ประชาชนแห่ให้กำลังใจ ‘หมอธีระวัฒน์’ ถูกตั้งกก.สอบให้ข้อมูลแบน3สารกำจัดศัตรูพืช จี้จุฬาฯ ทำเพื่อสังคม

เมื่อเวลา 12.00 น.วันที่ 29 สิงหาคม เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือ ไทย-แพน (Thai-Pan) และองค์กรภาคประชาชนหลากหลายกลุ่ม อาทิ นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (ไบโอไทย) น.ส.รสนา โตสิตระกูล กรรมการมูลนิธิสุขภาพไทย นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต น.ส.ปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานไทย-แพน นายยืนยง โอภากุล หรือ แอ๊ด คาราบาว นักร้องนักแต่งเพลงเพื่อชีวิต เป็นต้น เดินทางไปชุมนุมที่หน้าตึกจามจุรี 3 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อมอบดอกไม้ให้กำลังใจ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา อาจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ หลังจากถูกคณะผู้บริหารจุฬาฯ ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีเผยแพร่ข้อมูลพิษภัยของสารเคมีกำจัดศัตรูพืช และเบื้องหลังการเพิกเฉยข้อเสนอให้มีการยกเลิกการใช้พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต และล่าสุดมีการเลื่อนการสอบหาข้อเท็จจริงดังกล่าว

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวด้วยน้ำเสียงสั่นเครือว่า หลังถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวนยอมรับว่ารู้สึกหดหู่ใจมาก แต่วันนี้ได้รับกำลังใจจากเครือข่ายที่มีเจตนารมณ์เดียวกัน และว่า ตลอด 30 ปี ที่เป็นแพทย์ ตั้งแต่เป็นนักศึกษาแพทย์ได้เห็นถึงอันตรายของสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ที่พบว่ามีคนตายเพราะพาราควอตแม้จะได้รับเพียงน้อยนิดอย่างไม่ตั้งใจ นอกจากนี้สารคลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต ก็มีอันตรายเช่นเดียวกัน ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องปกป้องชีวิตของเกษตรกรด้วยการหาทางเลือกอื่นแทนการใช้สารเคมี เช่น เกษตรอินทรีย์

Advertisement

ทั้งนี้ ได้มีการออกแถลงการณ์ในนามเครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายรายร้ายแรง 686 องค์กร ระบุว่า ตามที่บุคคลบางกลุ่มที่มีความสัมพันธ์และได้รับการสนับสนุนจากบริษัทที่ผลิตและจัดจำหน่ายสารพิษกำจัดศัตรูพืช 3 ชนิด ได้แก่ พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส ซึ่งเป็นสารพิษที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และคณะทำงานขับเคลื่อนปัญหาสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง 4 กระทรวงหลัก มีมติให้ยกเลิกการใช้และจำกัดการใช้ ได้กล่าวหาว่า ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา นำข้อมูลเท็จเข้าระบบคอมพิวเตอร์และทำให้ตนเองได้รับความเสียหาย โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ตั้งคณะกรรมการสืบหาข้อเท็จจริงนั้น เครือข่ายเห็นว่าการกระทำของกลุ่มบุคคลดังกล่าวเป็นการคุกคามเสรีภาพทางวิชาการ และหากนักวิชาการชั้นนำของประเทศ ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ โรงพยาบาล (รพ.) จุฬาลงกรณ์ ได้รับรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ และเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยาระดับโลก เช่น ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ยังได้รับการคุกคามเช่นนี้ จะมีนักวิชาการผู้ใดกล้าลุกขึ้นมาเปิดเผยความจริงเพื่อปกป้องสุขภาพของประชาชนได้อีก?

เครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรงฯ มีหลักฐานที่ชี้ให้เห็นว่าพฤติกรรมของกลุ่มบุคคลดังกล่าวมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับกลุ่มที่เป็นองค์กรบังหน้า ซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยสมาคมของบรรษัทข้ามชาติ และผู้ประกอบการค้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ข่มขู่ คุกคาม ให้นักวิชาการที่เป็นนักวิจัยดีเด่นของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง และเป็นผู้เปิดเผยปัญหาการตกค้างของสารพิษให้ลาออกจากมหาวิทยาลัย เป็นต้น

