แพทย์แผนไทย-สวก.เอ็มโอยูพัฒนาพันธุ์ “กัญชง-กัญชา-สมุนไพร” 94ชนิด ใช้ปรุงยา16ตำรับ

เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.มรุต จิรเศรษฐสิริ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก นายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) (สวก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (เอ็มโอยู) ด้านการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร และผลักดันงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์อย่างแท้จริง

นพ.มรุต กล่าวว่า สวก.เป็นหน่วยงานขับเคลื่อนด้านการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์พืชสมุนไพรไทย โดยเฉพาะในกัญชา โดยกรมการแพทย์แผนไทยฯ ต้องการให้ สวก.ร่วมวิจัยสายพันธุ์กัญชาในประเทศไทย อาทิ จำนวนสายพันธุ์กัญชาในไทย สายพันธุ์ใดที่เป็นสายพันธ์ไทยแท้ แต่ละสายพันธุ์ให้สารสกัดสำคัญอย่างไรบ้าง เนื่องจากในต้นกัญชา ไม่ได้มีสารสกัดสำคัญเพียงทีเอชซี (THC) ซีบีดี (CBD) ซีบีเอ็น (CBN) และซีบีซี (CBC) แต่ยังมีสารสำคัญอื่นอีกมาก เช่น โปรตีน เป็นต้น ตลอดจนการให้ข้อมูลในเชิงวิเคราะห์ โดย สวก.จะใช้ข้อมูลวิจัยศึกษาจากสถาบันอื่นที่มีการพัฒนาสายพันธุ์กัญชาร่วมด้วย

Advertisement

นพ.มรุต กล่าวว่า มองว่ากัญชามีประโยชน์ และควรนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยเฉพาะในด้านการแพทย์ ซึ่งในส่วนที่พึงระมัดระวังจะต้องมีการป้องกันเพื่อไม่ให้นำไปใช้เป็นสารเสพติด ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงยาได้ และในส่วนของกัญชงมองว่า อนาคตจะเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของไทย ช่วยให้เกษตรกรสามารถปลูกได้ และยังช่วยสร้างรายได้ โดยเฉพาะในน้ำมันเฮมพ์ (Hemp oil หรือ Hemp seed oil) ซึ่งจากการศึกษาพบว่า ในน้ำมันจากเมล็ดเฮมพ์ มีโอเมก้า 3 สูงมาก ซึ่งสามารถนำไปผลิตเป็นผลิตพันธุ์เสริมอาหารได้ ขณะที่กัญชงในหลายสายพันธุ์ที่มีซีบีดีสูง ก็สามารถส่งขายไปยังต่างประเทศได้

“คาดว่าจะมีการปลดล็อกสารซีบีดีในกัญชา จากอนุสัญญายาเสพติดระหว่างประเทศ (INCB) ภายใน 2-3 เดือนนี้ โดยในซีบีดีส่วนหนึ่งสามารถนำไปเป็นส่วนประกอบในการปรุงยา และส่วนประกอบของอาหาร เช่น แคนนาบิสคุกกี้ เครื่องดื่ม น้ำอัดลม เบียร์ ซึ่งปัจจุบันผลิตภัณฑ์เหล่านี้มีขายในต่างประเทศ และเป็นกลุ่มที่มีตลาดขนาดใหญ่ ต่อไปคาดไทยจะสามารถส่งออกได้ โดยขณะนี้ในภูมิภาคเอเชีย ประเทศที่เปิดรับซีบีดีและน้ำมันเฮมพ์ คือ ญี่ปุ่น ทั้งนี้ หากไทยมีการสนับสนุนกัญชง ซึ่ง สวก.ได้มีการวิจัยกัญชงในพื้นที่สูงในหลายปีที่ผ่านมา แต่ผลวิจัยพบสายพันธุ์กัญชงในไทย ส่วนใหญ่จะใช้แต่เส้นใยในส่วนของลำต้น แต่ถ้าจะปลูกให้คุ้ม จะต้องได้ทั้งส่วนของดอก เป็นน้ำมันเฮมพ์ หรือ น้ำมันเมล็ดเฮมพ์ จะสามารถส่งขายได้ราคาสูง” นพ.มรุต กล่าวและว่า ในการลงนามครั้งนี้ จะร่วมมือในการการวิจัยสมุนไพรไทยตัวอื่น ที่กรมการแพทย์แผนไทยฯ ต้องการอีกมากเพื่อผลิตปรุงยาแพทย์แผนไทย ทั้งในผลิตภัณฑ์แชมเปี้ยน ได้แก่ กระชายดำ ไพล ขมิ้นชัน และบัวบก ตลอดจนสูตรตำรับยาไทยที่มีส่วนผสมของกัญชา รวม 16 ตำรับ ซึ่งจะต้องใช้สมุนไพรถึง 94 ชนิด

Advertisement

ด้านนายสุวิทย์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (สวพส.) ได้มีแผนพัฒนาและวิจัยสายพันธุ์กัญชงในไทย และมีผลศึกษาวิจัยระดับหนึ่ง ก็จะสามารถนำข้อมูลมาใช้ในการศึกษาวิจัยได้ โดยในความร่วมมือครั้งนี้ จะร่วมมือบูรณาการการทำงานร่วมกันในการวิจัย และพัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรมการจัดการห่วงโซ่ผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรและตำรับยาแผนไทยให้ครบวงจรให้เป็นรูปธรรม ตั้งแต่การเริ่มต้นการปลูก เทคโนโลยีการปลูก ขั้นตอนการผลิต การเก็บรักษาและการแปรรูป และการผลักดันสู่ตลาด โดยให้กรมการแพทย์แผนไทยฯ ยื่นเรื่องในการขอสนับสนุนทุนวิจัย เพื่อนำไปสู่การส่งเสริมและขยายผล และสามารถขอให้ สวก.สนับสนุนให้มีการนำเสนอผลงานวิจัยทางวิชาการ อีกทั้ง สนับสนุนในการนำผลงานวิจัยไปร่วมนิทรรศการต่างๆ การส่งผลงานเข้าร่วมประกวดในเวทีนานาชาติ และการยื่นขอจดทรัพย์สินทางปัญญา อีกทั้ง ยังสนับสนุนการวิจัยในเชิงนโยบาย

นายสุวิทย์ กล่าวว่า นอกจากนี้ สวก.ได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ประชุมหารือแนวทางการผลักดันผลงานวิจัยด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพให้สามารถผลักดันสู่เชิงพาณิชย์ต่อไป โดยแต่ละปี สวก.จะได้รับงบประมาณปีละ 600-700 ล้านบาท โดยปีงบประมาณ 2563 ได้วางกรอบไว้ 1,500 ล้านบาท แต่ได้รับการเห็นชอบงบจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จำนวน 700 ล้านบาท

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image