เตรียมรวมหมื่นรายชื่อยื่นสภาเสนอ “ร่างพ.ร.บ.พืชยา กัญชา กระท่อม ฉบับประชาชน” ปลดล็อกกระท่อม

“เครือข่ายนักวิชาการ” เตรียมรวบรวม 10,000 รายชื่อยื่นสภาเสนอ “ร่างพ.ร.บ.พืชยา กัญชา กระท่อม ฉบับประชาชน” ปลดล็อกกระท่อม พร้อมให้ผู้ป่วยปลูกกัญชาบ้านละ 20 ต้น-ชุมชนใช้ประโยชน์ภายใต้ธรรมนูญ ยันไม่ขัดต่ออนุสัญญา INCB

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 24 สิงหาคม ที่อาคารศศนิเวศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) รศ.ดร.คนึงนิจ ศรีบัวเอี่ยม คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผศ.ภญ.ดร.สุนทรี ท. ชัยสัมฤทธิ์โชค คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายไพศาล ลิ้มสถิตย์ ศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ น.ส.สุภัทรา นาคะผิว ผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ และภญ.วีรยา ถาอุปชิต สำนักงานสาธารณสุข (สสจ.) จังหวัดขอนแก่น ร่วมแถลงข่าว “ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) พืชยา กัญชา กระท่อม ฉบับประชาชน” ซึ่งมี นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.พรรคภูมิใจไทย (ภท.) เข้าร่วมงานด้วย

ผศ.ภญ.ดร.นิยดา กล่าวว่า ก่อนอื่นขอบคุณ อ.สำลี ใจดี เป็นผู้ผลักดัน ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ มาอย่างยาวนาน เพราะเชื่อว่ากฎหมายฉบับประชาชนจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน สำหรับกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกัญชาหลายฉบับ อาทิ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2465 พ.ร.บ.กัญชา 2477 พ.ร.บ.พืชกระท่อม พ.ศ.2486 เป็นฉบับหายากเกี่ยวข้องกับการเก็บภาษี การใช้ประโยชน์และควบคุมปริมาณ โดยเฉพาะอนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยสารเสพติด ค.ศ.1961 (Single Convention on Narcotic Drugs 1961) เป็นกฎหมายที่ไทยรับลูกจนเป็น พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 และมีการแก้ไขหลายฉบับ ก่อนจะมีการแก้ไข พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ฉบับที่ 7 พ.ศ.2562 ซึ่งมีผ่อนปรน อย่างไรก็ตาม กัญชาและกระท่อม ยังคงถือเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ เช่นเดิม และกำหนดเป็นสารเสพติดห้ามเสพ ซึ่งมีความผิดร้ายแรงเทียบเท่ายาเสพติดประเภท 1 และเงื่อนไขอื่น จึงนำมาสู่จุดเริ่มต้น ร่างพ.ร.บ.พืชยา กัญชา กระท่อม ฉบับประชาชน

 

Advertisement

นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี

“ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ สาระสำคัญคือ การให้ความสำคัญกับสิทธิชุมชน โดยให้ชุมชนใช้ประโยชน์กัญชา กระท่อม ภายใต้ธรรมนูญชุมชน ต่อมาจะต้องผลักดันนโยบายแห่งชาติ ไม่ใช่เป็นนโยบายของสธ. หรือป.ป.ส. โดยต้องมีคณะกรรมการร่วมพืชยา กัญชา กระท่อม โดยมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานคณะกรรมการ ประกอบด้วยกรรมผู้ทรงคุณวุฒิต่างๆ และจำเป็นจะต้องจัดตั้งสถาบันพืชยา กัญชา กระท่อมแห่งชาติ ซึ่งมีอยู่ในหลายประเทศ และการอนุญาตเกี่ยวกับพืชยา กัญชา กระท่อมและพืชยาอื่น รวมถึงการควบคุมรายา โฆษณาและส่งเสริมการขาย โดยให้ใช้ฐานความคิดกัญชา กระท่อม ต้องถูกควบคุมเช่นเดียวกับยา ตลอดจนระบบการปกป้องดูแลจัดการทรัพยากรของประเทศ จะไม่เอื้อประโยชน์แก่ผู้ใด เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการดูแลทรัพยากร” ผศ.ภญ.ดร.นิยดา กล่าว

