สธ.สั่ง สสจ.บุรีรัมย์ หาข้อเท็จจริง ม.4 กินส้มตำช็อกดับ

เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนแห่งหนึ่งใน อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ เสียชีวิตหลังจากกินส้มตำ ซึ่งต่อมาแพทย์ระบุสาเหตุการเสียชีวิตว่าเกิดจากการติดเชื้อในทางเดินอาหาร ว่า ขณะนี้ได้รับรายงานเรื่องดังกล่าวแล้ว จึงสั่งให้การให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด(นพ.สสจ.) บุรีรัมย์ และเจ้าหน้าที่สอบสวนโรค กรมควบคุมโรค ลงพื้นที่ตรวจสอบสาเหตุการเสียชีวิตโดยละเอียดว่านอกจากอาหาร ยังมีปัจจัยอื่นๆ หรือเชื้อโรคระบาดในพื้นที่หรือไม่ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา กรมอนามัยได้ส่งเสริมให้ประชาชนมีพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่ถูกต้อง เพื่อป้องกันการติดเชื้อโรคจากอาหารและน้ำ ด้วยหลักการกินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ เพราะแม้อาหารบางชนิดจะถูกปรุงอาหารถูกต้องตามหลักโภชนาการ แต่หากอาหารถูกทิ้งไว้เป็นเวลานาน จะทำให้อาหารบูดเสียได้ง่าย เช่น ข้าวมันไก่ เป็นต้น

นพ.สุขุม กล่าวว่า ส้มตำเป็นอาหารประกอบสด และเป็นอาหารยอดนิยมของคนไทย ในการประกอบอาหารส้มตำจึงต้องมีระมัดระวังการจัดเตรียมวัตถุดิบปรุงอาหาร เช่น มะละกอ น้ำปลา น้ำปลาร้า ปูเค็ม ฯลฯ ต้องสะอาด เพื่อป้องกันเชื้อโรคปนเปื้อน ทั้งนี้ ในการกินอาหารทุกชนิด ให้สังเกตความผิดปกติของอาหาร เช่น กลิ่น สี รสชาติของอาหาร เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย

ด้าน พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า มีความเป็นไปได้ว่าอาการท้องเสีย ท้องร่วง จะทำให้เกิดอาการช็อก หมดสติ และเสียชีวิต

“หากเป็นกรณีที่ท้องเสียรุนแรงถ่ายเหลวหลายครั้ง มีกลิ่น ร่างกายเสียน้ำมากส่งผลต่อน้ำ ที่ไปหล่อเลี้ยงหัวใจและหลอดเลือด ไม่สมดุล ทำให้ร่างกายช็อกได้ เมื่อถึงเวลานั้น การช่วยเหลือเป็นไปได้ยาก หากถามว่าส่วนประกอบของส้มตำมีอะไรที่เสี่ยงท้องเสียบ้าง ก็บอกได้ว่าเป็นไปได้ทั้งหมด ทั้งปู ปลาร้า ผักสด พริกแห้งถั่วลิสง ภาชนะ รวมถึงพ่อค้าแม่ค้าที่ปรุงอาหาร เพราะ ไม่ถูกสุขลักษณะ ก็เสี่ยงที่จะมีเชื้อโรคเชื้อไวรัสปนเปื้อนในอาหาร เมื่อเข้าสู่ร่างกาย แต่ละคนมีภูมิต้านทานที่แตกต่างกัน อาจจะรับเชื้อโรคต้านทานเชื้อโรคได้ไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้น ย้ำเตือนว่าไม่ควรกินอาหารสุกๆ ดิบๆ ควรเป็นอาหารปรุงสุก หรือถ้าเป็นส้มตำควรเลือกบริโภคร้านที่มีสุขลักษณะปลาร้า ปู มีการผ่านความร้อน พ่อค้าแม่ค้ามีการสวมถุงมือใส่ผ้ากันเปื้อนใส่หมวกคลุม” พญ.พรรณพิมล กล่าวและว่า สำหรับโรคท้องร่วง ท้องเสีย เกิดขึ้นบ่อยในคนไทย โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพราะมีวัฒนธรรมการกินอาหารกึ่งสุกกึ่งดิบ รวมถึงไทยเป็นพื้นที่เขตร้อนการเจริญเติบโตของแบคทีเรียและเชื้อโรคต่างๆ เติบโตได้ง่าย แต่ก็ยอมรับว่าการเสียชีวิต จะท้องร่วง เกิดขึ้นได้น้อย เพราะฉะนั้นผู้ที่มีอาการท้องเสีย ปวดท้องรุนแรง ถ่ายไม่หยุด ถ่ายเหลว มีไข้ขึ้น ต้องรีบพบแพทย์ทันทีไม่ควรซื้อยากินเอง

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image