ภาคประชาชนเดินหน้าล่าหมื่นชื่อปลดล็อก “พืชยา” กัญชา กระท่อม ออกจาก พ.ร.บ.ยาเสพติดฯ

ความคืบหน้ากรณีเครือข่ายนักวิชาการและภาคประชาชนแถลงเรียกร้องให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญกับร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) พืชยา กัญชา กระท่อม พ.ศ. …(ฉบับประชาชน) ตามหลักสิทธิมนุษยชน ให้สามารถนำพืชยา โดยเฉพาะกระท่อม มาใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ การศึกษา วิจัย การส่งเสริมภูมิปัญญาแพทย์แผนไทยตามวิถีชุมชน โดยขณะนี้ได้มีการล่ารายชื่อผู้สนับสนุนร่าง พ.ร.บ.พืชยาฯ ฉบับประชาชน ไม่น้อยกว่า 1 หมื่นรายชื่อ เพื่อผลักดันเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรครั้งต่อไปนั้น

เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม น.ส.สุภัทรา นาคะผิว ผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ เปิดเผยว่า หลังจากมีการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม ขณะนี้มีผู้สนับสนุนร่าง พ.ร.บ.พืชยาฯ ร่วมลงชื่อแล้วจำนวนหนึ่ง ทั้งนี้ตั้งเป้าว่าจะรวบรวมให้ได้ 10,000-12,000 รายชื่อจากทั่วประเทศ ภายใน 3 เดือน เพื่อเสนอร่างเข้าสภาฯ
น.ส.สุภัทรา กล่าวว่า เจตนารมณ์ของร่าง พ.ร.บ.พืชยาฯ ฉบับประชาชนนั้น ต้องการให้ทั้งกัญชา และกระท่อมออกจาก พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ และสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ และให้ชุมชนปลูกได้ เพื่อช่วยเหลือประชาชนและประเทศได้

“อย่างที่ทราบกันแล้วว่าล่าสุดประเทศไทยมีผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่เพิ่มขึ้นปีละประมาณ 1.7-1.8 แสนคน และยารักษาก็ราคาแพง ประเทศไทยมีค่าใช้จ่ายด้านนี้มาก ถ้ามีการนำพืชยามาใช้ประโยชน์ได้ก็จะลดภาระของประเทศลงได้ ซึ่งขณะนี้ประชาชนกำลังรอความหวังนี้ แต่ในการใช้พืชยาเหล่านี้จะต้องดำเนินการแบบภูมิปัญหาท้องถิ่น หรือแพทย์แผนไทย ใช้สรรพคุณของพืชยาอย่างไม่ผิดวัตถุประสงค์ จึงต้องให้มีการควบคุม”

Advertisement

น.ส.สุภัทรา กล่าวว่า ขณะนี้ในส่วนของกัญชานั้น ได้มีการให้ความรู้และทำความเข้าใจมาระยะหนึ่งแล้ว ขณะที่ในส่วนของกระท่อมได้มีการทดลองปลูกเพื่อการศึกษา วิจัยที่บ้านน้ำพุ อ.นาสาร จ.สุราษฎร์ธานี มาระยะหนึ่ง ซึ่งในเร็วๆนี้ ภาคประชาชนจะเดินทางไปเยี่ยมชมเพื่อความก้าวหน้าของการศึกษาวิจัยกระท่อมด้วย

ด้าน นพ.พิศิษฐ์ ศรีประเสริฐ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ กล่าวว่า ในกรณีร่าง พ.ร.บ.พืชยาฯ ที่ภาคประชาชนเสนอ หากสามารถรวบรวมรายชื่อผู้สนับสนุนได้ตามเป้า ก็สามารถนำเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ ได้ ซึ่งคาดว่าจะต้องมีการพิจารณาร่วมกับกฎหมายยาเสพติดฯ อื่นๆ ที่ยังค้างอยู่ในสภาด้วย

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีความเป็นไปได้หรือไม่ที่จะปลดล็อกพืชกระท่อม นพ.พิศิษฐ กล่าวว่า หากมีเจตนาเพื่อใช้ทางการแพทย์ก็มีความเป็นไปได้ แต่จะต้องมีงานวิจัยรองรับว่ามีประโยชน์ในเรื่องการบำบัด รักษาโรคได้จริง และจะต้องการควบคุมเช่นเดียวกับการใช้กัญชา คือ ควบคุมการปลูก การครอบครอง และการนำไปใช้ประโยชน์ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้พืชกระท่อมยังมีสถานะเป็นยาเสพติด หากผู้ใดมีครอบครอง ปลูก หรือใช้ก็จะถือว่ากระทำผิดกฎหมาย

เมื่อถามว่า จะมีการนำเรื่องนี้หารือในที่ประชุมคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดฯ หรือไม่ นพ.พิศิษฐ์ กล่าวว่า ยังไม่ทราบ ว่ามีในวาระของการประชุมในครั้งถัดไปหรือไม่ แต่ถ้ามีอยู่ในวาระการประชุมก็ต้องหารือ

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่เห็นรายละเอียดในร่าง พ.ร.บ.พืชยาฯ ฉบับประชาชน จึงต้องขอเวลาศึกษาข้อมูล

“แต่อย่างไรก็ตาม อย.ยืนยันในหลักการว่าอะไรที่เป็นประโยชน์กับประชาชนและประเทศก็พร้อมจะดำเนินการแน่นอน แต่ขณะนี้ยังไม่เห็นรายละเอียดในร่างดังกล่าว ดังนั้นต้องขอเวลาให้ได้ศึกษาข้อมูลอย่างรอบด้าน ที่สำคัญทั้งเรื่องพืชกัญชา พืชกระท่อม หากนำมาใช้อย่างแพร่หลายจะมีทั้งประโยชน์และโทษ ดังนั้นจึงต้องพิจารณาอย่างละเอียดทุกขั้นตอน” นพ.ธเรศ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image