Advertisement

นายไพศาล กล่าวว่า เป็นเวลา 40 ปีที่ไทยไม่สามารถเอากัญชา และกระท่อมมาใช้รักษาทางด้านการแพทย์ได้ โดยปัญหาและข้อจำกัดของ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.และฉบับที่ 7 พ.ศ.2562 มีเจตนารมณ์เพื่อการปราบปราม และควบคุมยาเสพติด โดยวงการสาธารณสุข ยังมองว่ากฎหมายฉบับนี้เป็นผลเสียด้านการแพทย์ ซึ่งนิยามยาเสพติดให้โทษ ไม่ตรงกับลักษณะของกัญชา กระท่อม และขาดกลไกที่เหมาะสมในการบริหารจัดการพืชยากัญชา กระท่อม โดยมาตรา 57 กำหนดห้ามมิให้ผู้ใดเสพยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ก่อนถูกแก้ไขในฉบับที่ 7 พ.ศ.2562 แม้ปัจจุบันให้นำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ แต่มีข้อจำกัดหลายประการที่มีความเข้มงวดเกินไป ได้แก่ การขออนุฐาตผลิต (ปลูกกัญชา พืชกระท่อม) ยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ตามมาตรา 26/2 (1) และ (2) ยังเข้มงวดเกินไป แม้จะเป็นการปลูกเพื่อใช้ในทางการแพทย์ หรือรักษาผู้ป่วย ต้องได้รับความเห็นชอบจาก คณะกรรมการยาเสพติดให้โทษ

ไพศาล ลิ้มสถิตย์

นายไพศาล กล่าวว่า ต่อมาควรเปิดกว้างให้นำพืชกระท่อมมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ การศึกษาวิจัย และการใช้ประโยชน์ ซึ่งการบริหารจัดการพืชกระท่อม ยังคงเข้มงวดไม่แตกต่างจากกัญชา โดยพืชกระท่อมมีผลกระทบต่อผู้เสพน้อยกว่ายาเสพติดให้โทษ ทั้งการบริโภคใบกระท่อมถือเป็นวีถีชีวิต หรือวัฒนธรรมของคนในชุมชน และท้องถิ่น โดยเฉพาะภาคใต้ นิยมนำใบมาเคี้ยวเป็นยา ไม่ได้เป็นปัญหาสังคม และขณะนี้พืชกระท่อมยังไม่เป็นยาเสพติดตามกฎหมายยาเสพติดระหว่างประเทศ คือ อนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยสารเสพติด ค.ศ.1961 โดยในเอเชีย กระท่อมเป็นพืชถูกกฎหมายในอินโดนีเซีย ซึ่งรัฐบาลมีการส่งเสริมให้ปลูกแทนยางพารา เพราะมีมูลค่ามากกว่า มีการส่งออกไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา และยุโรป ช่วยสร้างรายได้ให้กับประชาชนจำนวนมาก และยังไม่มีรายงานเชิงสุขภาพและทางสังคมที่ได้รับผลกระทบจากกระท่อม ทั้งนี้ ในอนาคตหากไทยอนุญาตให้ปลูกกระท่อม จะมีมูลค่าทางเศรษฐกิจมาก โดยลำต้นยังสามารถแปรรูปเป็นเฟอร์นิเจอร์ มีความทนต่อปลวก และเป็นพืชโตเร็ว

