กลุ่มอนุรักษ์ฯ บางสะพาน ยื่นร้อง 23 ประเด็น ค้านโครงการผลิตเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสีชุบสี

กลุ่มอนุรักษ์ฯ บางสะพาน ยื่นร้อง 23 ประเด็น ค้านโครงการผลิตเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสีชุบสี

เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เครือข่ายกลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ นำโดยนางจินตนา แก้วขาว พร้อมชาวบ้านกว่า 40 คน เข้ายื่นเรื่องร้องเรียนการคัดค้านรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ) ของโครงการผลิตเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสีชุบสี ต.แม่รำพึง อ.บางสะพาน โดยมีนายวิจารย์ สิมาฉายา ปลัดทส. พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ารับเรื่องร้องเรียนดังกล่าว

นางจินตนา กล่าวว่า พื้นที่ ต.แม่รำพึง อ.บางสะพาน มีพื้นที่กว่า 5,000 ไร่ มีโรงงานเกี่ยวกับหลอมเหล็ก และผลิตภัณฑ์เหล็ก รวม 7 โรงงาน ถือว่าพื้นที่นี้มีโรงานที่ก่อมลพิษมากจนเกินกว่าศักยภาพของพื้นที่จะรับได้แล้ว ซึ่งการที่บริษัท สหวิริยาสตีล อินดัสตรี จำกัด (มหาชน) จะทำโครงการเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสีชุบสีในพื้นที่กว่า 54 ไร่ ย่อมส่งผลกระทบต่อชาวบ้านและสิ่งแวดล้อม และเส้นทางการขนส่งจากโรงงาน-ท่าเรือน้ำลึกประจวบฯ จำนวน 52 แปลง เนื้อที่มากกว่า 800 ไร่ พบว่ามีการทับซ้อนล่วงล้ำไปเข้าในเขตพื้นทีป่าสงวนแห่งชาติคลองแม่รำพึง และที่ผ่านมามีคำพิพากษาศาลปกครองกลาง ระบุว่า บริษัทเอกชนออกเอกสารสิทธิ์ทับที่ดินเขตป่าสงวนแห่งชาติจริง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการอุทธรณ์ในศาลปกครองสุงสุดจากลุ่มทุนเหล็ก

Advertisement

นางจินตนา ระบุว่า พื้นที่ต.แม่รำพึงและบริเวณแหลมแม่รำพึง รวมถึงอ่าวไทย เป็นป่าชายเลนพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับชาติ แต่การศึกษาอีไอเอของบริษัทไม่ศึกษาให้ครอบคลุมในประเด็นสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ที่มีความสำคัญ ซึ่งจะไปกระทบต่อแหล่งวางไข่ปลาทู และสัตว์ทะเล ขณะเดียวกันที่ชุมชนมีการปลูกมะพร้าวอินทรีย์ส่งออกของเกษตรกรไปยังยุโรปปีละล้านลูก ซึ่งหากโรงงานดังกล่าวเกิดขึ้น อาจกระทบต่อมาตรฐานมะพร้าวอินทรีย์ และหากไม่ได้มาตรฐานมะพร้าวจะถูกตีกลับไทย จะทำให้ชุมชนได้รับความเดือนร้อนอีก นอกจากนี้พื้นที่ตั้งของโครงการจะมีการถมที่ดินเพื่อปรับพื้นที่ขนาดประมาณ 54 ไร่ มีระดับสูงกว่า 2 เมตร และหากฝนตกหนักน้ำจะระบายไม่ทันจนส่งผลกระทบต่อชุมชนที่จะประสบอุทกภัยน้ำท่วมระดับที่รุนแรงขึ้น

“นอกจากนี้พบว่าบริษัทมีการซื้อน้ำจาก อบต.พงศ์ประศาสน์ ยูนิตละ 50 สตางค์ และดูดน้ำที่คลองบางสะพานจนน้ำแห้ง ชาวบ้านก็ไม่ได้ใช้น้ำเลยปรากฎว่าเป็นเรื่องที่อำนวยความสะดวกให้ภาคอุตสาหกรรม นำไปสู่การเปิดเขื่อน สร้างอ่างเก็บน้ำในพื้นที่เต็มไปหมด และมาอ้างว่าเป็นการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม แต่จริงๆ แล้วเกิดจากการไปสร้างท่าเรือน้ำลึกขวางทางน้ำ ขวางทางระบบนิเวศ ขวางพื้นที่ชุ่มน้ำและป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งท่าเรือน้ำลึกแห่งนี้เป็นข้อพิพาทที่ศาลสั่งให้เพิกถอนไปแล้ว และชาวบ้านขอคัดค้านเต็มที่ไม่ให้บริษัทใช้เส้นทางขนส่งจากท่าเรือน้ำลึก” ตัวแทนเครือข่ายฯ เผย

Advertisement

นายวิจารย์ กล่าวว่า ได้ย้ำกับทางสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ว่า การพิจารณารายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการนั้น ทางกระทรวงฯ มีนโยบายอย่างชัดเจนว่าไม่ให้พิจารณาแค่ตามหลักฐานที่มีในหน้ากระดาษ แต่ให้พิจารณาอย่างอื่นให้ครอบคลุม เช่น การพิจารณาท่าเรือน้ำลึกที่เป็นเส้นทางขนส่งเข้าไปด้วย เพราะมีการขนส่งผลิตภัณฑ์เหล็กม้วน สารเคมี เชื้อเพลิง ก๊าซเชื้อเพลิง รวมถึงของเสีย ว่าเส้นทางการขนส่งเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อชุมชนหรือไม่ อย่างไรก็ตามทางสผ.ยืนยันว่า ทางบริษัทยังไม่มีการส่งรายงานอีไอเอมาแต่อย่างใด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image