ปลัดสธ.เผยอยู่ระหว่าง จัดส่งยากัญชา 12 โรงพยาบาลศูนย์ ผู้ป่วยต้องใช้ยาเฉพาะ ลมชักเกือบแสนราย

ปลัดสธ.เผยอยู่ระหว่าง จัดส่งยากัญชา 12 โรงพยาบาลศูนย์ ผู้ป่วยต้องใช้ยาเฉพาะ ลมชักเกือบแสนราย

เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงการเปิดให้บริการกัญชาทางการแพทย์ในโรงพยาบาลศูนย์ 12 แห่ง ซึ่งจะเริ่มวันที่ 19 สิงหาคมนี้ ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการ ซึ่งยังไม่ได้มีการรายงานเข้ามาว่าเป็นอย่างไร แต่คาดว่าน่าจะมีการรายงานเข้ามาเบื้องต้นว่า โรงพยาบาลแต่ละแห่งจะดำเนินการอย่างไรบ้างในวันที่ 21 สิงหาคมนี้ ซึ่งเป็นการประชุมวอร์รูมเกี่ยวกับกัญชาทางการแพทย์ โดยจะมีการประชุมทุกสัปดาห์ในวันพุธ

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า ระบบติดตามการใช้สารสกัดกัญชาทางการแพทย์นั้น ในระยะแรก อย.ได้ดำเนินการใน 2 ส่วน ได้แก่ 1.การติดตามปริมาณการสั่งใช้สารสกัดกัญชา ซึ่งตามระบบจะต้องรายงานมายัง อย.เป็นรายเดือน แต่ในช่วงเริ่มต้นจะให้มีการรายงานเร็วขึ้น โดยให้รายงานทุก 2 สัปดาห์ และ 2.รายงานในส่วนของผู้ป่วยทั้งในผู้ที่รับบริการเสร็จสิ้นแล้ว และผู้ที่เริ่มใช้สารสกัดกัญชาในการรักษา โดยให้รายงานเป็นกรณีเฉพาะ เพื่อติดตามดูสถานการณ์ว่ามีปัญหาหรือผลกระทบอะไรหรือไม่ในการให้บริการระยะแรก

นพ.อนันต์ กมลเนตร ผู้อำนวยการโรงพยาบาล (รพ.) สระบุรี กล่าวว่า ขณะนี้ รพ.สระบุรี ได้รับสารสกัดกัญชาจากองค์กรเภสสัชกรรม(อภ.) แล้ว แต่ยังไม่ได้มีการจ่ายยาแต่อย่างใด คาดว่าอาจจะเกิดความเข้าใจผิด คือ สารสกัดกัญชาทางการแพทย์จาก อภ.จะจัดส่งมาถึงโรงพยาบาลศูนย์ทั้ง 12 แห่งภายในวันที่ 19 สิงหาคมนี้ ดังนั้น จึงยังไม่สามารถจ่ายยากัญชาได้ เพราะต้องมีการเตรียมความพร้อมระบบต่างๆ และทำความเข้าใจหารือถึงวิธีในการใช้ก่อน ซึ่งตามที่มีการเวิร์กช็อปร่วมกัน กรมการแพทย์ จะเป็นผู้จัดทำแพคเกจการให้คำแนะนำแก่ผู้ป่วย เพื่อสื่อสารเข้าใจอย่างตรงกัน เช่น โปสเตอร์ที่จะติดในคลินิก รายละเอียดเอกสารการให้คำแนะนำ รวมไปถึงใบยินยอมรับการรักษาที่ต้องให้ผู้ป่วยลงนาม เพราะสารสกัดกัญชาแม้จะผลิตอย่างปลอดภัย ก็ยังเป็นยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จึงจะต้องมีการทำความเข้าใจกับผู้ป่วย หากอาการเข้าได้กับข้อบ่งชี้ในการรักษา ก็จะมีการเซ็นใบยินยอมนี้

