‘จุติ’ แจงออก พ.ร.ก.แก้ไขกฎหมายครอบครัว ‘เจ้าหน้าที่-งบ’ โอดโชคร้ายอยู่ช่วงต่อยอดสภาเก่า

‘จุติ’ แจงเหตุผลออก พ.ร.ก.แก้ไข พ.ร.บ.ครอบครัวฉบับใหม่ ‘เจ้าหน้าที่-งบ’ ไม่พร้อมระบบใหม่ พ้อโชคร้ายอยู่ช่วงต่อยอดจากสภาเก่า

เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวชี้แจงกรณีคณะรัฐมนตรี (ครม.) ออก พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว พ.ศ.2562 หลังเป็นประเด็นที่ฝ่ายค้านโจมตีรัฐบาล ว่าไม่เข้าข่ายเหตุผลจำเป็นเร่งด่วนฉุกเฉิน และหากไม่ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร รัฐบาลจะต้องรับผิดชอบทางการเมือง ว่า ตนรับงานมาวันที่ 18 กรกฎาคม แล้ว พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว พ.ศ.2562 ก็มีผลบังคับใช้วันที่ 20 สิงหาคม ก็ได้ประเมินอย่างถี่ถ้วนแล้ว นี่เป็นทางออกที่ไม่ต้องการ แต่เป็นทางออกที่ดีที่สุด เพราะกฎหมายฉบับใหม่ยกเลิกฉบับเดิม แล้วมีต่อยอดการดูแลพี่น้องประชาชน แต่ต้องดูองคาพยพที่เรามี กฎหมายบังคับไว้เยอะมาก ทั้งเรื่องบุคลากร ความเชี่ยวชาญที่จะดูแล ก็มีจำกัด เราก็เกรงว่าประชาชนจะมีปัญหากับการใช้กฎหมายนี้ ส่วนเจ้าหน้าที่ก็มีความเสี่ยงกับการโดนดำเนินคดีมาตรา 157 ฉะนั้นคิดว่าหากได้มาทำองคาพยพให้พร้อม แล้วให้บริการที่มีคุณภาพมากกว่าเดิม

นายจุติกล่าวอีกว่า เราโชคร้ายที่มาอยู่ช่วงต่อยอด จากสภาเก่า คือสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่ผ่านกฎหมายมาวันที่ 22 พฤษภาคม แล้วบอกว่าภายใน 90 วัน ให้มีผลบังคับใช้ แล้วสภาผู้แทนราษฎรก็เข้ามารับหน้าที่เดือนกรกฎาคม เวลาจึงมีน้อย ช่วงต่อรัฐบาลและงบประมาณเก่าและใหม่ ทำให้มีข้อจำกัดในการทำงาน เลยฟันธงว่า คงยากที่จะทำให้มีคุณภาพและปฏิบัติตามกฎหมายซึ่งเป็นเรื่องสำคัญของระบบราชการ ฉะนั้นจึงขอเลื่อนการบังคับใช้กฎหมายไปก่อน

“ไม่ได้อยากทำ แต่ว่าจำเป็นต้องทำ แล้วก็พร้อมน้อมรับกับสภาผู้แทนราษฎรที่จะต้องตรวจสอบความคิด และนโยบายพวกเราอย่างเคร่งครัด” นายจุติกล่าว

ถามว่ากังวลหรือไม่ หากไม่ผ่านการพิจารณา นายจุติกล่าวว่า ไม่กังวล เพราะชีวิตอยู่กับความจริง ตนพูดความจริง ทุกอย่างจะเกิดอะไรก็ต้องเกิด รับได้ทุกอย่าง ส่วนฝ่ายค้านมีสิทธิที่จะโหวตไม่ให้ผ่าน พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมฉบับนี้ ตนมาจากผู้แทนราษฎร จึงเคารพมติสภาผู้แทนราษฎรที่ชาวบ้านทั่วประเทศเลือกมา

Advertisement

ถามว่าถ้า พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมฉบับนี้ไม่ผ่านการพิจารณา จะมีผลอย่างไร นายจุติกล่าวว่า พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัวฯ ก็จะต้องบังคับใช้ จึงต้องบอกถึงความไม่พร้อมว่าจะมีอะไรเกิดขึ้น เช่น เจ้าหน้าที่ไม่พอ ความชำนาญเจ้าหน้าที่ไม่มี ความชัดเจนระหว่างที่จะต้องทำงานหลายหน่วยงานและสหวิชาชีพที่จะต้องมีเพิ่มขึ้น มันยังไม่ได้ใช้เท่านั้นเอง

“กฎหมายส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัวฯ เป็นกฎหมายที่มีเจตนาดี เหมือนกับทำรถบรรทุกความทุกข์ชาวบ้านอัตโนมัติหมด แต่ท่านไม่ให้คนขับผม ไม่ให้น้ำมัน และงบฝึกคนขับเลย แล้วผมจะเอาไปขับตรงไหน ขับไปก็พากันคว่ำหมด จึงใช้รถเดิมค่อยๆ ขนไปก่อน ผมก็จะได้มีเวลาฝึกคนขับใหม่ มีเวลาทำระบบนี้ให้มีดี เพื่อจะทำให้มันดีขึ้น” นายจุติกล่าว

อย่างไรก็ตาม ต้องถือว่ากฎหมายฉบับเดิมให้ความคุ้มครองอยู่แล้ว อัยการ ตำรวจทำหน้าที่เหมือนเดิม แต่กฎหมายใหม่ให้อำนาจพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) ศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน (ศพค.) ซึ่งเจ้าหน้าที่เป็นอาสาสมัครหมด ไม่มีข้าราชการเลย และมีตั้ง 7 พันกว่าศูนย์ แล้วจะทำอย่างไร จึงต้องกราบเรียนสภาอย่างนี้ว่าปัญหามันมี ส่วนจะแก้กฎหมายที่เพิ่งจะออกตามขั้นตอน โดยไม่ออก พ.ร.ก.จะต้องมีขั้นตอนอีกเกือบปีที่จะขอแก้ไข และพยายามทำตามกฎหมายที่ได้บังคับใช้

Advertisement

นายจุติกล่าวอีกว่า แต่หาก พ.ร.ก.นี้ผ่าน กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว จะต้องมาปรับวิธีการ ตั้งแต่เจ้าหน้าที่ งบประมาณ การจัดอบรม และคุยกับอัยการ ตำรวจ สหวิชาชีพ และภาคประชาสังคม ใครจะมารับผิดชอบ ศพค.บ้าง ซึ่งมีทุกตำบล ที่กฎหมายนี้บังคับให้ต้องมีส่วนร่วมในชุมชนด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image