นายไพศาล กล่าวว่า สำหรับร่าง พ.ร.บ.พืชยา กัญชา กระท่อม พ.ศ. …(ฉบับประชาชน) จะประกอบด้วย 10 หมวด ภาพรวมจะเป็นกฎหมายส่งเสริม สนับสนุนการนำพืชยามาใช้ประโยชน์ การศึกษาวิจัย การส่งเสริมภูมิปัญญาแพทย์แผนไทย ให้ใช้ตามวิถีชุมชน ทำให้เกิดความมั่นคงทางด้านยาและเศรษฐกิจสังคม สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 43 เรื่องสิทธิชุมชน และมาตรา 55 เรื่อง สนับสนุนด้านการแพทย์แผนไทยให้เกิดประโยชน์สูงสุด และการจัดการกระท่อมควรแตกต่างจากกัญชา เพราะกระท่อมไม่ถือเป็นยาเสพติด ควรสนับสนุนให้มีการปลูกกัญชา กระท่อมและพืชยาอื่นตามวิถีชุมชน ยกโมเดลที่ต.น้ำพุ อ.บ้านนาสาร จ.สุราษฎร์ธานี พื้นที่ในไทยที่ป.ป.ส.อนุญาตปลูกกระท่อมเพื่อวิจัย ซึ่งมีการกำหนดกติกาประชาชน ธรรมนูญชุมชนควบคุมกันอีกชั้นหนึ่ง ทั้งนี้ โดยเฉพาะการปลูกกัญชาของผู้ป่วย หรือผู้ดูแลผู้ป่วย (Care Giver) เพื่อใช้ในการป้องกัน บำบัดโรค โดยให้สามารถปลูกได้จำนวนไม่เกิน 20 ต้นต่อครัวเรือน ตั้งแต่ต้นอ่อนจนถึงต้นที่นำมาใช้ หากมองว่าเยอะไปก็สามารถลดจำนวนได้ รวมถึงสถานพยาบาลของรัฐ​ ปลูกเพื่อใช้กับผู้ป่วย ให้ปลูกได้ทันที โดยไม่ต้องขออนุญาต

“ในบทเฉพาะกาล ให้โอนบรรดากิจการ ทรัพย์สิน สิทธิ หนี้สิน และเงินงบประมาณของสถาบันสำรวจและติดตามการปลูกพืชเสพติด สังกัดป.ป.ส.ให้เป็นสถาบันพืชยาฯ ตามพ.ร.บ.นี้ พร้อมโอนพนักงาน รวมถึงให้รัฐบาลจัดสรรเงินอุดหนุนไว้สถาบันปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นการจ่ายทุนประเดิมแก่สถาบันพืชยาฯ ไม่น้อยกว่า 200 ล้านบาท ทั้งนี้ การนิรโทษกรรม จะเปิดกว้างกว่าฉบับที่ 7 กรณีที่มีการผลิต จำหน่าย และครอบครอง อยู่ก่อนวันที่พ.ร.บ.นี้บังคับใช้ เพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ การรักษาผู้ป่วยไม่เกิน 10 กิโลกรัม ไม่ต้องรับโทษ เว้นแต่ผู้ผลิต จำหน่ายไว้ในครอบครองที่มีปริมาณตั้งแต่ 10 กิโลกรัม ให้ลดโทษอาญาลงเหลือหนึ่งในสามตามกฎหมาย” นายไพศาล กล่าวและว่า การปลูกกัญชาเพื่อใช้ทางการแพทย์ยืนยัน ไม่ขัดต่ออนุสัญญายาเสพติดระหว่างประเทศ (INCB) โดยหลายประเทศสามารถทำการปลูกได้ ส่วนในเรื่องการใช้เพื่อสันทนาการไม่ได้อยู่ในขอบเขตร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ ส่วนกรณีที่บอกว่าหากฝ่าฝืนจะมีกระทบต่อการนำเข้านั้น ไม่เกี่ยวข้อง เพราะ INCB ไม่มีอำนาจที่จะทำได้ และไม่มีบทลงโทษ หรือปรับเป็นเงิน

รศ.ดร.คนึงนิจ ศรีบัวเอี่ยม

รศ.ดร.คนึงนิจ กล่าวว่า ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้เป็นขยายผลรัฐธรรมนูญเดิม เพื่อใช้กัญชาประโยชน์ทางการแพทย์ ไม่ใช่เพื่อสันทนาการ เพราะคนยังเข้าใจผิดว่าใช้สูบอย่างครื้นเครงทั้งหมู่บ้าน ภายในร่างพ.ร.บ.จึงมีการกำหนดเรื่องธรรมนูญชุมชนไว้ชัดเจน ก่อนจะต้องมีการกำหนดคณะกรรมร่าง ซึ่งมีผู้แทนจากประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อไม่ให้เกิดการผูกขาดโดยรัฐ นอกจากนี้ ในส่วนของกฎหมายอนุสัญญายาเสพติดระหว่างประเทศ (INCB) ไม่สามารถเข้ามาแทรกแซงได้ เพราะ INCB จะต้องเคารพอำนาจอธิปไตยของประเทศนั้นๆ

