ผู้บริโภคจี้ อย.ออกประกาศให้สินค้าแสดงฉลาก ‘จีเอ็มโอ’ ชัดเจน เห็นง่าย พร้อมใส่ข้อมูลส่วนประกอบ

วันที่ 21 สิงหาคม นายพงษภัทร หงส์สุขสวัสดิ์ นักวิจัยอิสระ เปิดเผยว่า ได้ร่วมกับคณะอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คอบช. ) ด้านอาหาร ยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ และ เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคตะวันตก ศึกษาและวิจัยเพื่อสำรวจความเข้าใจและความคิดเห็นของผู้บริโภคกลุ่มตัวอย่างต่อการแสดงฉลากอาหารจีเอ็มโอ (GMOs) จำนวน 315 คน รวมทั้งสำรวจสถานการณ์การแสดงข้อมูลบนฉลากจีเอ็มโอของผลิตภัณฑ์อาหาร ตามห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อในพื้นที่ภาคตะวันตก 8 จังหวัด จำนวน 35 แห่ง พบว่า ในด้านการรับรู้และความเข้าใจ ผู้บริโภคร้อยละ 74.29 ยังไม่ทราบและไม่แน่ใจว่าจะต้องมีการแสดงข้อมูลฉลากจีเอ็มโอในผลิตภัณฑ์อาหารที่ทำจากข้าวโพดและถั่วเหลืองที่มีส่วนประกอบจีเอ็มโอ ส่วนด้านความพึงพอใจของผู้บริโภคต่อการแสดงข้อมูลฉลากจีเอ็มโอ โดยรวมอยู่ในระดับน้อย เนื่องจากกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 60.85 เห็นว่า เนื้อหาของการแสดงข้อมูลฉลากจีเอ็มโอไม่ชัดเจน และยังมีการติดสัญลักษณ์จีเอ็มโอที่มองเห็นได้ยาก รวมถึงฉลากไม่น่าสนใจ ขณะที่ด้านผลสำรวจสถานการณ์การแสดงข้อมูลฉลากจีเอ็มโอของผลิตภัณฑ์อาหาร พบว่ามีการแสดงข้อมูลฉลากจีเอ็มโออย่างถูกต้องตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพียงจำนวน 5 ตัวอย่าง 1 ยี่ห้อ คือ ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มธัญญาหารสำเร็จรูป ยี่ห้อ Nesvita และมีผลิตภัณฑ์ที่มีการแสดงข้อมูลฉลากผิดกฎหมายว่า NON – GMO จำนวน 40 ตัวอย่าง 19 ยี่ห้อ โดยลักษณะการแสดงข้อมูลมีทั้งที่แสดงเป็น สัญลักษณ์ ตัวเลือก และ ข้อความ

นายพงษภัทร กล่าวอีกว่า จากผลการวิจัยดังกล่าว ผู้บริโภคจึงเสนอให้ อย.มีการออกประกาศหลักเกณฑ์การแสดงข้อมูลฉลากจีเอ็มโอที่มีสัญลักษณ์ชัดเจนและเห็นได้ง่าย ควบคู่กับการแสดงข้อมูลส่วนประกอบของจีเอ็มโอ โดยมีข้อเสนอจากการศึกษาวิจัย ดังนี้ 1.การแสดงฉลากว่ามีส่วนประกอบจากจีเอ็มโอต้องชัดเจน เพื่อสื่อสารให้ผู้บริโภคทราบและเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจซื้อสินค้า 2.ทุกผลิตภัณฑ์ที่มีการใช้วัตถุดิบจาก จีเอ็มโอต้องแสดงบนฉลาก 3.ตัวอย่างการแสดงฉลากจีเอ็มโอควรแสดงเป็น 2 ส่วน คือ ด้านหน้าแสดงสัญลักษณ์ ส่วนด้านหลังเป็นข้อความ 4.อย.ต้องเร่งการออกประกาศฉลากจีเอ็มโอโดยเร็ว 5.ควรเปลี่ยนข้อความการแสดงข้อมูลของ “แป้งดัดแปร (Modified Starch)” เป็น “แป้งดัดแปรทางเคมี” หรือ “แป้งดัดแปรทางกายภาพ” เพื่อลดความสับสนและความเข้าใจผิดของผู้บริโภคเกี่ยวกับ “แป้งดัดแปร” กับ “ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมจากวัตถุดิบดัดแปรพันธุกรรม (GMO)” และ 6.การแสดงฉลากสัญลักษณ์ NON – GMO เสนอเป็น 2 แนวทาง คือ ถ้าไม่ให้แสดงข้อความ แต่มีผู้ประกอบการแสดงข้อความ ให้ดำเนินการทางกฎหมาย และเพิ่มโทษให้มากขึ้นกว่าเดิม หรือถ้าให้แสดงการใช้ข้อความได้ ต้องมีหลักเกณฑ์ เงื่อนไขที่ชัดเจน และต้องมีกระบวนการติดตาม ตรวจสอบ ผลิตภัณฑ์ในท้องตลาด รวมทั้งสามารถพิสูจน์ได้ว่าวัตถุดิบที่นำมาใช้ ไม่มีการปนเปื้อนของส่วนประกอบที่มี GMO โดยต้องมีหลักฐานที่น่าเชื่อถือจากสถาบันวิชาการที่รัฐรับรองมาประกอบ

 

 

Advertisement

 

 

 

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image