แพทย์แผนไทยดีเดย์ ‘คลินิกกัญชา’ จ่ายยา ‘ศุขไสยาศน์’ ย้ำไม่ใช่ทางเลือกแรกรักษาผู้ป่วย

เมื่อเวลา 10.30 น.วันที่ 2 กันยายน นพ.มรุต จิรเศรษฐสิริ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ปราโมทย์ เสถียรรัตน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยฯ ลงตรวจเยี่ยมการเปิดให้บริการของคลินิกกัญชาทางการแพทย์แผนไทย โรงพยาบาลการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสานยศ กรุงเทพมหานคร (กทม.) ซึ่งเปิดให้บริการคลินิกกัญชาฯเป็นวันแรก โดยในช่วงเช้าพบผู้ป่วยได้เดินทางมาปรึกษาแพทย์ราว 10 กว่าคน ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยมะเร็งระยะลุกลาม แต่ยังไม่พบผู้ป่วยรายใดเข้าเกณฑ์ในการจ่ายตำรับยาศุขไสยาศน์ เนื่องจากแพทย์จะวินิจฉัยอาการและจ่ายยาหลักตามเวชปฏิบัติก่อน

นพ.มรุต เปิดเผยว่า หลังจากองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ได้จัดส่งยากัญชาตำรับยาศุขไสยาศน์ที่ผลิตโดยโรงพยาบาล (รพ.) พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร จ.สกลนคร รอบแรก ให้แก่โรงพยาบาลแพทย์แผนไทย 13 แห่งครอบคลุม 13 เขตสุขภาพ และ รพ.ระยอง จ.ระยอง อีก 1 แห่ง เพื่อแจกจ่ายโรงพยาบาลละ 150 ซอง ในวันที่ 5 กันยายนนี้ อภ.จะทยอยจัดส่งยาศุขไสยาศน์จนครบราว 5,000 ซอง โดยวันนี้จึงมีเพียงโรงพยาบาล 3 แห่ง ที่เปิดที่สามารถจ่ายยาศุขไสยาศน์ได้ ได้แก่ 1.โรงพยาบาลการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสานยศเส กทม. 2.รพ.เสาไห้ จ.สระบุรี และ 3.รพ.บางกระทุ่ม จ.พิษณุโลก เนื่องจากแต่ละโรงพยาบาลจะต้องจัดเตรียมความพร้อมของคลินิกกัญชาฯ รวมทั้งแพทย์แผนไทย และแพทย์แผนไทยประยุกต์ผู้มีสิทธิจ่ายยา ซึ่งได้ผ่านการอบรมและได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จึงกำหนดเปิดบริการไม่เหมือนกัน

Advertisement

นพ.มรุต กล่าวว่า สำหรับเกณฑ์ในการเข้ารับบริการในคลินิกกัญชาทางการแพทย์แผนไทย จะต้องผ่านการคัดกรองตามระบบของโรงพยาบาล เช่น ผู้รับบริการต้องมีอายุ 18 ปีขึ้นไป มีสัญญาณชีพและอาการทางคลินิกคงที่ มีการรับรู้และสติสัมปชัญญะดี สามารถสื่อความหมายได้เข้าใจ และได้รับการรักษาด้วยยาขนานแรกและวิธีการมาตรฐานทางการแพทย์แล้วอาการไม่ดีขึ้น โดยผู้ป่วยจะต้องผ่านการคัดครองด้วยแพทย์แผนปัจจุบัน ซึ่งจะต้องไม่มีค่าตับ ค่าไตเกินมาตรฐาน ไม่มีประวัติการใช้สารเสพติดและไม่เป็นผู้ป่วยโรคจิตเวช จากนั้นแพทย์แผนไทย และแพทย์แผนไทยประยุกต์ จะพิจารณาเห็นควรได้รับการรักษาด้วยตำรับยาที่มีส่วนผสมของกัญชา นอกจากนี้ ในการขอรับบริการของคลินิกกัญชาฯ ขอให้ติดต่อเพื่อรับคิวการรักษาในแต่ละโรงพยาบาล เพื่อให้เจ้าหน้าที่ได้จัดเวลาให้แก่ผู้ป่วย เพราะอาจมีผู้ป่วยเดินทางเข้ามาขอรับบริการจำนวนมาก

