พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคฯฉบับ4 มีผลแล้ว! เพิ่มอำนาจเลขาธิการสั่งดำเนินคดีได้ “เทวัญ” เผยเคยเจอกับตัว

วันที่ 25 สิงหาคม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) จัดเวทีเสวนาสาธารณะ “ราชดำเนินเสวนา” หัวข้อ “ผ่า พ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภคฉบับใหม่: สังคมได้อะไร?”หลังจากราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2562 เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2562 และมีผลบังคับใช้แล้ว โดยเนื้อหามีทั้งหมด 38 มาตรา ทั้งนี้ ก่อนการเสวนา มีลูกบ้านของคอนโดมิเนียมแห่งหนึ่งย่านสุทธิสาร ได้ยื่นร้องเรียนต่อ นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กำกับดูแล สคบ. ระบุว่าหลังเข้าอยู่อาศัยในคอนโดฯ ดังกล่าวไม่ถึง 1 ปี พบว่าก่อสร้างไม่ได้มาตรฐาน

นายเทวัญ ได้กล่าวระหว่างเปิดเวทีตอนหนึ่งว่า ในฐานะผู้บริโภคเคยประสบปัญหา เมื่อครั้งที่ซื้อรถเบนซ์ 500E เสียบปลั๊กแล้วใช้ได้ 35 กิโลเมตร (กม.) แต่วิ่งได้จริงเพียง 12 กม.ซึ่งมาทราบภายหลังว่ามีข้อจำกัดต้องขับไม่เกิน 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และไม่เปิดแอร์จึงจะวิ่งได้ถึง 35 กม. ทั้งนี้ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคฯ ฉบับที่ 4 ให้ความคุ้มครองผู้บริโภคมากขึ้น ซึ่งหากตรวจพบ หรือสันนิษฐานว่าผู้ประกอบการโฆษณาสินค้าเกินจริง คณะกรรมการฯ สามารถระงับการนำเสนอโฆษณาหรือสั่งแก้ไขได้ทันที รวมถึงการฟ้องดำเนินคดีกับผู้ประกอบการ จากเดิมต้องผ่านคณะกรรมการบริหาร แต่หากพบว่าเป็นกรณีเร่งด่วน เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ดำเนินการก่อนได้ ส่วนด้านความปลอดภัยในสินค้าอันตราย จะมีการเข้มงวดกับผู้ประกอบการมากขึ้น โดยเพิ่มโทษผู้ประกอบการที่เอาเปรียบผู้บริโภค ขายสินค้าไม่มีคุณภาพ จากเดิมจำคุก 6 เดือน ปรับ 5 หมื่นบาท เพิ่มเป็น 1 แสนบาท นอกจากนั้น ยังมีสภาองค์กรผู้บริโภค ที่รวมตัวกันเพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ช่วยเหลือผู้บริโภคด้วย

“การโฆษณาต้องถูกต้องและเป็นธรรม อย่าง น้ำยาล้างจาน ที่ล้างได้ 1,000 ใบ หากเป็นกฎหมายเดิมต้องพิสูจน์ว่าล้างได้ 1,000 ใบหรือไม่ แต่กฎหมายใหม่ไม่ต้องพิสูจน์ แค่สงสัยว่าโฆษณาดังกล่าวเกินความเป็นจริง สคบ.ก็สามารถเข้าไประงับแก้ไขการโฆษณาให้ถูกต้องได้ โดยไม่ต้องรอให้มีการดำเนินคดี หรือ บัตรพลังงานที่เคยมีข่าวว่ารักษาอาการป่วยได้ กฎหมายฉบับใหม่ แค่สันนิษฐานว่าไม่ถูกต้อง ก็ระงับการโฆษณาได้” นายเทวัญ กล่าว

Advertisement

ด้านนายพิฆเนศ ต๊ะปวง รองเลขาธิการ สคบ. กล่าวว่า พ.ร.บ.ฉบับใหม่ จะทำให้ภาครัฐสามารถจัดการปัญหาได้รวดเร็วขึ้น เช่น ปัจจุบันมักจะมีปัญหาเกี่ยวกับการซื้อขายของทางออนไลน์มากขึ้น จึงจัดตั้งกรรมการที่เกี่ยวข้องกับปัญหานั้นๆ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เข้ามามีอำนาจในการจัดการปัญหาโดยตรง รวมถึงการให้อำนาจเลขาธิการ สคบ. สามารถพิจารณาและสั่งดำเนินคดีได้ โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการพิจารณาของคณะกรรมการ หากพบว่าปัญหานั้นเข้าเกณฑ์ความผิด

ขณะที่ น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) กล่าวถึงองค์ประกอบของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ว่า เสนอให้เพิ่มสัดส่วนตัวแทนฝั่งประชาชน จาก 2 คน เป็น 4 คน และใช้คำที่บ่งบอกชัดเจนว่ามาจากสภาองค์กรฯ รวมทั้งควรเพิ่มสัดส่วนตัวแทนผู้บริโภคในคณะกรรมการเฉพาะด้าน เช่น ด้านโฆษณา ด้านฉลาก ด้านสัญญา ด้านความปลอดภัยของสินค้า เป็นต้น เพื่อให้ผู้บริโภคได้มีส่วนร่วมในการเสนอแนะปัญหาและอุปสรรคในการคุ้มครองผู้บริโภคด้านต่างๆ

“อย่างไรก็ตาม พ.ร.บ. ฉบับนี้ ควรปรับปรุงให้สอดคล้องกับสิทธิระหว่างประเทศ เพราะขณะนี้กฎหมายประเทศไทยคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคน้อยกว่าประเทศในอาเซียน เช่น สิทธิที่จะอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีและปลอดภัย อาทิ ปัญหาฝุ่นพีเอ็ม 2.5 (PM 2.5) หรือสิทธิที่จะได้ข้อมูลที่เป็นความจริง ซึ่งทุกวันนี้ประเทศไทยมีปัญหาเรื่องข่าวปลอมจำนวนมาก หรือแม้แต่สิทธิความเป็นส่วนตัวและการสื่อสารถึงกันอย่างอิสระเสรีบนโลกออนไลน์

Advertisement

นายบรรยงค์ สุวรรณผ่อง อดีตผู้ทรงคุณวุฒิกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคสื่อมวลชน กล่าวว่า พ.ร.บ. ฉบับที่ 4 ไม่ครอบคลุมถึงท้องถิ่น หาก สคบ.สามารถทำให้ภาคท้องถิ่นเข้าใจและมอบอำนาจให้ท้องถิ่นระดับภูมิภาคดูแลกันเอง โดยที่ไม่ต้องส่งเรื่องมายัง สคบ. กลางโดยตรง จะเป็นเรื่องที่ดีมาก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image