยคำนึกถึงสุขภาพเป็นหลัก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image