‘แอร์บัส’ หนุนไทย ‘ศูนย์กลางอุตสาหกรรมอากาศยาน-อวกาศ’ เซาท์อีส เอเซีย

วันที่ 27 สิงหาคม ที่อิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในงานมหกรรมการอวกาศนานาชาติ (Thailand Space Week 2019) สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ จิสด้า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับ บริษัท แอร์บัส ประเทศฝรั่งเศส จัดเสวนา MFA CEO Forum with Airbus ในหัวข้อ Flagship of Airbus in Aerospace innovation : Growth and Opportunities in Thailand and South East Asia ซึ่งมี นายสมประสงค์ บุญยะชัย ประธานคณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาอุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ จิสด้า เป็นประธาน

นายร๊อบ โพสมา รองประธานด้านเทคโนโลยีอวกาศและการส่งออกสำหรับภาครัฐ บริษัท แอร์บัส กล่าวว่า แอร์บัสแสดงจุดยืนต้องการจะให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการพัฒนาอุตสาหกรรมอากาศยานและอวกาศของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และพร้อมที่จะร่วมลงทุนกับประเทศไทยในระยะยาว เพื่อสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการทุกระดับได้ขยายเครือข่ายอุตสาหกรรมอากาศยานและอวกาศ อีกทั้งสร้างแรงจูงใจในการพัฒนาเทคโนโลยี งานวิจัยและนวัตกรรมของตนให้มีมาตรฐานเทียบเท่าระดับสากล รวมถึงรับทราบทิศทางการเติบโตของนโยบายจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเทศไทย จะทำให้การวางแผนหรือปรับแผนในเชิงรุกได้ง่ายขึ้น หากมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ดีและความพร้อมในการรองรับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

Advertisement

 

ขณะที่ นายดำรงค์ฤทธิ์ เนียมหมวด ปฏิบัติงานอธิการสถาบันวิทยาการอวกาศและภูมิสารสนเทศ กล่าวว่า     จิสด้าได้ส่งเสริมให้เกิดการลงทุนวิจัยและการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนการผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน และการซ่อมบำรุงอากาศยานจากโครงสร้างพื้นฐานเชิงเทคนิคและผู้เชี่ยวชาญในการถ่ายทอดความรู้ระดับสากลผ่านห้องปฏิบัติการ “กาแลคซี่” GALAXI – GISTDA’s Aerospace Laboratory of Excellence and Innovation หรือ ห้องปฏิบัติการความเป็นเลิศและนวัตกรรม การบินและอวกาศ ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐแห่งแรกในประเทศไทยที่ได้รับมาตรฐานด้าน Aerospace AS9100D อีกทั้งเพื่อรองรับการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการบินและอวกาศที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จึงได้จัดตั้งศูนย์ประกอบทดสอบดาวเทียมในการพัฒนาศักยภาพในอุตสาหกรรมอวกาศด้านการผลิต รวมทั้งการใช้นวัตกรรมในการจัดการน่านฟ้าและการเดินอากาศ ให้เป็นไปตามข้อบังคับระดับสากล ด้วยห้องปฏิบัติการ SOAR ศูนย์วิจัยเพื่อพัฒนา ระบบปฏิบัติการวางแผนเส้นทางการบินที่จะแสดงให้เห็นถึงความเป็นผู้นำในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และแสดงให้เห็นถึงความพร้อมในการแข่งขันของประเทศที่จะเป็นหนึ่งในผู้นำด้านอุตสาหกรรมอวกาศในระดับสากล เช่น การผลิตและทดสอบดาวเทียม การควบคุมและการจัดการดาวเทียม การใช้ดาวเทียมเพื่อความมั่นคงของประเทศ การให้บริการข้อมูลดาวเทียมรวมไปถึงการใช้ประโยชน์จากข้อมูลดาวเทียมที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อในหลากหลายด้านได้อย่างมหาศาล

Advertisement

“การเสวนาดังกล่าวมุ่งเน้นการหารือถึงทิศทางการเติบโตของอุตสาหกรรมอากาศยานและอวกาศในประเทศไทยผ่านการสนับสนุน ส่งเสริม จากนโยบายของรัฐบาลและมาตรการส่งเสริมการลงทุนจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะแสดงให้เห็นถึงขีดความสามารถในการแข่งขัน ของผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมของไทยและในเวทีโลก อีกทั้งส่งผลให้เกิดการขยายตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศได้ในระยะยาว สร้างอุตสาหกรรมการบินและอวกาศของไทยแข็งแกร่งขึ้นทั้งระบบ ทั้งนี้ความร่วมมือดังกล่าวสอดคล้องกับคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและความสามารถในการแข่งขันของไทย โดยเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัย พัฒนาและนวัตกรรมอีกด้วย” นายดำรงค์ฤทธิ์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image