Advertisement

“ทั้งนี้ รพ.สระบุรี จะเริ่มเปิดให้บริการคำปรึกษาในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของ สิงหาคมนี้ โดยจะเปิดให้บริการในวันจันทร์ วันพุธ และวันศุกร์ เพื่อให้คำปรึกษาและคัดกรองผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้สารสกัดทีเอชซี ซึ่งข้อบ่งชี้ คือ กลุ่มผู้ป่วยมะเร็งที่มีอาการคลื่นไส้อาเจียนจากการรับยาคีโม โดยคาดว่าจะสามารถเริ่มจ่ายยากัญชาได้จริงคือช่วง กันยายนเป็นต้นไป ซึ่งก็จะพอดีกับการที่ รพ.สระบุรี จะส่งแพทย์และเภสัชกรไปอบรมกัญชาทางการแพทย์เพิ่มเติม ซึ่งขณะนี้ รพ.สระบุรี มีแพทย์ 2 คน แพทย์แผนไทย 2 คน และเภสัชกร 1 คนที่ผ่านการอบรมแล้ว” นพ.อนันต์ กล่าว

ทั้งนี้ สำหรับการให้บริการกัญชาทางการแพทย์จะจ่ายสารสกัดกัญชาให้กับผู้ป่วยกลุ่มโรคที่ได้ประโยชน์ในการใช้กัญชาทางการแพทย์ ได้แก่ 1.ภาวะคลื่นไส้อาเจียนจากเคมีบำบัด 2.โรคลมชักที่รักษายาก หรือดื้อต่อการรักษา 3.ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็งในผู้ป่วยโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง และ 4.ภาวะปวดประสาทที่ดื้อต่อการรักษา โดยข้อมูลการประชุมเชิงปฏิบัติการการขับเคลื่อนนโยบายกัญชาทางการแพทย์ (เวิร์คช็อป) ผู้บริหารระดับสูง จากข้อมูลผู้ป่วยจากระบบ DRG เมื่อปี 2561 ในเขตสุขภาพทั้ง 12 เขต ดังนี้ เขต 1 มีผู้ป่วยโรคลมชัก 9,200 คน โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง 39 คน ภาวะปวดประสาท 420 คน โรคมะเร็ง 63,106 คน เขต 2 โรคลมชัก 5,181 คน โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง 28 คน ภาวะปวดประสาท 235 คน โรคมะเร็ง 31,841 คน เขต 3 โรคลมชัก 4,284 คน โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง 13 คน ภาวะปวดประสาท 154 คน โรคมะเร็ง 26,072 คน เขต 4 โรคลมชัก 5,385 คน โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง 16 คน ภาวะปวดประสาท 218 คน โรคมะเร็ง 26,391 คน เขต 5 โรคลมชัก 7,048 คน โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง 25 คน ภาวะปวดประสาท 402 คน โรคมะเร็ง 44,155 คน เขต 6 โรคลมชัก 7,144 คน โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง 32 คน ภาวะปวดประสาท 402 คน โรคมะเร็ง 37,876 คน

เขต 7 โรคลมชัก 6,749 คน โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง 31 คน ภาวะปวดประสาท 654 คน โรคมะเร็ง 39,674 คน เขต 8 โรคลมชัก7,264 คน โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง30 คน ภาวะปวดประสาท 654 คน โรคมะเร็ง 39,162 คน เขต 9 โรคลมชัก 8,421 คน โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง 23 คน ภาวะปวดประสาท 554 คน โรคมะเร็ง 45,392 คน เขต 10 โรคลมชัก 7,558 คน โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง 15 คน ภาวะปวดประสาท 437 คน โรคมะเร็ง 40,635 คน เขต 11 โรคลมชัก 6,743 คน โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง 47 คน ภาวะปวดประสาท 443 คน โรคมะเร็ง 28,400 คน และเขต 12 โรคลมชัก 5,431 คน โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง 20 คน ภาวะปวดประสาท 458 คน โรคมะเร็ง 25,530 คน ทั้งนี้ รวมจำนวนผู้ป่วยโรคลมชัก 80,408 คน ภาวะปวดประสาท 4,901 คน โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง 319 คน และโรคมะเร็ง 448,234 คน อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้ป่วยดังกล่าวไม่ได้หมายความว่าจะได้รับยาทั้งหมด เนื่องจากคนไข้จะต้องผ่านการวินิจฉัยการใช้โดยแพทย์ให้สามารถใช้สารสกัดกัญชาได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image