กทม.แจงกรณีหนุ่มโวยแม่ 70 รับเบี้ยยังชีพเกิน 5 ปี ถูกเรียกชดใช้ 5 หมื่น

เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม นายพงศธร ศิริธรรม ผู้อำนวยการเขตบางกอกน้อย กทม. กล่าวชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีมีผู้ร้องเรียน มารดาอายุ 70 ปี อาศัยอยู่ที่เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเกินกว่าจำนวนที่ควรจะได้รับ เดือนละ 700 บาท เป็นเวลา 5 ปี ซึ่งผู้สูงอายุเข้าใจว่าได้รับสวัสดิการอื่น ๆ เพิ่มเติมจากภาครัฐ จึงไม่ได้ท้วงติง และเมื่อวันที่ 22 ก.ค.62 มีหนังสือจากสำนักงานเขตส่งมาที่บ้าน ขอให้ส่งคืนเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ จำนวน 47,600 บาท ภายในวันที่ 15 ส.ค. 62 จึงสงสัยว่าเหตุใดสำนักงานเขตเพิ่งจะมีการตรวจสอบทั้งที่เวลาล่วงเลยมาถึง 5 ปี ว่า สำนักงานเขตบางกอกน้อย ได้รับมอบภารกิจการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2552 โดยจ่ายเดือนละ 500 บาท เท่ากันทุกคน ต่อมาในปีงบประมาณ 2555 รัฐบาลมีนโยบายการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุรายเดือนเป็นแบบขั้นบันได โดยผู้ที่มีอายุ 60 – 69 ปี ได้รับ 600 บาท/เดือน ผู้ที่มีอายุ 70 – 79 ปี ได้รับ 700 บาท/เดือน ผู้ที่มีอายุ 80 – 89 ปี ได้รับ 800 บาท/เดือน และผู้ที่มีอายุ 90 ปีขึ้นไป ได้รับ 1,000 บาท/เดือน การปรับเปลี่ยนอัตราการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุแบบขั้นบันไดดังกล่าว สำนักงานเขตบางกอกน้อยได้ปรับฐานข้อมูลช่วงอายุให้เป็นไปตามอายุจริงของผู้สูงอายุ ซึ่งมีข้อจำกัดในการตรวจสอบอายุและจำนวนเงินที่จะได้รับ โดยเฉพาะในช่วงของการเปลี่ยนแปลงในระหว่างปีงบประมาณ 2554 – 2555 รวมถึงการนับอายุของผู้สูงอายุที่ไม่ระบุวัน เดือน ปีเกิด

นายพงศธร กล่าวว่า จากการตรวจสอบฐานข้อมูลของผู้สูงอายุที่ได้รับเงินเบี้ยยังชีพ ในเขตบางกอกน้อย ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2554 เป็นต้นมา เจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อมูลเป็นประจำทุกเดือน ซึ่งจะมีการบันทึกข้อมูลด้วยโปรแกรม Microsoft Excel ผ่านระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งในบางครั้งระบบการบันทึกข้อมูลไม่เสถียร จึงอาจเกิดข้อผิดพลาดได้ ประกอบกับการตรวจสอบข้อมูลของผู้สูงอายุแต่ละรายต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการ หากตรวจสอบพบข้อบกพร่องเจ้าหน้าที่จะดำเนินการแก้ไขทันทีตามแนวทางที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนด ซึ่งตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2561 เป็นต้นมา กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลังได้ดำเนินการเบิกจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุแทนกรุงเทพมหานคร ผ่านระบบบูรณาการฐานข้อมูลสวัสดิการสังคม (e-social welfare) โดยโอนเงินให้ผู้มีสิทธิรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุผ่านระบบบัญชีธนาคาร พร้อมทั้งมีการติดตามตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หากมีผู้สูงอายุได้รับเงินซ้ำซ้อนหรือเสียชีวิต กรมบัญชีกลางก็จะระงับสิทธิทันที

นอกจากนี้ หากสำนักงานเขตตรวจพบว่าผู้สูงอายุรายใดได้รับเงินซ้ำซ้อน จะมีหนังสือถึงผู้สูงอายุหรือญาติ เพื่อให้นำเงินที่ซ้ำซ้อนส่งคืนสำนักงานเขต ส่วนกรณีการเรียกเงินคืนดังกล่าว หากผู้สูงอายุติดขัดในการคืนเงินเบี้ยยังชีพ หรือไม่สามารถที่จะคืนเงินตามที่สำนักงานเขตแจ้งไว้ได้ สามารถติดต่อขอรับคำปรึกษาได้ที่ฝ่ายพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคม สำนักงานเขตบางกอกน้อย ทั้งนี้ ขอยืนยันว่า เจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการตามกฎหมาย ระเบียบ และแนวทาง ที่กำหนด เพื่อให้ผู้สูงอายุได้รับเงินเบี้ยยังชีพทันตามกำหนดเวลาในแต่ละเดือน มิได้ละเลยหรือเพิกเฉยต่อหน้าที่แต่อย่างใด

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image