อว.ปรับบทบาท ‘อุทยานวิทย์ฯ’ ภูมิภาค เน้นงานเฉพาะด้าน-เพิ่มเครือข่าย

เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยภายหลังประชุมมอบนโยบายและแนวทางการดำเนินงานอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ประจำปีงบประมาณ 2563 ว่า การทำงานของอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค จากนี้จะไม่ทำงานแค่เรื่องวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีเท่านั้น แต่จะต้องทำเรื่องของสังคมศาสตร์ และวัฒนธรรมเชิงพื้นที่ด้วย เพื่อให้เกิดงานวิจัยที่หลากหลาย ที่สำคัญจะต้องมีการขยายพื้นที่การดำเนินงานของอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ที่แต่เดิมมีเพียงมหาวิทยาลัย และมีมหาวิทยาลัยราชภัฎ (มรภ.) เพียง 1 แห่ง คือ มรภ.พิบูลสงคราม จ.พิษณุโลก

“จากนี้ไปให้มีการขยายเครือข่ายด้วยการดึง มรภ.เข้ามาเป็นเครือข่ายใน 10 ภูมิภาคของประเทศ และ ผลักดันให้มีโครงการนวัตกรรมเพื่อสังคม (Social Innovation) คือ การประยุกต์ใช้ ความคิดใหม่ และเทคโนโลยีที่เหมาะสม ในการยกระดับคุณภาพชีวิต ชุมชน และสิ่งแวดล้อม อันจะนำไปสู่ความเท่าเทียมกันในสังคม และสามารถลดความเหลื่อมล้ำได้อย่างเป็นรูปธรรม เช่น ขจัดความยากจน ขจัดความหิวโหย การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี การศึกษาที่เท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำ เป็นต้น จำนวน 1 ใน 3 ของโครงการทั้งหมด” รศ.นพ.สรนิต กล่าว

ปลัด อว. กล่าวว่า นอกจากนี้ ให้เพิ่มอาคารที่ทำการอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค จากเดิมมีที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ม.ขอนแก่น ม.สุรนารี ม.สงขลานครินทร์ แต่ในปีงบประมาณ 2563 จะมีการก่อสร้างอาคารที่ทำการใหม่ที่ ม.อุบลราชธานี และหากมหาวิทยาลัยใดพร้อมก่อสร้างอาคารที่ทำการให้แจ้งความประสงค์ที่สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมกิจการอุทยานวิทยาศาสตร์ (สอว.) สำนักงานปลัด อว. ส่วนการดำเนินงานของอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคในอนาคตให้ดำเนินการเฉพาะเรื่อง เฉพาะด้านมากขึ้น เช่น อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ เน้นเรื่องข้าว อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้ เน้นเรื่องทะเล เป็นต้น

“รวมทั้งมุ่งเน้นการสร้างผลิตภัณฑ์ แก่ผู้รับบริการ เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการ อว. ที่ต้องการพัฒนากำลังคนและสถาบันความรู้ ควรมีการวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ท้าทายของสังคม เช่น ตอบโจทย์เรื่องทรัพยากร สิ่งแวดล้อม การเกษตร มีการวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขัน เช่น การพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรม และมีการวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่และลดความเหลื่อมล้ำ เช่น นวัตกรรมสำหรับเศรษฐกิจฐานรากและชุมขนนวัตกรรม ขจัดความยากจนและเหลื่อมล้ำแบบแม่นยำ เป็นต้น” รศ.นพ.สรนิต กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image