ดีเดย์! 1 ต.ค.นี้ ให้ทางเลือก ‘ผู้ป่วย’ รับยาที่ร้านใกล้บ้าน นำร่อง 500 แห่งทั่วประเทศ

เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การลดความแออัดในโรงพยาบาลโดยร้านยาแผนปัจจุบันประเภท ข.ย.1 ซึ่งเป็นร้านยาที่ได้ขึ้นทะเบียนตามมาตรฐาน GPP ตามนโยบายของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการ สธ. ที่โรงแรมปริ๊นซ์ พาเลซ มหานาค โดยมีผู้บริหาร สธ. ผู้บริหารสํานักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ผู้แทนโรงพยาบาลภาครัฐ ร้านขายยาแผนปัจจุบัน ผู้แทนสภาเภสัชกรรมชุมชนฯ และคณะเภสัชศาสตร์ เข้าร่วมประชุมกว่า 300 คน ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่าง สธ. สปสช. สภาเภสัชกรรม สมาคมเภสัชกรรมชุมชน (ประเทศไทย) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.)

นพ.สุขุมกล่าวว่า โครงการนี้จะนำร่องกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หอบหืด และกลุ่มผู้ป่วยจิตเวช ที่ต้องใช้ยาต่อเนื่อง สามารถที่จะไปรับยาได้ตามร้านขายยาที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งจะกระจายอยู่ในชุมชนในเมือง และต่างอำเภอ มั่นใจว่าระบบนี้จะช่วยลดความแออัดของผู้ป่วยในโรงพยาบาลได้ถึงร้อยละ 30

นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการ สปสช.กล่าวว่า โครงการนี้จะให้ประชาชน และร้านขายยา สมัครใจว่าจะเข้าร่วมโครงการหรือไม่ เพื่อเพิ่มทางเลือกการเข้าถึงบริการได้เร็วขึ้น โดยร้านขายยาที่จะเข้าร่วมโครงการ ต้องขึ้นทะเบียนและผ่านการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และมีเภสัชกรประจำร้านอย่างน้อย 8 ชั่วโมง ซึ่งปัจจุบันทั่วประเทศมีอยู่ 12,000 แห่ง

Advertisement

“ประชาชนมั่นใจได้ว่า ยาที่จะได้รับในร้านขายยามีคุณภาพ เพราะเป็นยาตัวเดียวกันกับที่โรงพยาบาลจ่ายให้ โดยวันที่ 1 ตุลาคมนี้ จะนำร่องในร้านขายยา 500 แห่ง ใน 50 โรงพยาบาลทั่วประเทศ และจะประเมินผลความพึงพอใจของโครงการ เพื่อขยายผลต่อไปในอนาคต คาดจะมีผู้ป่วยมาใช้บริการตามร้านขายยาราว 2 ล้านคน หรือเฉลี่ย 15 คนต่อวัน” นพ.ศักดิ์ชัยกล่าว และว่า สำหรับขั้นตอนในการรับยาของผู้ป่วยที่ร้านขายยา เมื่อผู้ป่วยพบแพทย์ที่โรงพยาบาลเรียบร้อยแล้ว จะนำข้อมูลการตรวจ และใบสั่งยา ยื่นที่ห้องจ่ายยา จากนั้นเภสัชกรจะแจ้งกับผู้ป่วยว่ามีโครงการรับยาใกล้บ้าน ผู้ป่วยสามารถเลือกรับยาตามความสะดวกได้ จากนั้น เภสัชกรจะจัดเตรียมยาเพื่อส่งให้ร้านขายยาที่ผู้ป่วยแจ้งไว้ภายใน 1-2 วัน เมื่อยาถูกจัดส่งถึงร้านขายยา เภสัชกรประจำร้านขายยาต้องตรวจสอบข้อมูลของยา และรายละเอียดการใช้ยา ก่อนจ่ายยาให้กับผู้ป่วย

นพ.ศักดิ์ชัยกล่าวว่า การรับยาที่ร้านขายยาจะช่วยให้ผู้ป่วยมีโอกาสได้ซักถามข้อมูลยา เนื่องจากบางกรณี แพทย์อาจเปลี่ยนยา ผู้ป่วยก็จะสามารถมีเวลารับทราบข้อมูลได้เพิ่มขึ้นกว่ารอรับยาที่โรงพยาบาล

 

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image