เครือข่ายฯขอเรียกร้องต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้ 1.มหาวิทยาลัยควรมีหน้าที่ในการปกป้องเสรีภาพทางวิชาการ โดยเฉพาะบุคลากรของมหาวิทยาลัยที่ปกป้องสุขภาพและสิ่งแวดล้อมของประชาชน โดยก่อนการตั้งคณะกรรมการสอบสวน ควรตั้งคณะทำงานที่ปราศจากผลประโยชน์โดยตรงและโดยอ้อมเพื่อตรวจสอบข้อมูลจากผู้กล่าวหาเสียก่อน เนื่องจากข้อมูลที่อ้างอิงว่า ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เผยแพร่แพร่ข้อมูลเท็จนั้น เป็นข้อมูลที่มีหลักฐานว่ามาจากนักวิชาการ ศูนย์ และสมาคมฯ ที่ได้รับการสนับสนุนทางการเงินและการดำเนินงานจากบริษัทที่ค้าสารพิษกำจัดศัตรูพืช จุฬาฯ ควรใช้บทเรียนนี้ในการจัดประชุมทางวิชาการเพื่อให้หน่วยงานของรัฐ สถาบันทางวิชาการ บุคลากรในมหาวิทยาลัยเอง และประชาชนทั่วไปได้เข้าใจเรื่ององค์กรบังหน้า (front groups) ซึ่งหน้าฉากเป็นองค์กรทางวิชาการ องค์กรเกษตรกร องค์กรภาคประชาสังคม ฯลฯ แต่เบื้องหลังได้รับการสนับสนุนและมีพฤติกรรมปกป้องผลประโยชน์ของบรรษัท โดยอาจมอบหมายให้สถาบันวิจัยสังคม จุฬาฯ เป็นต้น ในการทำหน้าที่จัดประชุมวิชาการดังกล่าว

2.สนับสนุนบทบาทของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นางมนัญญา ไทยเศรษฐ์ และรัฐมนตรีว่าการ สธ. นายอนุทิน ชาญวีระกูล ซึ่งได้แถลงว่าจะดำเนินการยกเลิกการใช้สารพิษที่มีความเสี่ยงสูงโดยเร็ว โดยขอเรียกร้องให้มีการยกเลิกสารพิษดังกล่าวตามข้อเสนอของ สธ.และคณะทำงานสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง 4 กระทรวงหลัก ผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สภาเกษตรกรแห่งชาติ คณะกรรมการปฎิรูปประเทศด้านสาธารณสุข และคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ภายในสิ้นปี 2562 และในกรณีที่จำเป็นต้องตั้งคณะกรรมการ ควรมีบทบาทหน้าที่เฉพาะเรื่องการหาทางเลือกให้แก่เกษตรกรและมาตรการในการสนับสนุนเกษตรกรเป็นสำคัญ ไม่มีเหตุผลใดๆ ในการตั้งกรรรมการเพื่อศึกษาเรื่องผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมอีก

3.ขอเรียกร้องให้ประชาชน รวมทั้งทุกพรรคการเมืองที่ประกาศว่าจะแบนสารพิษร้ายแรง ร่วมกันตรวจสอบและติดตามการทำหน้าที่ของคณะกรรมการวัตถุอันตราย ซึ่งที่ผ่านมา ได้เพิกเฉยต่อข้อเสนอให้มีการยกเลิกการใช้สารเคมี เช่น การลงมติให้อนุญาตให้มีการใช้พาราควอตต่อไป โดยไม่มีการเปิดเผยรายชื่อผู้ลงมติ เพราะอ้างว่าจะส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของกรรมการบางคน แทนที่จะคำนึงถึงผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนทั้งประเทศ รวมทั้งแก้ปัญหาผลประโยชน์และบทบาททับซ้อนในคณะกรรมการวัตถุอันตราย ซึ่งมีกรรมการที่มีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดหรือมีผลประโยชน์ทั้งโดยตรงและโดยอ้อมได้รับการแต่งตั้งอยู่ในคณะกรรมการชุดดังกล่าว เป็นต้น

ขอเรียกร้องให้สังคมไทยลุกขึ้นมาสนับสนุนผู้กล้าหาญที่เผยแพร่และเปิดโปงเบื้องหลังของปัญหาสารพิษที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ปกป้องเสรีภาพทางวิชาการ เพื่อหลักประกันว่าสังคมไทยจะปลอดภัยจากสารพิษร้ายแรง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image