ไทยเจ้าภาพประชุมผู้บริหารกลุ่ม ปท.เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รับมือ ‘โรคติดเชื้อไวรัสซิก้า’

เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม ที่โรงแรมมิลเลนเนียม ฮิลตัน กรุงเทพมหานคร นพ.สมบัติ แทนประเสริฐสุข นายแพทย์ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค เป็นประธานเปิดการประชุมระดับผู้บริหารเพื่อพัฒนาความร่วมมือระดับภูมิภาค ในการเตรียมความพร้อมรับมือและตอบโต้โรคติดเชื้อไวรัสซิก้า ในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยการสนับสนุนขององค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศ ได้แก่ องค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งสหรัฐอเมริกา (USAID) องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) องค์การอนามัยโลก (WHO) ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (U.S. CDC) และมูลนิธิเครือข่ายฝึกอบรมระบาดวิทยาภาคสนามอาเซียน (ASEAN+ FETN Foundation)ทั้งนี้ มีผู้บริหารจากหน่วยงานป้องกันควบคุมโรคของกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประกอบด้วย บรูไน ดารุสสาลาม กัมพูชา อินโดนีเซีย สปป.ลาว มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย เวียดนาม รวมถึงประเทศญี่ปุ่น และเครือข่ายการพัฒนา ได้มาร่วมกันแสดงเจตนารมณ์ในการเตรียมความพร้อมรับมือและตอบโต้โรคติดเชื้อไวรัสซิก้าอย่างมีประสิทธิภาพ

นพ.สมบัติ กล่าวว่า เมื่อย้อนกลับไปในช่วงปี 2015-2016 โรคติดเชื้อไวรัสซิก้าได้เริ่มก่อการระบาดในลาตินอเมริกา ส่งผลกระทบรุนแรงทางด้านการแพทย์ สังคม และเศรษฐกิจ เพราะนอกจากก่อให้เกิดโรคที่เคยพบมาก่อน ได้เกิดปัญหาเด็กหัวลีบขึ้น และก่อความกังวลในวงกว้าง จนองค์การอนามัยโลกต้องประกาศภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระหว่างประเทศ ในปี 2016 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ให้ความสำคัญกับโรคนี้ เนื่องจากมียุงลายที่เป็นพาหะนำโรคนี้ ทั้งนี้ กรมควบคุมโรค สธ.โดยการสนับสนุนขององค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศ ได้จัดการประชุมระดับภูมิภาคเรื่องโรคติดเชื้อไวรัสซิก้า ระหว่างปี 2017-2019 โดยมีผู้แทนของหน่วยงานป้องกันควบคุมโรคของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และผู้เชียวชาญด้านโรคติดต่อนำโดยแมลง ได้ร่วมกันวิเคราะห์สถานการณ์การระบาดของโรค มาตรการและเครื่องมือในการป้องกันควบคุมโรค และได้ตกลงกันร่วมพัฒนาคู่มือปฏิบัติงานเตรียมความพร้อมและตอบโต้โรคติดเชื้อไวรัสซิก้า สำหรับประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Zika Operational Guidelines for the Preparedness and Response of Southeast Asian Countries) ซึ่งได้ดำเนินการมาจนสำเร็จลุล่วงแล้ว

Advertisement

” ในการประชุมครั้งนี้ ได้มีการนำเสนอคู่มือปฏิบัติการฉบับดังกล่าวต่อผู้บริหารของทุกประเทศ เพื่อจะได้พิจารณานำไปใช้ประโยชน์ตามบริบทของแต่ละประเทศ ในการต่อสู้กับภัยสุขภาพของภูมิภาค ได้แก่ โรคติดเชื้อไวรัสซิก้า รวมทั้งโรคติดต่อนำโดยยุงลาย โดยเฉพาะไข้เด็งกี และโรคชิคุนกุนยา” นพ.สมบัติ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image