นพ.มรุต กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ เนื่องจากมีผู้ป่วยสนใจขอรับยากัญชาจำนวนมาก โดยผู้ป่วยจะต้องเปิดโอกาสให้แพทย์ได้วินิจฉัยโดยละเอียดตามหลักเวชปฏิบัติ โดยในการจ่ายตำรับยาศุขไสยาศน์ ซึ่งมีสรรพคุณรักษาผู้ป่วยอ่อนเพลีย ช่วยให้นอนหลับ และฟื้นฟูกำลังของผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และแพทย์จะดูจากอาการผู้ป่วยเป็นหลัก โดยต้องเป็นผู้ป่วยที่รักษาด้วยทางเลือกอื่นของแพทย์แผนไทยไม่ได้ผล ก่อนจะมีพูดคุยกับแพทย์ ซักประวัติ ซึ่งหากเห็นสมควรได้รับยา ทางโรงพยาบาลจะจ่ายยาให้กินทันที ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยสูงสุดของผู้ป่วย แพทย์จะให้กินยา โดยยาศุขไสยาศน์มีลักษณะชงกับน้ำใช้ดื่มให้ผู้ป่วยทดลองกินก่อน และจะให้พักอยู่ที่โรงพยาบาลก่อนเป็นเวลา 2 ชั่วโมง เพื่อดูอาการและผลค้างเคียงจากการใช้ยา หากปลอดภัย ไม่พบผู้ป่วยมีอาการแก้กัญชาก็ให้ผู้ป่วยกลับบ้านได้ พร้อมกับจ่ายยาส่วนหนึ่งให้ผู้ป่วยกลับไปรับประมาณ จากนั้นจะนัดหมายมาดูอาการอีก 7 วัน โดยปริมาณมากน้อยจะขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์ เบื้องต้น แพทย์จะให้ผู้ป่วยทานยาวันละ 1 ซอง อย่างน้อย 1 สัปดาห์ หากผู้ป่วยอาการไม่ดีขึ้น จะเพิ่มเป็นวันละ 2 ซอง ให้กินเช้า-เย็น รวมถึงแพทย์จะมีการโทรสอบถามติดตามประเมินผู้ป่วยอีกด้วย

Advertisement

นพ.มรุต กล่าวว่า ในส่วนยากัญชาสูตรตำรับนายเดชา ศิริภัทร หรือ อาจารย์เดชา หมอพื้นบ้านและประธานมูลนิธิข้าวขวัญ จ.สุพรรณบุรี ขณะนี้อยู่ระหว่างการผลิต ยังไม่มีการแจกจ่ายประชาชน รวมถึงอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในคนกระทรวงสาธารณสุข เนื่องจากการจ่ายยาจะต้องทำควบคู่การวิจัย ซึ่งผู้ป่วยที่จะขอรับน้ำกัญชาสูตรนายเดชาได้นั้น จะเป็นทั้งผู้ป่วยที่ลงทะเบียนไว้และผู้ป่วยที่ไม่ได้ลงทะเบียนก็สามารถรับการรักษาได้ โดยเงื่อนไขจะต้องเปิดเผยข้อมูลผู้ป่วยเพื่อนำมาศึกษาวิจัย คาดจะมีการพิจารณาในอีกไม่นานนี้