น.ส.สุภัทรา กล่าวว่า สิทธิการรักษาสุขภาพ สิทธิการมีชีวิตอยู่ สิทธิการได้รับการรักษาพยาบาล และการเข้าถึงยาเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ภาคประชาชนสนับสนุนให้มีการปลดล็อกร่าง พ.ร.บ.นี้ เป็นจังหวะก้าวสำคัญ เพื่อให้มีการปลดล็อกพืชยา กัญชาและกระท่อม มาใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ได้อย่างสมบูรณ์มากขึ้น โดยการให้ชุมชนรับรองสิทธิชุมชนเอง จะช่วยให้แต่ละชุมชนมีแหล่งยาของตัวเอง ลดการพึ่งพิง ลดภาระค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาล เพราะบางยาไม่ต้องผ่านการสกัด เช่น การใช้พืชยาสด เป็นต้น

“แต่ที่ผ่านมาถูกพ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ 2522 ปิดกั้นไว้ มองว่าการสนับสนุนแพทย์พื้นบ้านควรเปิดโอกาสให้มีโอกาสต่อยอดเป็นเรื่องดี รวมถึงความสามารถพัฒนาสายพันธุ์ของเกษตรกรไทย ตลอดจนสิทธิในการรักษาผู้ป่วยใช้ยารักษาต่อเนื่อง โดยพ.ร.บ.ฉบับนี้จะตอบโจทย์หลายเรื่อง โดยเฉพาะสถาบันพืชยาฯ จะช่วยให้มีชุดข้อมูลความรู้แก่ประชาชนที่ถูกต้อง ทั้งนี้ ภาคประชาชนสนับสนุนร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ และพร้อมจะรวบรวมรายชื่อประชาชน ไม่น้อยกว่า 10,000 รายชื่อ เพื่อเสนอร่างกฎหมายฉบับนี้ในการเปิดประชุมสภาฯ ครั้งต่อไป ภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งไม่ว่ากฎหมายจะผ่านการพิจาณาหรือไม่ แต่จะใช้กฎหมายฉบับนี้ในการให้ความรู้ประชาชนต่อไป” น.ส.สุภัทรา กล่าว

ศุภชัย ใจสมุทร

ด้านนายศุภชัย กล่าวว่า ทางพรรคภท. ตั้งใจผลักดันเรื่องนี้อย่างจริงจัง โดยขณะนี้นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภท. ปัจจุบันได้เข้าไปดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งสิ่งใดสามารถทำได้ในเชิงฝ่ายบริหารจะพยายามผลักดันอย่างเต็มที่ ขณะเดียวกัน มีความพยายามจะเปลี่ยนทัศนคติเกี่ยวกับกัญชาหลายเรื่อง โดยในส่วนของกฎหมายยืนยันว่า จะมีการยื่นเสนอแก้กฎหมายเรื่องนี้อย่างแน่นอน คาดในการเปิดประชุมสภาฯ สมัยหน้า ทั้งนี้ ในส่วนการล่ารายชื่อของประชาชนมองว่าค่อนข้างมีความล่าช้า แต่อย่างไรก็ตาม ทางพรรคภท. ยินดีรับข้อเสนอของประชาชนในการขับเคลื่อนนโยบายกัญชาทางการแพทย์

ทั้งนี้ ภายในงานแถลงข่าวได้มีความคิดเห็นจากผู้เข้าร่วมงานอย่างหลากหลาย โดยส่วนใหญ่สนับสนุนร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว เพื่อเปิดโอกาสให้พี่น้องประชาชนมีสิทธิในการเข้าถึงพืชกัญชามากในทางการแพทย์มากขึ้น รวมถึงการสร้างรายได้ให้แก่พี่น้องประชาชนและเกษตรกร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image