‘อภัยภูเบศร’ เปิดคลินิกกัญชาครั้งที่ 3 คึกคัก ปชช.แห่เข้ารับบริการ ต่างชาติสนใจ

เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการเปิดคลินิกกัญชาเป็นครั้งที่ 3 ของโรงพยาบาล (รพ.) เจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี เป็นไปอย่างคึกคัก มีผู้ป่วยจากหลายจังหวัดทยอยเข้ามาเข้ารับการตรวจรักษาอย่างต่อเนื่อง โดยในครั้งนี้ได้มีการจ่ายน้ำมันกัญชา เพื่อติดตามผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาโรค ลมชัก พาร์กินสันที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาแผนปัจจุบัน และเริ่มให้การรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งระยะสุดท้าย เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วยด้วยยากัญชาสกัดจากของกลาง ที่ผ่านมาตรฐานจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.)

ทั้งนี้ คลินิกกัญชา ดำเนินการภายใต้โครงการ “กัญชา อภัยภูเบศร โมเดล” ซึ่งเป็นต้นแบบกัญชาทางการแพทย์ เพื่อประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์และเหมาะสมกับคนไทยมากที่สุด โดย รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร ได้รับอนุญาตให้ปลูก ผลิต และจ่ายยากัญชา เพื่อเป็นทางเลือกในการรักษาโรคกรณีผู้ป่วยรักษาแผนปัจจุบันไม่ได้ผล โดยคลินิกจะเปิดให้บริการทุกวันจันทร์ที่ 4 ของเดือน ตั้งแต่เวลา 13.00 – 16.00 น.

ภญ.สุภาภรณ์ ปิติพร ประธานยุทธศาสตร์การแพทย์แผนไทยและสมุนไพร รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่ รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร เปิดคลินิกกัญชาทั้ง 2 ครั้งที่ผ่านมา ก็มีต่างประเทศติดต่อสอบถามเพื่อขอเข้ารับการรักษากันเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้เพราะโรงพยาบาลเปิดคลินิกกัญชาอย่างถูกต้องตามกฎหมายเป็นแห่งแรกของอาเซียน

สำหรับการประชุมภูมิปัญญาอาเซียนที่เพิ่งเสร็จสิ้นไปเมื่อวันที่ 24 สิงหาคมที่ผ่านมา นั้น ที่ประชุมได้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านกัญชากันอย่างกว้างขวาง
ภญ.ผกากรอง ขวัญข้าว หัวหน้าศูนย์หลักฐานเชิงประจักษ์ รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวว่า กัญชงและกัญชาคือ พืชชนิดเดียวกัน แต่คนละสายพันธุ์ ในพืชชนิดนี้มีการผสมข้ามสายพันธุ์กันมาก ทำให้กัญชงและกัญชาแยกออกจากกันยาก ในสหรัฐอเมริกา ที่ให้ปลูกกันจะเป็นกัญชง เนื่องจากมีสารเมาปริมาณต่ำ ไม่ก่อให้เกิดการนำไปใช้ในทางที่ผิด ทั้งนี้ ในส่วนของมูลค่าตลาดของกัญชานั้น ในแต่ละฐานข้อมูลมีมูลค่าแตก
ต่างกันอาจเนื่องด้วยคำจำกัดความของกัญชา บางฐานข้อมูลการตลาดก็รวมกัญชง หรือ Hemp เข้าไปด้วย และยังมีประเด็นช่องทางการจำหน่ายที่ส่งผลให้มีการรายงานตัวเลขแตกต่างกัน แต่ที่แน่นอนตลาดโดยรวมมีมูลค่าสูงขึ้น เนื่องจากมีข้อมูลหลักฐานเพิ่มมากขึ้นว่ากัญชาสามารถนำมาใช้ในการรักษาโรคได้ โดยเฉพาะโรคที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษามาตรฐาน

ภญ.ผกากรอง กล่าวว่า สำหรับข้อบ่งใช้ของกัญชาที่นำมาใช้กันมากคือ บรรเทาปวด แต่โดยส่วนตัวมองว่า ในประเทศไทยน่าจะคำนึงถึงความคุ้มค่าในการนำมาใช้ด้วย โดยอาการปวดนั้นหากมียาที่ราคาถูก ใช้ง่ายกว่า และปลอดภัยกว่าควรเลือกใช้ก่อนกัญชา ส่วนที่นำผลิตภัณฑ์กัญชาไปใช้เพื่อการรักษาโรคทางผิวหนังนั้น ต้องยอมรับว่ากำลังมาแรงในขณะนี้ และมีแนวโน้มที่จะเติบโตอีกมาก ดังนั้น ประเทศไทยจึงควรมุ่งวิจัย รวมทั้งพัฒนารูปแบบของยาเพื่อให้นำส่งยาได้ดี เช่น ยกตัวอย่างบริษัท zynerba pharmaceutical ที่กำลังพัฒนารูปแบบยาที่นำส่งผ่านผิวหนัง เนื่องจากศึกษาพบว่า สารซีบีดี (CBD) สามารถถูกเปลี่ยนเป็นสารที     เอชซี (THC) ในกระเพาะอาหาร ซึ่งจะส่งผลต่อประสิทธิภาพในการรักษา

ภญ.ผกากรอง กล่าวอีกว่า สำหรับปัจจัยที่อาจส่งผลต่อการเติบโตของตลาดกัญชา คือ ผลข้างเคียง และความสามารถของกัญชาที่จะใช้ร่วมกับการรักษาอื่นๆ รวมถึงสังคมผู้สูงอายุและการวิจัย ซึ่งประเทศไทยต้องให้ความสำคัญ ทั้งนี้ จากการคำนวณในเบื้องต้นของ รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร พบว่า ยาน้ำมันกัญชา 1 ล้านขวด ใช้กัญชาเพียง 40-50 ไร่ เท่านั้น เพราะเป็นพืชที่ใช้เพียงน้อยก็ได้ผลแล้ว ดังนั้นการส่งเสริมให้เป็นอุตสาหกรรมวงกว้างน่าจะทำได้ยาก
“ส่วนการส่งเสริมกัญชงน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า เพราะมีโอกาสนำไปใช้ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ความงาม และยาที่มีซีบีดีเด่นได้ ในต่างประเทศเมล็ดกัญชงสามารถนำมาเป็นส่วนผสมในอาหารเนื่องจากมีโอเมก้าสูง เส้นใยเอามาทำอุตสาหกรรมสิ่งทอ ไฟเบอร์กลาสของรถยนต์เพื่อประหยัดพลังงาน แกนนำมาทำอิฐมวลเบา ทำให้อาคารไม่ร้อนไม่หนาวเกินไป การพัฒนากัญชงจึงต้องพัฒนาอุตสาหกรรมอื่นๆ ควบคู่กัน แต่อย่างไรก็ตามจากการที่เคยเดินทางไปอิตาลี และได้ทราบว่าทางการอิตาลีก็กำลังควบคุมร้านจำหน่ายซีบีดี เพราะตรวจพบว่าสารสกัดซีบีดีบางเจ้า มีทีเอชซีสูงกว่ากำหนด อาจส่งผลต่อการทำงานของสมองโดยเฉพาะใน
เด็กและเยาวชน ประเทศไทยหากจะเดินทางไปทางนี้ต้องมีเครื่องมือในการตรวจทีเอชซี และ ซีบีดี ที่รวดเร็วและกลไกการลงโทษผู้ที่กระทำผิดให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย” ภญ.ผกากรอง กล่าว
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image