นพ.ปราโมทย์ กล่าวว่า ขณะนี้กรมการแพทย์แผนไทยฯ ยังอยู่ระหว่างพัฒนาแอพพลิเคชั่น ชื่อ “Ganja in TTM” เพื่อให้ผู้ป่วยและผู้สนใจดาวน์โหลด โดยภายในแอพฯ จะให้ข้อมูลเกี่ยวข้องกับสถานพยาบาลที่เปิดให้บริการ ประกอบด้วย รพ.สมเด็จพระยุพราชเด่นชัย จ.แพร่ เปิดให้บริการทุกวันศุกร์ เวลา 08.30-12.00 น.​โทร 0 5461 3134, 0 5461 3354 รพ.บางกระทุ่ม จ.พิษณุโลก ทุกวันจันทร์ที่ 1 ของเดือน เวลา 08.30-14.00 น.โทร. 0 5539 1061-2 ต่อ 125,150 รพ.หนองฉาง จ.อุทัยธานี วันพฤหัสบดี เวลา 08.30-12.00 น. โทร. 0 5653 1141 รพ.ดอนตูม จ.นครปฐม ศุกร์ เวลา 08.30-12.00 โทร. 0 3438 1768 รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี ทุกวันจันทร์ที่ 4 ของเดือน เวลา 13.00-16.00 น. โทร. 0 3721 6164 รพ.พล จ.ขอนแก่น วันอังคารและวันพุธ​ เวลา 08.30-12.00น. โทร. 0 4341 4710-2 รพ.พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร จ.สกลนคร อังคาร เวลา 13.00-16.00 น.โทร. 0 4277 9105 ต่อ 101,122

นพ.ปราโมทย์ กล่าวว่า รพ.คูเมือง จ.บุรีรัมย์ พุธ เวลา 08.30-12.00น.โทร.0 4469 9238 ต่อ 6100 รพ.พนา จ.อำนาจเจริญ วันจันทร์ เวลา 08.30-16.00น. โทร.0 4546 3115 รพ.ท่าฉาง จ.สุราษฏร์ธานี วันอังคาร เวลา 13.00-16.30 น.โทร.0 7738 9111 รพ.ป่าบอน จ.พัทลุง ทุกวันศุกร์ที่ 1 ของเดือน 08.30-12.00 น.โทร.0 7484 1600 ต่อ 148 และ รพ.การแพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสานยศเส วันจันทร์และวันพุธ เวลา 08.30-12.00น.​โทร.02 224 3261 รวมถึงบ่งบอกผู้มีสิทธิ์จ่ายยาที่ผ่านการอบรมกว่า 3,000 คนทั่วประเทศ ข้อมูลผู้เพาะปลูก ผู้ผลิตและความรู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งขณะนี้เปิดให้ดาวน์โหลดได้แล้วผ่านระบบแอนดรอยส์

ด้าน ภญ.อาภากร บุญธรรม เภสัชกรประจำโรงพยาบาลฯ เปิดเผยว่า ขณะนี้มีผู้สนใจโทรมาสอบถามผ่านทางสายด่วน เพื่อต้องการรับการรักษาด้วยตำรับยาศุขไสยาศน์เป็นจำนวนมาก โดยแพทย์แนะนำให้ผู้ป่วยมาตรวจวินิจฉัยทางคลินิกก่อน พร้อมอธิบายเงื่อนไขการรับยาว่าศุขไสยาศน์ไม่ใช่ทางเลือกแรกในการรักษา โดยแพทย์จะต้องให้ยามาตรฐานของแพทยฺแผนไทยตามเวชปฏิบัติก่อน ส่วนเก็บรักษานั้นจะต้องมีความปลอดภัยสูงสุด โดยภายจาก อภ.ได้จัดส่งตำรับมาให้แก่โรงพยาบาล เจ้าหน้าที่จะนำเก็บเข้าตู้ยาที่มีระบบล็อก และความปลอดภัย ซึ่งจะมีการนับจำนวนยาทุกวัน และลงรายงานไว้ในแบบบันทึกจ่ายยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ที่มีกัญชาปรุงผสม และลงบันทึกในบัญชารับยาของ อย. ซึ่งขณะนี้ อย.อยู่ระหว่างการพัฒนาระบบติดตาม

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image